กระทรวงพลังงาน ผนึก ปตท.–กฟผ. ดันไทยสู่ฮับด้านพลังงาน-ยานยนต์แห่งเอเชีย 

กระทรวงพลังงาน ผนึก ปตท.–กฟผ. ดันไทยสู่ฮับด้านพลังงาน-ยานยนต์แห่งเอเชีย 

กระทรวงพลังงาน ผนึก "ปตท.–กฟผ." ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนไทยสู่ฮับด้านพลังงานและยานยนต์แห่งเอเชีย ยกระดับ “ฟิวเจอร์ เอเนอร์ยี่ เอเชีย” และ “ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย 2023” พลิกโฉมโลกสู่อนาคตแห่งพลังงานสะอาดระหว่างวันที่ 17-19 พ.ค. 2566 ดันไทยสู่เป้า Net Zero ในปี 2608

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี 2608 ซึ่งการจัดงานฟิวเจอร์ เอเนอร์ยี่ เอเชีย และ ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย 2023 ครั้งนี้ เป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมได้ ผ่านแพลตฟอร์มความร่วมมือทางธุรกิจ และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในอุตสาหกรรมพลังงานและยานยนต์ ผ่านการประสานภาคธุรกิจ นวัตกร และฝ่ายนโยบาย ให้สามารถสร้างก้าวสำคัญในการข้ามความท้าทายด้านพลังงานทั้ง 3 ประการ (Energy Trilemma) ประกอบไปด้วย 1. การสร้างความมั่นคงทางพลังงาน 2.การเข้าถึงพลังงานในราคาที่เหมาะสม และ 3.ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมาช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระหว่างการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก

กระทรวงพลังงาน ผนึก ปตท.–กฟผ. ดันไทยสู่ฮับด้านพลังงาน-ยานยนต์แห่งเอเชีย 

นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านบริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ได้วางหมุดหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านก๊าซธรรมชาติเหลวของภูมิภาค ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่วิถีคาร์บอนต่ำนี้ไม่ได้มีที่มาจากข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีอีกด้วย โดยประเทศไทยสามารถสร้างตำแหน่งงานใหม่ ๆ พร้อมกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานได้ด้วยการโอบรับโซลูชันพลังงานสะอาด ดังนั้นงานนี้จึงเป็นเวทีสำคัญสำหรับการมุ่งย้ำวิสัยทัศน์และการกำหนดทิศทางการดำเนินแผนงานของปตท. ผ่านความร่วมมือกับภาครัฐและพันธมิตรในภาคเอกชน

นายธนสิทธิ์ วิชัยไพโรจน์วงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์องค์กร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งอุตสาหกรรมพลังงานในปัจจุบันได้พยายามเร่งดำเนินการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปตท. สผ. เองได้ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 โดยมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนของการผลิตก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้น พร้อม ๆ กับการแสวงหาโอกาสการลงทุนในพลังงานรูปแบบใหม่ รวมถึงการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อดูแลรักษาและส่งมอบสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป

กระทรวงพลังงาน ผนึก ปตท.–กฟผ. ดันไทยสู่ฮับด้านพลังงาน-ยานยนต์แห่งเอเชีย 

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการด้านยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า จากการที่อุตสาหกรรมพลังงานในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายพันธมิตรระหว่างภาคส่วนและหน่วยงานจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างแนวทางเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในระยะยาว ดังนั้นงานนี้ จึงเป็นเวทีสำคัญที่ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายสามารถร่วมแบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงทำงานร่วมกันเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบพลังงานที่ยั่งยื

นายคริสโตเฟอร์ ฮัดสัน ประธานบริษัท ดีเอ็มจี อีเว้นท์ โกลบอลล์ เอนเนอร์ยี กล่าวว่า การจัดงานปีนี้ ยังคงผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานแห่งภูมิภาคเอเชีย โดยเชื่อว่าหนทางสู่การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้นไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบดั้งเดิมมาสู่แหล่งพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น แต่ต้องมีการปรับทั้งโครงสร้างพลังงาน พร้อมกับการพัฒนาประสิทธิภาพและความสามารถในการเข้าถึงพลังงาน และนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ควบคู่กัน ซึ่งการนำเสนอนวัตกรรมและโซลูชันล่าสุดที่จะเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมพลังงาน ตลอดจนแนวนโยบายจากผู้นำด้านพลังงานในงานจะเป็นรากฐานสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลงด้านอุตสาหกรรมพลังงานในเอเชียและทั่วโลก

กระทรวงพลังงาน ผนึก ปตท.–กฟผ. ดันไทยสู่ฮับด้านพลังงาน-ยานยนต์แห่งเอเชีย 

สำหรับไฮไลต์ภายในงานฟิวเจอร์ เอเนอร์ยี เอเชียครั้งนี้ ได้มุ่งเน้นการการนำเสนอประเด็นสำคัญที่ครอบคลุมทั้วห่วงโซ่คุณค่าด้านพลังงาน รวมไปถึงการเน้นย้ำถึงศักยภาพของเชื้อเพลิงทางเลือก ตั้งแต่พลังงานทดแทน ไฮโดรเจนและก๊าซธรรมชาติ การสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงานและการขยายขอบเขตเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ไปจนถึงการปรับปรุงระบบส่งและโครงข่ายการกระจายสินค้าให้ทันสมัย ผ่านไฮไลท์กิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย

1. การจัดแสดงนวัตกรรมและสินค้าเพื่อพลังงานสะอาดจากบริษัทชั้นนำทั่วโลก 2. การประชุมเชิงกลยุทธ์และเชิงเทคนิคด้านการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด เกี่ยวกันอนาคตของก๊าซธรรมชาติในเอเชีย ความสำคัญของเครือข่ายพันธมิตรระดับภูมิภาคเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด การขับเคลื่อนระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ รวมถึงการดึงดูดและรักษาบุคลากรด้านพลังงาน ซึ่งร่วมบรรยายและอภิปรายโดยนักวิชาการและผู้นำด้านพลังงานจากหน่วยงานชั้นนำ อาทิ กฟผ. ปตท. และ ปตท. สผ. เป็นต้น 

ส่วนไฮไลต์ภายในงานฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย ถือเป็นการประชุมอภิปรายด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค มุ่งนำเสนอแนวคิด โซลูชั่น เทคโนโลยี และนวัตกรรมยานยนต์สะอาดแห่งอนาคต อันเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด เนื่องจากการคมนาคมถือเป็นต้นเหตุสำคัญของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยคิดเป็นอัตราส่วนถึง 1 ใน 4 ของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก 

นอกจากไลน์อัพการจัดแสดงยานยนต์ ตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อ และ 4 ล้อ ยานพาหนะทางอากาศแบบอัตโนมัติ รถเมล์ไฟฟ้า แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ รวมไปถึงชิ้นส่วนและอุปกรณ์หลังการขายที่จะร่วมพลิกโฉมภาคพลังงานแล้ว ภายในงาน ยังประกอบไปด้วยกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ 

1. เดอะ ฟิวเจอร์ โมบิลี้ตี้ ฮับ การจัดแสดงโซลูชันยานยนต์อนาคตในรูปแบบอินเตอร์แอกทีฟ พร้อมร่วมชมการสาธิตโมเดลการคมนาคมด้วยยานยนต์ไฟฟ้าในโลกเสมือนจริง

2. โซนสาธิตยานยนต์ไฟฟ้า สัมผัสประสบการณ์การขับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุดจากวินฟาสต์ (Vinfast) บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังสัญชาติเวียดนาม

3. การบรรยายเวทีกลางโดยหน่วยงานด้านการลงทุน การคมนาคม และบริษัทยานยนต์พลังงานสะอาดระดับโลก อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ฝ่ายการพัฒนาการขนส่งอย่างยั่งยืนแห่งธนาคารโลก บริษัท กูเกิล บริษัท วอลโว่ ทรัคส์ บริษัท วินฟาสต์ และ บริษัท แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ เป็นต้น    

ทั้งนี้ งานฟิวเจอร์ เอเนอร์ยี่ เอเชีย และฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย ประจำปี 2566 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 พ.ค. 2566 ณ Strategic Conference, Hall 1 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งเป้ามีผู้เข้าร่วมงานกว่า 18,000 ราย จากกว่า 70 ประเทศ คาดการณ์ว่าภายในปี 2573 เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก และความต้องการพลังงานในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าระหว่างปี 2556 - 2583