เปิดจุดแข็ง ‘แมลง’ สัตว์เศรษฐกิจดาวรุ่งของ ‘ไทย’

เปิดจุดแข็ง ‘แมลง’  สัตว์เศรษฐกิจดาวรุ่งของ ‘ไทย’

“แมลง” สัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่หลายคนมองข้าม และถูกมองว่าเป็นเพียงสัตว์ตลาดท้องถิ่น กำลังเป็น “ทางเลือก” ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการแก้วิกฤติอาหารขาดแคลนในอนาคต ขณะที่จำนวนประชากรโลกทะลุ 8,000 ล้านคนและผลผลิตเนื้อสัตว์ที่ลดลง

Key Points

  • แมลงอุดมไปด้วยสารอาหารสูงอย่างธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง แมกนีเซียม วิตามินบี 2 บี 12 โอเมกา 3 6 9 กรดอะมิโนที่จำเป็น และให้โปรตีนสูงด้วย
  • ปี 2564 ไทยส่งออก “แมลงและอาหารแปรรูปที่ทำจากแมลง” จำนวน 575 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 51 ล้านบาท
  • ตลาดเอเชียครองสัดส่วนตลาดแมลง 30-40% ของทั้งโลก ที่เหลือกระจายตัวในโซนยุโรป ละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง ฯลฯ โดยอุตสาหกรรมแมลงเติบโตขึ้นปีละ 20%
  • ระยะเวลาการเลี้ยงแมลงสั้นกว่าสัตว์ทั่วไป โดยจิ้งหรีด ใช้เวลาเลี้ยง 30-45 วัน ขณะที่การเลี้ยงหมู ใช้เวลา 5-6 เดือน


ในปีนี้ สหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศว่า ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8,000 ล้านคน จนเกิดความกังวลถึง “ภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลก” และ UN ยังคาดการณ์อีกว่า ประชากรโลกจะเพิ่มเป็นเกือบ 10,000 ล้านคนภายในปี 2593

ดังนั้น มนุษย์จึงจำเป็นต้องผลิตอาหารจากทั้งพืชและสัตว์สูงขึ้นอีก 70% จากที่ผลิตได้ในปัจจุบัน เพื่อให้เพียงพอต่อกับความต้องการของประชากรที่สูงขึ้นในอนาคต

ความกังวลที่ตามมาคือ เมื่อถึงตอนนั้น มนุษย์จะผลิตอาหารได้เพียงพอกับความต้องการหรือไม่ ในเมื่อการทำปศุสัตว์ปัจจุบันต้องใช้พื้นที่มหาศาลในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว อย่างข้าวโพด ปลายข้าว ยอดอ้อย กากถั่วเหลือง เพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ของวัว หมู ไก่ ซึ่งนำมาสู่การเผาและถางป่าเป็นบริเวณกว้าง พื้นที่อุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติจึงมีแต่ลดลงเรื่อย ๆ

ยังไม่นับรวมภัยธรรมชาติจากโลกร้อนที่ทำให้ทั่วโลกเผชิญน้ำท่วมรุนแรง ฝนแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลที่เกิดถี่ขึ้นกว่าอดีต ปัญหาเหล่านี้ทำให้ผลผลิตอาหารจากผักและเนื้อสัตว์มีแนวโน้มลดลงในอนาคต

อย่างไรก็ตาม โลกยังไม่ถึงจุดสิ้นหวังเสียทีเดียว เมื่อ “แมลง” สามารถเข้ามาทดแทนเนื้อสัตว์ได้ในการแก้วิกฤติอาหาร เพราะใช้พื้นที่เพาะเลี้ยงน้อยกว่ามาก รวมทั้งให้สารอาหารสูง จนองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประกาศให้ “แมลงเป็นแหล่งอาหารในอนาคตของโลก” อีกทั้งยังพบมากในประเทศไทยด้วย

 

เปิดจุดแข็ง ‘แมลง’  สัตว์เศรษฐกิจดาวรุ่งของ ‘ไทย’

- อาหารจากแมลงที่อาจมาแทนที่เนื้อสัตว์ในอนาคต (เครดิต: istockphoto) -

 

“ไทย” แหล่งอุดมไปด้วยแมลง

เมื่อสัญจรบนทางเท้า จะเห็นว่าร้านค้าริมทางในไทยต่างขายแมลงเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นจิ้งหรีด ตั๊กแตน แมงป่อง ดักแด้ หนอนรถด่วน เนื่องจากไทยมีภูมิอากาศร้อนชื้น จึงเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงแมลงได้เป็นอย่างดี โดยกรมวิชาการเกษตรพบว่า ประเทศไทยมีแมลงที่มีคุณค่าอาหารสูงถึง 194 ชนิดเป็นอย่างน้อย

รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ มองว่า ไทยมีศักยภาพสูงในการเพาะเลี้ยงและผลิตโปรตีนทางเลือกจากแมลง เพราะมีภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย มีเทคโนโลยีแปรรูปอาหารที่ทันสมัย อีกทั้งยังใช้ทรัพยากรน้อยกว่าสัตว์อื่น ๆ เนื่องจากวงจรการเติบโตของแมลงสั้นกว่าสัตว์อื่น ๆ ด้วย

 

เปิดจุดแข็ง ‘แมลง’  สัตว์เศรษฐกิจดาวรุ่งของ ‘ไทย’

- "แมลง"ตามริมทางเท้าของไทย (เครดิต: istockphoto) -

 

จุดเด่นของแมลงที่อาจแทนที่เนื้อสัตว์ได้ แบ่งได้ดังต่อไปนี้

  • 1. แหล่งสารอาหารชั้นเยี่ยม ให้โปรตีนสูง

FAO รายงานว่า แมลงอุดมไปด้วยสารอาหารสูง อย่างธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง และแมกนีเซียมที่สูงกว่าเนื้อวัวเสียอีก ยิ่งไปกว่านั้นยังมีวิตามินบี 2 บี 12 โอเมกา 3 6 9 และกรดอะมิโนที่จำเป็นต่าง ๆ

นอกจากนี้ ในแมลงหลายตัวยังให้โปรตีนสูงกว่าเนื้อสัตว์ทั่วไป เช่น

โปรตีนในเนื้อหมูติดมัน 100 กรัม ให้โปรตีน 11.9 กรัม ขณะที่ตั๊กแตนใหญ่มีโปรตีนมากถึง 14.3 กรัม

เนื้อไก่ 100 กรัม มีโปรตีนสูงถึง 20.8 กรัม ส่วนแมลงตับเต่า 100 กรัม ให้โปรตีนสูงถึง 21.0 กรัม

ยิ่งไปกว่านั้น แมลงยังให้ไขมันต่ำ อย่างเนื้อหมูไม่ติดมัน 100 กรัม มีไขมันสูงถึง 35.0 กรัม ขณะที่ตั๊กแตนใหญ่ มีไขมันเพียง 3.3 กรัมเท่านั้น

 

  • 2. เลี้ยงง่ายกว่าสัตว์ทั่วไป

โดยทั่วไป การเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ อย่างวัว หมู ไก่ จำเป็นต้องใช้พื้นที่ใหญ่ แต่การเลี้ยงแมลงใช้พื้นที่น้อยกว่ามาก อีกทั้งอาหารที่ให้ก็ยังน้อยกว่าด้วย โดยมนุษย์ใช้น้ำราว 112 ลิตรในการผลิตเนื้อวัว 1 กรัม แต่ใช้น้ำไม่ถึง 23 ลิตรในการผลิตโปรตีนแมลง

ส่วนระยะเวลาการเลี้ยงแมลงก็สั้นกว่า เช่น จิ้งหรีด แมลงยอดนิยมสามารถเลี้ยงได้ด้วยหญ้า ใช้เวลาเลี้ยง 30-45 วัน ขณะที่การเลี้ยงหมู ใช้เวลา 5-6 เดือน

 

  • 3. ประสบปัญหาโรคระบาดน้อยกว่า

แมลง มักไม่ค่อยมีปัญหาโรคระบาดเช่นเดียวกับสัตว์เศรษฐกิจทั่วไป ขณะที่ วัว มีโรคแอนแทรกซ์ โรคลัมปีสกิน และโรควัวบ้า

หมู ก็มีโรคอหิวาต์แอฟริกา ที่เคยแพร่ระบาดในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยในปีที่แล้ว ส่งผลให้เนื้อหมูขาดแคลนในตลาด 20-30% หรือประมาณ 5-6 ล้านตัว ราคาหมูเนื้อแดงในไทยก็ถีบตัวสูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาท

ขณะที่ไก่และสัตว์ปีกอื่น ๆ ก็มีความเสี่ยงไข้หวัดนก หากระบาดขึ้นมาก็ต้องถูกกำจัดเป็นจำนวนมาก เพื่อควบคุมไม่ให้โรคลุกลามเป็นวงกว้าง

 

  • 4. ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมาก

การทำปศุสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนราว 15% ของก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก โดยทั่วไปก๊าซเรือนกระจกจากการทำปศุสัตว์ มีด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก๊าซเหล่านี้มาจากการหายใจของสัตว์ มูลและปัสสาวะสัตว์ 

ขณะที่แมลง ซึ่งมีขนาดเล็กและเลี้ยงในปริมาณมากบริเวณพื้นที่จำกัดได้ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำกว่ามาก ดังจะเห็นได้จาก จิ้งหรีดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 0.1% ของก๊าซที่มาจากวัว ในการผลิตโปรตีนที่มีขนาดเท่ากัน 

 

เปิดจุดแข็ง ‘แมลง’  สัตว์เศรษฐกิจดาวรุ่งของ ‘ไทย’

- แมลงกำลังเป็นที่แพร่หลายในเมืองไทย (เครดิต: istockphoto) -

 

“แมลง” อาหารส่งออกแห่งอนาคตของไทย

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ระบุว่า มูลค่าตลาดของอาหารโปรตีนจากแมลงทั่วโลก อยู่ที่ประมาณ 14,000 ล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2570 จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกว่า 5 เท่าจนมีมูลค่าสูงถึง 70,000 ล้านบาท

สำหรับประเทศไทยสามารถผลิตแมลงเศรษฐกิจได้มากกว่า 7,000 ตัน/ปี และมีฟาร์มเลี้ยงมากกว่า 20,000 ฟาร์ม โดยเฉพาะฟาร์มจิ้งหรีด

ขณะที่สถิติการส่งออกในปี 2564 ระบุว่า ไทยส่งออก “แมลงและอาหารแปรรูปที่ทำจากแมลง” จำนวน 575 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.5 ล้านดอลลาร์ (ราว 51 ล้านบาท) และมีอัตราการขยายตัวสูงถึง 96.27%

สำหรับตลาดส่งออกแมลงของไทย 5 อันดับแรก มีดังนี้

1. กัมพูชา 47.80%

2. สหรัฐ 26.07%

3. ญี่ปุ่น 12.28%

4. ฮ่องกง 6.51%

5. เมียนมา 4.69%

นอกจากนี้ จากกระแสแมลงที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้สหภาพยุโรป (EU) อนุมัติให้หนอนนก และตั๊กแตน เป็นอาหารสำหรับบริโภคได้ เพิ่มโอกาสให้กับไทยในการส่งออกแมลงท้องถิ่นสู่ตลาดยุโรป อีกทั้งเมื่อปี 2564 เม็กซิโกก็อนุญาตให้นำเข้าจิ้งหรีดจากไทยอย่างเป็นทางการ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และรองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันในตลาดโลกมีความต้องการบริโภคแมลงเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจแมลงมีมูลค่าสูงถึง 12,800 ล้านบาท โดยตลาดเอเชียครองสัดส่วนถึง 30-40% ของทั้งโลก ที่เหลือกระจายตัวในโซนยุโรป ละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง ฯลฯ ซึ่งใน 5 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมแมลงเติบโตขึ้นปีละ 20%

จากจุดแข็งของแมลงที่ทั้งเพาะเลี้ยงง่ายและให้สารอาหารสูง เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์อื่น ประกอบกับภูมิประเทศของไทยก็เอื้อต่อการเลี้ยงแมลง จึงทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งเป้าให้ไทยเป็น “ฮับแมลงของโลก” หรือศูนย์กลางส่งออกแมลง โดยเร่งส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์แมลง แปรรูปเป็นแมลงบรรจุกระป๋อง ผลิตเป็นเส้นพาสต้า ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ ฯลฯ

อาจสรุปได้ว่า จากการที่ “แมลง” เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เพาะเลี้ยงง่าย ใช้เวลาเลี้ยงสั้นกว่า พร้อมให้สารอาหารสูง จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจต่อการทดแทนเนื้อสัตว์ เพื่อแก้วิกฤติขาดแคลนอาหารในอนาคต อีกทั้งตลาดแมลงก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงกลายเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกแมลงผ่านสินค้าแปรรูปต่าง ๆ ไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นพาสต้าจากแมลง ไอศกรีมแมลง แมลงอัดกระป๋อง ผงโปรตีนจากแมลง ซอสแมลง คุกกี้แมลง ฯลฯ

อ้างอิง: tpsotimemarketeeronlinemgronlinethaigovtheguardianweforumun,
greenerym-groupbangkokbiznewsscb