โรงแรม5ดาว'เพลินจิต-ราชประสงค์'แข่งดุ-แบรนด์หรูฮุบตลาด

โรงแรม5ดาว'เพลินจิต-ราชประสงค์'แข่งดุ-แบรนด์หรูฮุบตลาด

การเตรียมยุติกิจการของโรงแรมสวิสโซเทล ปาร์คนายเลิศ นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป

ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าติดตามอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจโรงแรมหรูระดับ 5 ดาวในละแวกดังกล่าว เนื่องจากเป็นการประกาศหยุดดำเนินงานท่ามกลางภาวะที่ “อุปทานห้องพัก” ในเซ็กเมนต์เดียวกันกำลังเบ่งบานเติบโตจน “ถึงขีดสุด” ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

            ในรอบรัศมีของแยกเพลินจิตถึงย่านราชประสงค์นั้น เป็นที่รับรู้ในตลาดท่องเที่ยวและนักเดินทางเชิงธุรกิจมายาวนานว่าเป็น “ศูนย์รวม” ของโรงแรมหรูที่สุดในไทย เนื่องจากแบรนด์หรูระดับโลกต่างทยอยใช้ย่านนี้เป็นทำเลนำในการยึดหัวหาดเมื่อต้องการ “ปักธง” กระโดดเข้าสู่ธุรกิจโรงแรมในไทย

            จากการรวบรวมของกรุงเทพธุรกิจ พบว่าในย่านดังกล่าวมีโรงแรมหรูแบรนด์ไทยและต่างประเทศกว่า 15 แห่ง คิดเป็นจำนวนกว่า 5,110 ห้อง ยังไม่นับรวมแบรนด์ใหญ่ในเครือฮิลตันอย่างวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย ในอาคารแมกโนเลียส์ ราชดำริ  บูเลอวาร์ด ที่กำลังจะเข้ามาเป็นน้องใหม่ล่าสุดในทำเลที่แข่งขันกันดุเดือดที่สุดสำหรับเซกเมนต์ระดับ 5 ดาวในกรุงเทพฯ ในเร็วๆ นี้

            ดังนั้นการเตรียมโบกมือลาในฐานะโรงแรมของสวิสโซเทล ปาร์คนายเลิศ ที่มีขนาดกว่า 325 ห้อง เพื่อแปลงโฉมสู่การเป็นศูนย์สุขภาพครบวงจรตามแนวทางธุรกิจของเจ้าของกิจการรายใหม่นั้น จึงถือเป็น“กรณีแรก” ของการปิดตัวลงที่เป็นประวัติศาสตร์ หากไม่นับรวมการปิดตัวในย่านใกล้เคียงกันอย่าง โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล เมื่อปี 2545 ที่กลุ่มสยามพิวรรธน์แปรพื้นที่มาเป็นห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนในปัจจุบัน โดยที่เหตุผลข้อหนึ่งซึ่งกรรมการบริหารให้เหตุผลคือ เนื่องจากการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

            แพทริค บาสเซ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ แอคคอร์โฮเทล ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ตอกย้ำข้อเท็จจริงดังกล่าวว่า ปัจจุบันแอคคอร์มีโรงแรมหรูในไทยกว่า 27 แห่งภายใต้ 6 แบรนด์ โดยมีแบรนด์สวิสโซเทลเป็นหนึ่งในนั้น และหากเจาะลึกเฉพาะในกรุงเทพฯ มีโรงแรมหรูอยู่แล้วถึง 13 แห่ง และเชื่อว่าในเร็วๆ นี้ยังมีอีกหลายแบรนด์หรูจะทยอยเปิดตัวในกรุงเทพฯ มากขึ้น และการแข่งขันที่สูงขึ้นนั้น จะทำให้ทุกโรงแรมต้องปรับตัวในเชิงการให้บริการที่ต้องยิ่งยกระดับมาตรฐานให้สูงกว่าเดิมอีก

            ส่วนเหตุผลที่ทำให้แบรนด์หรูทยอยยึดฐานในกรุงเทพฯ ต่อเนื่องแม้ว่าอุปทานจะเต็มตลาดอยู่แล้ว เนื่องจากยังเป็นจุดหมายที่คุ้มค่าต่อการลงทุนมาก ด้วยจำนวนที่เพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศไทยและกรุงเทพฯ ชื่อเสียงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวในราคาสมเหตุสมผล แม้กระทั่งแอคคอร์เองก็ยอมรับว่า ยังคงแสวงหาโอกาสในการเปิดโรงแรมใหม่ต่อเนื่องเช่นกัน

            อย่างไรก็ตาม ปัจจัยท้าทายของโรงแรม 5 ดาวในย่านใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ก็ยังคงเผชิญปัญหาเดียวกันกับโรงแรมไทยทั่วทั้งประเทศคือ“ราคาเฉลี่ย” ที่ไม่สามารถปรับได้สูง เนื่องจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยแพทริค ยอมรับว่าราคาเฉลี่ยของพักในกรุงเทพฯของเครือแอคคอร์ยังต่ำกว่าเมืองหลวงอื่นๆ ในอาเซียนอย่าง กัวลาลัมเปอร์ ในมาเลเซีย ข้อได้เปรียบที่ยังทำให้ธุรกิจเติบโตดีคือ ปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาต่อเนื่อง

            เช่นเดียวกับ กมลวรรณ วิปุลากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทดิเอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของ 2 โรงแรมหรูอย่าง แกรนด์ไฮแอท เอราวัณ ซึ่งปักหลักมากว่า 25 ปี และเจดับบลิว แมริออท อายุกว่า 18 ปีในย่านเพลินจิต ฉายภาพผ่านประสบการณ์ที่เฝ้าดูการแข่งขันมายาวนานว่า อุปทานห้องพักโรงแรมแบรนด์หรูที่เติมเข้ามาใหม่ในย่านเพลินจิตและราชประสงค์อยู่ในราว 200-300 ห้องต่อปี ซึ่งการเพิ่มใหม่แต่ละครั้งจะมีจำนวนห้องมาก เนื่องจากเมื่อเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว จำนวนห้องโดยเฉลี่ยที่คุ้มต่อการลงทุนจึงมักอยู่ที่ราว 350 ห้อง

แต่ที่ผ่านมาด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง ทำให้ทุกแห่งยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ แม้ว่าราคาห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมหรูในย่านใจกลางเมืองของไทย เมื่อเทียบกับศูนย์กลางในฮ่องกงหรือสิงคโปร์ยังคงต่ำกว่าราว 30-40% ก็ตาม ทั้งๆ ที่มีแบรนด์และมาตรฐานบริการไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

            นั่นเป็นเพราะหากเทียบต้นทุนเรื่องการก่อสร้างและที่ดิน โรงแรมหรูในย่านเพลินจิตและชิดลมเองก็ยังต่ำกว่าใน 2 ประเทศดังกล่าว แต่สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปนี้มากกว่าคือ ระดับราคาที่อาจขยับขึ้นได้มากกว่าเซกเมนต์อื่นๆ เช่น 4 ดาว หรือ 3 ดาวในกรุงเทพฯ ด้วยกัน เพราะโดยพื้นฐานแล้วสามารถจับกลุ่มลูกค้าที่มี ความพร้อม ที่จะจ่าย และเมื่อผนวกกับสถานการณ์ที่ต่อไปจำนวนห้องพักจะยิ่งมีโอกาสขยายตัวลดลง ทำให้โอกาสขึ้นราคาย่อมสูงขึ้นอีก เนื่องจากเมื่อแบรนด์หรูรายเดิมทยอยยึดหัวหาดจับจองทำเลที่ดีไปหมดแล้ว การจะสอดแทรกหาทำเลงามในย่านใจกลางเมืองผืนใหม่ๆ ของผู้เล่นรายใหมจะเริ่มเป็นเรื่องที่ ยากขึ้นเพราะตำแหน่งของโรงแรมแบรนด์หรูระดับ 5 ดาวที่กำหนดด้วยตัวเองว่าต้องเป็นระดับ Super Primeเท่านั้น

            ดังนั้น จากข้อมูลดังกล่าวจากผู้บริหารที่คร่ำหวอด จะเห็นได้ว่าธุรกิจโรงแรมหรูในย่านใจกลางเมืองจึงยังมีทั้งความเสี่ยงจากการแข่งขันและโอกาสควบคู่กันไป แต่แนวโน้มของผู้เล่นในตลาดนี้จะคงเหลือเฉพาะผู้ที่ แข็งแกร่ง จริงทั้งในด้านเงินทุนและประสบการณ์เท่านั้น ดังจะได้เห็นจากการเกิดขึ้นของโรงแรมใหม่ในย่านดังกล่าวที่มักเป็นการจับมือของ กลุ่มทุนใหญ่ และเชนโรงแรมระดับโลกเจ้าของ สุดยอดแบรนด์หรู เช่น แมกโนเลีย ไฟน์เนสท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ธุรกิจร่วมเครือซีพี เป็นผู้พัฒนาโครงการโดยมอบหมายให้ฮิลตัน โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท บริหารภายใต้แบรนด์ วอลดอร์ฟ แอสโทเรีย หรือการที่กลุ่มเซ็นทรัลจับมือกับเครือไฮแอท เตรียมเปิดตัวโรงแรมปาร์คไฮแอทเป็นแห่งแรกในไทย

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ยูนิเวนเจอร์ ภายใต้ธุรกิจของตระกูลสิริวัฒนภักดี ได้ลงทุนนำแบรนด์หรูญี่ปุ่น โอกุระ เพรสทีจ เปิดตัวล่วงหน้าไปตั้งแต่ปี 2555