“ทุ่งกุลาฯ ยิ้มได้” ห่วงโซ่ความสุข “ธุรกิจคู่ชุมชน”

“ทุ่งกุลาฯ ยิ้มได้”  ห่วงโซ่ความสุข “ธุรกิจคู่ชุมชน”

ในวันนี้ทุ่งกุลาฯ ไม่ได้มีน้ำตา แต่จะเขียวขจีด้วยพืชผักและมีตลาดรับซื้อที่แน่นอน ด้วยโมเดลที่เริ่มจากคำว่า วิน-วิน ของ ชุมชน สังคม และธุรกิจ

  ผืนดินกว้างใหญ่ขนาดเกือบ 300 ไร่ บริเวณ วัดป่าทุ่งกุลาเฉลิมราช อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด วันนี้พื้นที่เกือบ 20 ไร่ กลายมาเป็นแปลงผักสีเขียว ทั้ง ผักบุ้ง พริก ต้นหอม ดอกดาวเรือง และเหล่าพืชพันธุ์ที่ ปลูกง่าย ขึ้นง่าย กระจายความเขียวแซมอยู่ในผืนดินกว้าง

บทพิสูจน์ “ความเป็นไปได้” ว่าทุ่งกุลาร้องไห้ ไม่ได้เป็นแค่แหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลก ทว่ายังสามารถปลูกพืชผักอย่างอื่นเสริมแซมได้ด้วย เพื่อสร้างรายได้ตลอดทั้งปี แม้ไม่ใช่ฤดูทำนา

 “ทุ่งกุลาฯ ในอดีตแห้งแล้งมาก ชาวบ้านแถบนี้ทำแค่อาชีพเดียวคือ ทำนา เสร็จจากนาก็ไปกรุงเทพฯ ไปเป็นแรงงาน ด้วยความเชื่อที่ว่าทุ่งกุลาฯ ปลูกพืชอย่างอื่นไม่ได้หรอก ปลูกข้าวได้อย่างเดียว หนำซ้ำสองปีที่ผ่านมาราคาข้าวก็ตกต่ำ ขายไม่ได้ เกษตรกรขาดทุน ฝนก็แล้งอีก เมื่อชาวบ้านลำบาก วัดก็อยู่ไม่ได้ เพราะวัดกับชุมชนเราอยู่ด้วยกัน”

คำของ “พระครูวินัยธรธีระพงษ์ ธีรปัญโญ” เจ้าอาวาส วัดป่าทุ่งกุลาเฉลิมราช พระนักพัฒนา ผู้นำคนสำคัญที่ทำให้เกิดโครงการ “ปลูกผักกลางนา ทุ่งกุลาฯ ยิ้มได้” ความร่วมมือระหว่าง เทสโก้ โลตัส กรมวิชาการเกษตร จังหวัดร้อยเอ็ด วัดป่าทุ่งกุลาเฉลิมราช และชาวบ้านโพนตูม ภายใต้โมเดล “เทสโก้ โลตัส ประชารัฐ ร่วมใจ” ในการร่วมกันพลิกฟื้นผืนนาให้กลายเป็นแปลงผักเขียวชอุ่ม โดยมีเทสโก้ โลตัส รับซื้อผลผลิตไปจำหน่ายให้

“นี่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง รัฐ เอกชน และชุมชน ที่เอื้ออาทรทั้ง ผู้ผลิตคือเกษตรกร ที่ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้บริโภค เทสโก้ โลตัส รับซื้อในราคาที่ยุติธรรม หน่วยงานราชการก็เข้ามาให้ความรู้ เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทร”

 “ดร.อุดม คำชา” ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาเขต 4 อุบลราชธานี ตัวแทนจาก “กรมวิชาการเกษตร” หนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญของโครงการฯ บอกเล่าการทำงานที่ตอบโจทย์การอยู่ร่วมกันอย่าง “เอื้ออาทร” ก่อนอธิบายขั้นตอนลงมือทำ เพื่อสลัดความเชื่อเก่าๆ “ทุ่งกุลาฯ ปลูกได้แต่ข้าว” โดยเริ่มจากวิเคราะห์ปัญหา นำดินไปตรวจสภาพ จากนั้นมาทำแปลงต้นแบบให้เกษตรกรดู ควบคู่กับการอบรมและให้ความรู้แก่เกษตรกร จนเมื่อเริ่มมีผลผลิต ความเชื่อเก่า ก็ถึงคราวเปลี่ยน

นอกจากการสลัดความเชื่อและส่งเสริมให้คนปลูกผัก พวกเขายังตรวจรับรองเพื่อให้มาตรฐาน “GAP” การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ขณะที่ในอนาคตก็เตรียมให้ QR Code แก่เกษตรกร เพื่อสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า พืชผักคุณภาพเหล่านี้มาจากแปลงผักของชาว ทุ่งกุลาฯ ยิ้มได้

โมเดลความร่วมมือเข้ามาเปลี่ยนวิถีเกษตร จากอดีตคิดจะปลูกอะไรก็ปลูก โดยไม่คำนึงถึงตลาด ปลูกมากผลผลิตก็ล้น ราคาขายก็ตกต่ำ แถมถ้าคุณภาพไม่ได้ ตลาดก็ไม่รับซื้อ แต่จากนี้ ดร.อุดม บอกเราว่า จะต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง เกษตรกรผู้ผลิต เทสโก้ โลตัส คนทำตลาด และกรมวิชาการเกษตร ผู้ให้ความรู้แก่เกษตรกร ในการที่จะมาวางแผนการผลิตร่วมกันตลอดทั้งปีว่า ในแต่ละฤดูควรผลิตอะไรออกมา พืชชนิดไหนที่ตลาดต้องการ และมีราคาสูง

“อนาคตเทสโก้ โลตัส จะบอกกับทางกลุ่มเราเองว่า พืชผักชนิดไหนที่ตลาดต้องการในแต่ละช่วงเวลา เราจะได้มาวางแผนกันล่วงหน้า เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตออกมาได้ตรงกับความต้องการของตลาด”

เขาบอกการทำเกษตรแบบใหม่ ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน และดูจะ “วิน-วิน” กับทั้งธุรกิจและชุมชน เหมือนที่ “พรเพ็ญ นาถพิริยรัตน์” รองประธานกรรมการฝ่ายกำกับดูแลคุณภาพสินค้า เทสโก้ โลตัส บอกเราว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยตอบโจทย์การมีผลผลิตคุณภาพส่งให้กับสาขาของ เทสโก้ โลตัส ได้อย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงนี้ที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง พืชผักผลิตได้น้อยลง และเริ่มไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด เช่นในยามนี้

“โครงการนี้เราให้ราคาที่ยุติธรรมกับเกษตรกร มีการวางแผนร่วมกัน และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา จึงเชื่อว่าซัพพลายจะเกิดความต่อเนื่องแน่นอน และจะได้กับธุรกิจด้วย เพราะลูกค้ามาชอปปิงที่ เทสโก้ โลตัส จะหาฟักทองก็ไม่ขาด ผักบุ้งก็ไม่ขาด ก็ด้วยโมเดลนี้” เธอบอก

ตอบโจทย์โมเดล Direct Sourcing โครงการสรรหาตรงจากแหล่งผลิต ของเทสโก้ โลตัส ที่ลงไปรับซื้อผักสดโดยตรงจากเกษตรกร พร้อมผลักดันมาตรฐานการเพาะปลูกปลอดภัย GAP สร้างความมั่นคงแก่เกษตรกร ด้วยการวางแผนเพาะปลูกล่วงหน้า และให้ราคาที่เป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 3 พันรายทั่วประเทศ

ถามถึงความยั่งยืน เธอบอกว่า เชื่อว่ายั่งยืนได้แน่ แต่อย่างไรกรุงโรมคงไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว ดังนั้นคงต้องใช้เวลาและพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ โดยมองตัวเองไม่ได้เป็นแค่ช่องทางการตลาด แต่เข้าไปให้ความรู้แก่เกษตรกร ลงไปพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ สำหรับเธอแล้ว นี่ต่างหาก กุญแจสู่ความ “ยั่งยืน” ที่ว่า

แต่การทำงานกับชุมชนไม่ได้ง่าย หัวใจสำคัญคือ “ผู้นำ” โดยนอกจากมี เจ้าอาวาส วัดป่าทุ่งกุลาฯ ยังมีมือขวาที่เข้มแข็งอย่าง “กรแก้ว กาญจนศร” ประธานกลุ่มโครงการปลูกผักกลางนาฯ เขาเล่าว่า ชาวบ้านโพนตูม มีอยู่ประมาณ 120 ครัวเรือน ส่วนที่มาช่วยกันปลูกผักมีประมาณ 40 ราย ซึ่งช่วงแรกชาวบ้านไม่ค่อยอยากมาทำเท่าไร เพราะยังไม่มั่นใจ กลัวแค่ว่าจะ “ทำไม่ได้” แต่พอมีคนส่วนหนึ่งทำสำเร็จ มีผักเขียวชอุ่มให้เห็น และสร้างรายได้ต่อรอบการผลิต(ประมาณ 1 เดือน) ที่ประมาณ 4-5 พันบาท คนอื่นๆ ในชุมชนก็เริ่มแสดงความสนใจที่จะเข้ามาร่วมมากขึ้น

“เมื่อก่อนฤดูแล้ง หรือหมดฤดูทำนา ต่างคนก็ต่างไปหางานทำ รับจ้างโน่นนี่ ทำทุกวิถีทางเพื่อจะได้เงินมา แต่ตอนนี้พอมีผัก เราก็ไม่ต้องไปไหนแล้ว” เขาบอกชีวิตที่แปรเปลี่ยน

เช่นเดียวกับ “ไพจิตร พุทธชาติ” หนึ่งในชาวบ้านที่มาร่วมเปลี่ยนผืนนาเป็นแปลงผัก เธอชักชวนให้ดูแปลงผักบุ้ง ที่ทำเงินให้เธอได้ประมาณ 8-9 พันบาท ช่วยจุนเจือครอบครัวและลูกน้อย 3 ชีวิต จากที่เคยมีรายได้หลักคือทำนา และรับจ้างก่อสร้าง ทว่าวันนี้ยังมีอีกช่องทางให้สร้างรายได้ เธอบอกเหตุผลของการเข้าร่วมโครงการ แม้ชาวบ้านหลายคนยังปฏิเสธ ว่า เพราะเชื่อในบุญ และเชื่อว่า คนเราถ้าคิดดี ทำดี ต้องประสบผลดีอย่างแน่นอน

“ที่นี่ชาวบ้านใกล้ชิดกับวัดมาก ตั้งแต่ท่านเจ้าอาวาสมาอยู่ ก็มีงานบุญตลอด ท่านดึงให้คนมาที่วัด อย่างแปลงผักก็อยู่ในวัด เวลาคนมาดูแลผัก ก็เหมือนได้เข้าวัดด้วย ซึ่งเชื่อว่าที่เราทำได้สำเร็จ ก็เพราะผลบุญนี้”

เธอบอกความเชื่อและแรงศรัทธา ที่ปรากฏผลเป็นแปลงผักเขียวขจีเต็มผืนนาทุ่งกุลาร้องไห้ เปลี่ยนความทุกข์ในอดีตให้กลายเป็นรอยยิ้ม เติมเต็มห่วงโซ่ความสุข ทั้ง ชุมชน สังคม และธุรกิจ