'ราช กรุ๊ป' หวังรัฐบาลใหม่คุมค่าไฟไม่ให้สูงเกินไป รับแก้สัญญาเก่าทำได้ยาก

'ราช กรุ๊ป' หวังรัฐบาลใหม่คุมค่าไฟไม่ให้สูงเกินไป รับแก้สัญญาเก่าทำได้ยาก

“ราช กรุ๊ป” ฝากรัฐบาลใหม่ สานต่อนโยบายพลังงานสะอาด ส่วนการแก้ไขโครงสร้างพลังงานที่ดำเนินการมานานแล้ว อาจจะแก้ไขยาก มองสูตร "ค่า Ft" ในไทยยังคงต้องมี หวังรัฐบาลบริหารค่าไฟให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด มองนโยบายระยะยาว ควบคู่กับการดูสถานการณ์โลก

นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขอฝากให้รัฐบาลบาลที่คิดนโยบายต่าง ๆ มาเพื่อประชาชน ถือว่าทำถูกต้องแล้ว แต่อยากให้ดูแลในระยะยาว ควบคู่กับการดูสถานการณ์โลก เพราะที่ผ่านมาจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายการค้าระหว่างประเทศ นโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมถึงเรื่องของเงินเฟ้อ มีผลต่อการบริหารประเทศทั้งสิ้น จึงคาดหวังนโยบายภาครัฐที่มั่นคง สามารถรับแรงกระทบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากภายนอก รวมถึงนโยบายต้องต่อเนื่อง ซัพพอร์ทธุรกิจ ทั้ง ด้านภาษี และการเงิน เป็นต้น

นายสาครินทร์ ตังคะวชิรานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจไฟฟ้า ราช กรุ๊ป กล่าวว่า ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนที่จะเข้ามา สิ่งที่หนีไม่พ้น คือ การเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่พลังงานสะอาด ความเป็นกลางทางคาร์บอนที่การดำเนินธุรกิจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อต้องเปลี่ยนผ่านพลังงานอาจต้องเน้นในเรื่องของพลังงานหมุนเวียน ที่ยังไม่มีความเสถียร 100% อาจจะต้องคงพึ่งพาพลังงานแบบเดิม แต่จะอยู่ในระดับไหน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลใหม่จะต้องโฟกัสทั้ง ภาคประชาชน และอุตสาหกรรม ว่าจะทำอย่างไรให้ค่าไฟฟ้าไม่สูงจนเกินไป ให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด ส่วนการตรึงราคาค่าไฟฟ้า ขอใช้คำว่าการบริหาร โดยพยุงราคาเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน แต่หากตรึงมากจนไม่สะท้อนภาคการผลิตไฟฟ้าของทั้งรัฐและเอกชน สุดท้ายปัญหาก็ย้อนกลับมา ดังนั้น ประเทศไทยใช้กลไกสูตรไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ในการบริหารค่าไฟยังคงต้องมี แต่รัฐบาลต้องดูว่าจะบริหารอย่างไรไม่ให้เดือนร้อน เหมาะสมที่สุด ทั้งภาคการลงทุน การผลิต และประชาชน

ทั้งนี้ จากนโยบายพรรคก้าวไก ที่ระบุว่าจะมีการแก้ไขสัญญากลุ่มโรงไฟฟ้านั้น จริง ๆ แล้ว เมื่อดูในช่วงที่ผ่านมา การหาเสียงของพรรคการเมืองมีมากมาย ในตัวของนโยบายบไม่ผิดอะไร สุดท้ายมองว่าจะมีทั้งสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้ จริง ๆ แล้วต้องดูรายละเอียดที่มากมายส่วนสัญญาในอนาคต จริง ๆ ส่วนตัวเห็นด้วยที่นโยบายของพรรคจะชะลอบางเรื่องที่ยังไม่ investment แต่บางเรื่องที่ investment ไปแล้วในบางจังหวะอาจทำให้ประเทศเสี่ยงด้านความมั่นคง จึงต้องบาลานซ์ และเมื่อถึงเวลามองรายละเอียด บางพรรคหาเสียง หากเป็นโซลาร์ทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะบางเวลาพลังงานหมุนเวียนไม่เสถียร

“จะเห็นว่า ประเทศไหนที่ดำเนินการสำเร็จรุล่วงไปแล้วจะยากที่จะแก้ไข ดังนั้น การจะฉีกสัญญาเลยก็อาจจะยาก เพราะมีการลงทุน เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าต้องใช้เวลา 5 ปี ซึ่งโครงสร้างสัญญาที่มีการทำมาระดับ 20 ปี สิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาที่พบ คือ ค่าไฟที่จะขึ้นลงตามดีมานด์และซัพพลาย ไม่ลงตัวกัน อาจจะเพราะปัญหาโควิด-19 ที่ทำให้คาดการณ์ปริมาณการใช้ไฟไว้คลาดเคลื่อน จึงไม่สามารถฟันธงได้ว่าสัญญาที่ทำไว้นั้นผิด”

นางสาวชูศรี กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาสแรก ปี 2566 มีรายได้รวม จำนวน 17,005 ล้านบาท ต้นทุนและค่าใช้จ่ายรวม จำนวน 15,310 ล้านบาท และกำไรส่วนของบริษัท 1,448 ล้านบาท ทั้งนี้ ธุรกิจไฟฟ้ายังคงสร้างรายได้หลักให้กับบริษัทฯ เป็นจำนวน 16,494 ล้านบาท คิดเป็น 97% ของรายได้รวม โดยเป็นรายได้จากกลุ่มโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล  14,603 ล้านบาท (88.5%) และรายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 1,891 ล้านบาท (11.5%) ส่วนกลุ่มธุรกิจ Non-Power เริ่มรับรู้รายได้เพิ่มขึ้น โดยไตรมาสนี้มีจำนวน 511 ล้านบาท คิดเป็น 3% ของรายได้รวม โดยปีนี้จะทุ่มงบลงทุนรวม 3.5 หมื่นล้านบาท

ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา สามารถดำเนินงานก้าวหน้าได้ตามแผน โดยส่วนขยายของโรงไฟฟ้าราช โคเจนเนอเรชั่น ขนาดกำลังการผลิต 31.2 เมกะวัตต์ เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์จำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำแก่ลูกค้าอุตสาหกรรมแล้ว และโรงพยาบาลพริ้นซ์ สกลนคร ขนาด 59 เตียง ได้เปิดให้บริการแล้วเช่นกัน สำหรับการร่วมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนไพตัน กำลังการผลิตติดตั้ง 2,045 เมกะวัตต์ ในอินโดนีเซีย คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ซึ่งจะสามารถรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 3 ปีนี้

นอกจากนี้ โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและกำหนดจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2567 จำนวน 8 โครงการ รวมกำลังการผลิต 518.66 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้าตามแผนงาน สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง อยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาเชื้อเพลิง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 นี้ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คาลาบังก้า ในฟิลิปปินส์ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 36.33 เมกะวัตต์ กำลังดำเนินการจัดหาเงินกู้โครงการและจะเริ่มดำเนินงานก่อสร้างในเดือนมิ.ย. 2566 ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นความสำเร็จในการบุกเบิกธุรกิจในประเทศฟิลิปปินส์

“เรายังคงเดินหน้าแผนการลงทุนให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้าต้องการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ ทั้งฟอสซิล ซึ่งจะก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก และพลังงานทดแทน ไม่น้อยกว่า 700 เมกะวัตต์ ในประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ส่วนธุรกิจ Non-Power บริษัทฯ มีแผนที่จะพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย การผลิตไฮโดรเจนสีเขียว ในประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ กลุ่มประเทศยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และขยายฐานธุรกิจด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น” นางสาวชูศรี กล่าว