อย่าให้เงินดิจิทัล เป็นแค่ยาสเตียรอยด์

อย่าให้เงินดิจิทัล เป็นแค่ยาสเตียรอยด์

แม้ว่ารัฐบาลและนักวิชาการบางส่วนมองว่านโยบายแจกเงินดิจิทัล จะเป็นหนึ่งในมาตรการที่ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและทำได้ไม่บ่อย รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวรองรับเพิ่มเติมในอนาคต

รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เดินหน้าเต็มที่กับนโยบายการแจกเงินดิจิทัล คนละ 10,000 บาท ให้กับคนไทยที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไปทุกคน รวมแล้วจะต้องใช้งบประมาณถึง 560,000 ล้านบาท โดยขณะนี้นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังจัดทำรายละเอียดเพิ่มเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งประเด็นสำคัญของแผนงานดังกล่าวอยู่ที่การจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ดำเนินการที่มีความซับซ้อนและมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวินัยทางการคลัง

นโยบายการแจกเงินดิจิทัล 560,000 ล้านบาท รัฐบาลมีความคาดหวังที่จะเป็นตัดกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2567 ซึ่งหน่วยงานเศรษฐกิจของภาครัฐและนักเศรษฐศาสตร์หลายรายมองว่าจะมีส่วนผลักดันผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แน่นอน เพราะการอัดวงเงินที่มีสัดส่วนประมาณ 20% ของงบประมาณแผ่นดินย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจแน่นอน โดยผลต่อเศรษฐกิจขึ้นกับว่าเงินจำนวนดังกล่าวจะมีความสามารถในการหมุนในระบบเศรษฐกิจได้กี่รอบ

สิ่งที่น่ากังวลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2566 อยู่ที่การขยายตัวมีแนวโน้มต่ำกว่าประมาณการที่วางไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งส่งผลให้หน่วยงานเศรษฐกิจของภาครัฐและสำนักวิจัยเศรษฐกิจของภาคเอกชน ทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ลงอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.8% จากคาดการณ์เดิม 3.6% การปรับประมาณดังกล่าว ถือเป็นการปรับลงที่ค่อนข้างแรง

ในขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2567 ธปท.มองการเติบโตที่ขยายตัวสูงถึง 4.4% แต่สำนักวิจัยเศรษฐกิจบางแห่งยังมองประมาณการไว้ต่ำกว่าระดับดังกล่าว ซึ่งมุมมองที่แตกต่างกันขึ้นกับสมมติฐานของตัวหลายตัวแปรที่มองต่างกัน เช่น การแจกเงินดิจิทัล 560,000 ล้านบาท สิ่งที่สำนักวิจัยเศรษฐกิจบางแห่งแสดงความกังวล คือ การมองการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะถัดไปที่มีทิศทางช้าลง และการเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพ

ถึงแม้ว่ารัฐบาลนายเศรษฐา จะตั้งเป้าหมายเศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5% ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก ซึ่งจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องเร่งสร้างเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ขึ้นมา ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดงบประมาณจำนวนมากทำได้ไม่บ่อย ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณและความเหมาะสมของนโยบาย ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องมองแนวทางการผลักดันต่อเศรษฐกิจต่อจากเงินดิจิทัล เพื่อไม่ให้เป็นเพียงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเหมือนการใช้ยาสเตียรอยด์ ที่ใช้มากจะเกิดอาการดื้อยาและจะใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป