'มนพร' เร่งยกระดับท่าอากาศยานหัวหิน - สู่สนามบินนานาชาติ รับท่องเที่ยวโต
รมช.คมนาคม ลงพื้นที่ท่าอากาศยานหัวหิน จ.ประจวบฯ เร่งรัดยกระดับตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศสู่การเป็นสนามบินนานาชาติ หลังปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แตะระดับ 75,000 คน ชี้การท่องเที่ยวกลับมาเติบโต
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางมาตรวจราชการที่ท่าอากาศยานหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงคมนาคม นายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน มีนายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน นายรัฐพล เจริญผล รักษาราชการแทนผู้อำนวยการท่าอากาศยานหัวหิน
โดยมี นายศุรอัฐ ณรงค์ฤทธิ์ ประธานหอการค้า จ.ประจวบคีรีขันธ์ หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนให้การต้อนรับ และประชุมร่วมกันระหว่างกรมท่าอากาศยาน บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และสถาบันการบินพลเรือน ที่ห้องประชุมท่าอากาศยานหัวหิน
ทั้งนี้เพื่อรับฟังรายงานแผนการพัฒนาท่าอากาศยานหัวหิน พร้อมตรวจอาคารที่พักผู้โดยสาร ตรวจพื้นที่สำหรับใช้ก่อสร้างอาคาร Support Building ที่ด้านหน้าหอควบคุมการบินหัวหิน และไปโรงเก็บอากาศยานของศูนย์ฝึกการบินหัวหิน เพื่อติดตามความคืบหน้าการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ฝึกศิษย์การบิน RobinsonR 44
นางมนพร กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณผู้โดยสารท่าอากาศยานหัวหิน เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แตะระดับกว่า 75,000 คน ภายในช่วงปีงบประมาณ 2567 สะท้อนให้เห็นว่าการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเติบโตอย่างชัดเจน หลังจากที่ซบเซาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งผู้โดยสารกว่า 80% เป็นนักท่องเที่ยวที่บินข้ามภูมิภาคในเส้นทางเชียงใหม่-หัวหิน-เชียงใหม่
"ได้มอบหมาย และสนับสนุนให้กรมท่าอากาศยาน หารือกับสายการบินถึงความเป็นไปได้ในการเปิดเส้นทางบินข้ามภูมิภาคอื่นๆ เช่น เส้นทางอีสาน-ใต้ หรืออีสาน-เหนือ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ"
รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการกลับมาเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศอีกครั้ง หลังจากที่เคยรองรับเที่ยวบินตรงจากประเทศในเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-หัวหิน-กัวลาลัมเปอร์ มาแล้วในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ได้เร่งรัดให้สานต่อโครงการงานก่อสร้างขยายความกว้างทางวิ่งและเสริมผิวทางวิ่งพร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน ให้มีความกว้าง 45 เมตร ตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อรองรับอากาศยานขนาดใหญ่
พร้อมทั้งเดินหน้าพิจารณาโครงการใหม่ โดยให้พิจารณาปรับปรุงหรือขยายอาคารที่พักผู้โดยสารให้สามารถรองรับผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้น ตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม
ขณะเดียวกันยังกำชับให้เร่งดำเนินการตามแผนพัฒนาท่าอากาศยานหัวหิน การขอใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ และการประกาศให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 4/2568 เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการรองรับเที่ยวบินทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ
รวมถึงการประชาสัมพันธ์จุดเด่นของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศหรือกิจกรรมทางทะเล และจัดกิจกรรมภายในท่าอากาศยานตามแนวคิด “สนามบินมีชีวิต” เพื่อขับเคลื่อนให้หัวหินเป็น Land Mark ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล
พร้อมกันนี้ได้ฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานกับสถาบันระดับอุดมศึกษาในท้องถิ่น เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กในภูมิภาคได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาในสถาบันการบินพลเรือน ขณะที่นายกรัฐมนตรี ได้กำชับในเรื่องการสร้างศักยภาพของนักบิน อยากให้ทำโครงการ 1 นักบิน 1 จังหวัด หรือ 1 ทุน 1 นักบิน
โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว.จะเข้ามามีส่วนร่วมกับสถาบันการบินพลเรือน โดยสถาบันการบินพลเรือนเป็นผู้ฝึกสอน ส่วนกระทรวง อว.จะมีทุนการศึกษาสนับสนุนให้ แต่ต้องดูว่าสถาบันการบินพลเรือนสามารถรับนักศึกษาหลักสูตรไหนได้บ้าง
นายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า แผนพัฒนาท่าอากาศยานหัวหิน ประกอบด้วย การดำเนินงาน 2 โครงการ คือ 1.งานก่อสร้างขยายความยาวทางวิ่งและเสริมผิวทางวิ่ง พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบินโดยขยายความกว้างทางวิ่งผิวแอสฟัลติกคอนกรีตให้มีขนาด 45 เมตร เพื่อรองรับอากาศยานแบบ B737 และ A320 วงเงินลงทุน 239,897,600 บาท
โดยปัจจุบันดำเนินงานแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการตรวจสอบมาตรฐานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ 2.งานก่อสร้างอุโมงค์ถนนและขยายพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่ง บริเวณหัวทางวิ่ง 16 เนื่องจาก กพท. ได้ตรวจพบข้อบกพร่องด้านความปลอดภัย บริเวณพื้นที่ปลอดภัยรอบทางวิ่ง (Runway Strip) และพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่ง (RESA)
กรมท่าอากาศยานจึงได้ขอรับจัดสรรงบประมาณเมื่อปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 300 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอุโมงค์ถนน และขยายพื้นที่ปลอดภัยรอบทางวิ่ง บริเวณหัวทางวิ่ง 16 ตรงอุโมงค์รถยนต์และรถไฟ จากเดิมด้านละ 40 เมตร เป็น 60 เมตร และพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่งตรงอุโมงค์รถไฟ ให้มีความกว้างตามมาตรฐาน 90 เมตร
ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงต่อความเสียหายของอากาศยานที่อาจไถลออกนอกทางวิ่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาขอความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาได้ภายในเดือน ธ.ค.67 เริ่มดำเนินงานตามสัญญาได้ในเดือน ม.ค.68 และสิ้นสุดสัญญาในเดือน เม.ย.69
ขณะเดียวกันในปัจจุบัน ท่าอากาศยานหัวหินมีขีดความสามารถในการรองรับอากาศยานแบบ B737 ได้ 2 ลำในเวลาเดียวกัน อาคารที่พักผู้โดยสารรองรับผู้โดยสารได้ 300 คน/ชั่วโมง หรือ 0.86 ล้านคน/ปี ลานจอดรถยนต์รองรับได้ 90 คัน โดยเปิดให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศโดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย เส้นทางเชียงใหม่-หัวหิน-เชียงใหม่ ในวันอาทิตย์ จันทร์ พุธ และศุกร์ วันละ 1 เที่ยวบิน