'การบินไทย' จับมือ 'บางจาก' ลุยพัฒนาน้ำมันใช้แล้วสู่เชื้อเพลิงอากาศยาน

'การบินไทย' จับมือ 'บางจาก' ลุยพัฒนาน้ำมันใช้แล้วสู่เชื้อเพลิงอากาศยาน

การบินไทย และบางจาก ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ เดินหน้าพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนจากน้ำมันใช้แล้ว หวังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หนุนเป้าหมายคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในปี 2593

นายทวิโรจน์ ทรงกำพล ประธานเจ้าหน้าที่สายกลยุทธ์องค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้การบินไทยและบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ลงนามข้อตกลงความร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน เนื่องจากปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมการบิน มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คิดเป็นร้อยละ 2 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด และในอนาคตก็มีแนวโน้มที่อุตสาหกรรมการบินจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกย่อมเพิ่มขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ดี ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมภาคการบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ได้เติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน ให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ.2050) โดยจะมีการแบ่งปัน นำองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่าย นำมาศึกษาด้านเทคนิคในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

\'การบินไทย\' จับมือ \'บางจาก\' ลุยพัฒนาน้ำมันใช้แล้วสู่เชื้อเพลิงอากาศยาน

โดยภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ทางบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้จัดตั้งบริษัทเพื่อผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนจากน้ำมันใช้แล้ว (Sustainable Aviation Fuel – SAF) เป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ซึ่งมีแผนปรับเปลี่ยนโรงกลั่นน้ำมันบางจากเป็นโรงกลั่นชีวภาพ (Biorefinery) เพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ให้เป็นพลังงานแห่งอนาคตที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่ง และภาคการบิน

ส่งผลให้จะมีการนำนวัตกรรมจาก SAF มาปรับใช้กับการบินไทย เพื่อพัฒนาเชื้อเพลิงจากน้ำมันใช้แล้วสู่เชื้อเพลิงภาคการบิน ซึ่งไม่เพียงเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำมันใช้แล้ว แต่ยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรมการบิน สอดคล้องกับแนวโน้มในอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกที่กำลังเดินหน้าตามเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือ FlyNetZero ให้สำเร็จในปี 2593