คาดคอนโดเลื่อนเปิดตัว ไตรมาสสุดท้าย4พันยูนิต

คาดคอนโดเลื่อนเปิดตัว ไตรมาสสุดท้าย4พันยูนิต

"ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์" คาดคอนโดมิเนียมเลื่อนเปิดตัว ไตรมาสสุดท้าย 4 พันหน่วย คาดปีนี้มีอสังหาฯเปิดใหม่เปิดตัว 9.4 หมื่นหน่วย

นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการ “อสังหาริมทรัพย์ไทย และ CLMV” วานนี้ (27ต.ค.) ถึงสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯ - ปริมณฑล ว่า ในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ คาดว่าจะมีโครงการเปิดตัวค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่คาดว่าจะเลื่อนเปิดตัวออกกว่า 4,000 หน่วยไปเปิดตัวปีหน้าแทน จากจำนวนรวมโครงการคอนโดที่เลื่อนเปิดตัวในปีนี้ รวมกว่า 8,000 หน่วย เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ ภายในประเทศยังไม่เอื้ออำนวยให้คนตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้จากโครงการคอนโดที่เลื่อนเปิดตัว ทำให้ประเมินว่าไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะมีโครงการอสังหาฯโดยรวมเปิดใหม่ ประมาณ 2 หมื่นหน่วย จากเดิมคาดว่าจะมีโครงการเปิดใหม่ 2.4 หมื่นหน่วย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่มีโครงการอสังหาฯเปิดใหม่รวมกว่า 2.9 หมื่นหน่วย

ส่วนภาพรวมการเปิดตัวโครงการอสังหาฯใหม่ ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 9.4 หมื่นหน่วย แบ่งเป็น คอนโด 5.2 หมื่นหน่วย แนวราบ 4.2 หมื่นหน่วย ลดลง 10 -15% จากปีก่อนที่เปิดใหม่รวมประมาณ 1.07 แสนหน่วย

นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ขอนแก่น กล่าวว่า โครงการอสังหาฯต่างจังหวัดเปิดตัวลดลง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภัยแล้งต่างๆ ส่งผลให้กำลังซื้อหดตัว ขณะเดียวกันในบางพื้นที่ยังขาดความพร้อมด้านสาธารณูปโภครองรับการลงทุน และความต้องการที่อยู่อาศัย

ดังนั้น นอกจากรอการลงทุนสาธารณูปโภคจากภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนในจังหวัดขอนแก่น ได้เริ่มร่วมกันวางแนวทางการพัฒนาจังหวัด ผ่าน “ขอนแก่นโมเดล” เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างระบบขนส่งรถไฟฟ้ามวลเบาในเมือง เพื่อมุ่งสู่สมาร์ทซิตี้

โดยปัจจุบันมีนักธุรกิจร่วมลงทุน 20 ราย รายละ10 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 200 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นทุนประเดิมโครงการ ซึ่งขณะนี้โครงการอยู่ในขั้นตอนของร่างโครงการสุดท้าย (Final Draft) คาดว่าจะเริ่มสร้างได้ในปี 2561 และจะเสร็จสิ้นในปี 2563

โครงการระบบขนส่งรถไฟฟ้ามวลเบาในเมือง กำหนดไว้ 26 สถานี ระยะทางไม่ต่ำกว่า 23 กม.โดยจะวิ่งผ่านจุดต่างๆ ทั้ง 5 เทศบาล โดยโครงการดังกล่าว โดยคาดว่าตลอดระยะเวลา 30 ปีของการดำเนินโครงการ จะมีมูลค่าลงทุนและการดูแลซ่อมบำรุงเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท

นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การลงทุนพัฒนาอสังหาฯในตลาดเกิดใหม่ ในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) ยังมีโอกาสอยู่มาก เช่น กัมพูชา เศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัวต่อเนื่อง7% เป็นเวลา 3 ปี ทำให้ตลาดอสังหาฯเติบโตตาม เห็นได้จากการก่อสร้างอาคารใหม่ๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนต่างชาติ เช่น จีน เกาหลี

ทั้งนี้ กฎหมายการลงทุนอสังหาฯในกัมพูชา ไม่ให้นักลงทุนต่างชาติถือครองที่ดิน แต่สามารถร่วมทุนได้ โดยทุนท้องถิ่นกัมพูชาถือหุ้น 50% จะช่วยให้ถือครองที่ดินได้นานถึง 50 ปี แต่ในแง่ของการพัฒนาที่อยู่อาศัยชาวต่างชาติสามารถลงทุนได้ 100% ขณะที่การซื้อที่อยู่อาศัย เช่น คอนโด ชาวต่างชาติถือครองได้ 70% เป็นต้น

“ตลาดซีแอลเอ็มวีมีโอกาสอยู่ค่อนข้างมาก แต่ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน ผู้เข้าไปลงทุนจึงควรศึกษาตลาดให้ดี เนื่องจากประเทศพึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา”

นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การลงทุนอสังหาฯในเวียดนามที่น่าสนใจ คือการเข้าไปซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) และนำความรู้ด้านการตลาดของไทยไปปรับใช้

สำหรับตลาดอสังหาฯเวียดนาม เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2555 ทั้งนี้ตลาดอาคารสำนักงานมีพื้นที่กว่า 1.7 แสนตร.ม. และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 9 อาคาร พื้นที่ 2 แสนตร.ม. โดยรวมนับว่าน้อยกว่าไทยที่มีอยู่ 8.4 ล้านตร.ม. ขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัยมีมากเนื่องจากบริษัทข้ามชาติต่างๆ เข้าไปลงทุนต่อเนื่อง

“การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มซีแอลเอ็มวียังโตเฉลี่ย 6-7% และแนวโน้มต่อเนื่องถึงปี 2563แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังคืออัตราเงินเฟ้อ เพราะจะมีผลกระทบต่อมูลค่าเงินที่นำไปลงทุน รวมทั้งต้องพิจารณาข้อกฎหมายให้ดี เนื่องจากที่ผ่านมามีนักลงทุนไทยเข้าไปพัฒนาอสังหาฯ และปิดยอดขายได้หมด แต่ยังติดปัญหาการนำเงินออกนอกประเทศ”