เปิดเหตุผล “หมูไทยราคาแพง” ติดอันดับต้นๆ ของโลก

เปิดเหตุผล “หมูไทยราคาแพง” ติดอันดับต้นๆ ของโลก

ตอนนี้ราคา "หมูไทย" สูงกว่ายุโรป เวียดนาม และจีน ทำไมเป็นเช่นนั้น คนไทยจะต้องซื้อ "หมูแพง" ไปอีกนานแค่ไหน และถ้าเกษตรกรรายย่อยเลิกเลี้ยงหมู จะเกิดอะไรขึ้น

การระบาดของอหิวาต์แอฟริกา (African Swine Fever หรือ ASF) ทำให้เกษตรกรเลี้ยงหมูล้มหายตายจากไปแล้วมากกว่าร้อยละ 80 - 90 

และด้วยเหตุนี้ราคาเนื้อหมูในประเทศกำลังพุ่งสูงติดอันดับโลก ถ้าไม่รีบแก้ปัญหาอุตสาหกรรมเลี้ยงหมูจะตกอยู่ในมือผู้เลี้ยงรายใหญ่เท่านั้น

เพื่อเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาวิกฤตหมูแพง สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) มีข้อมูลหลายเรื่องที่น่าสนใจในเสวนาเรื่องหมูแพง ค่าแรงสามร้อย 

หมูแพงมีสาเหตุจากอะไร และการแก้ไขปัญหาเรื่องหมูๆ มีข้อเสนอให้ชุมชนต่างๆ หันมาสร้างทักษะเลี้ยงหมูหลุม (การเลี้ยงหมูแบบเดิมที่ผู้เลี้ยงไม่อยากให้หมูวิ่งเพ่นพ่าน พื้นที่เลี้ยงน้อย จึงขุดหลุมลึกประมาณ 1.5 - 2 เมตรเพื่อเป็นคอกสำหรับเลี้ยงหมู โดยมีวัสดุรองพื้นหลุม และอาหารหมู เป็นสิ่งที่หาได้ตามท้องถิ่นนั้น ๆ)

อย่างไรก็ตาม มาทำความเข้าใจเรื่อง หมูไทยแพงที่สุดในเอเชียก่อน และแพงติดอันดับต้นๆ ของโลก

  • หมูไทยแพงที่สุดในเอเชีย

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) บอกว่า ปัจจุบันราคาหมูในไทยถือว่าแพงอันดับต้น ๆ ของโลก

“ราคาหมูมีชีวิตที่จำหน่ายหน้าฟาร์มจากประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติอยู่ที่ 110 บาทต่อกิโลกรัม สูงกว่าในทวีปอเมริกาใต้ที่ราคาหมูน้อยกว่าไทยถึง 3 เท่าตัว หรือในยุโรปราคาจำหน่ายอยู่ที่ 40 - 50 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น”

เมื่อเทียบราคากับประเทศในแถบเอเชียพบว่า ราคาหมูในประเทศไทยแพงที่สุด แพงมากกว่าจีนและเวียดนามที่มีราคาอยู่ที่ประมาณ 80 บาทและ 60 บาทตามลำดับ โดยราคาในไทยมีแนวโน้มแพงขึ้นอีก

เปิดเหตุผล “หมูไทยราคาแพง” ติดอันดับต้นๆ ของโลก (เมื่อหมูแพง อาหารอื่นๆ ก็แพงตามไปด้วย )

ปัญหาครั้งนี้ วิฑูรย์มองว่า หนักหนาสาหัส จากที่รัฐบาลได้ประเมินมูลค่าความเสียหายต่อภาคการผลิตจากวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้อยู่ที่ 100,000 ล้านบาท

“หากวิเคราะห์โดยใช้ฐานข้อมูลของจีนจะพบว่า เมื่อหมูราคาแพงขึ้น ก็จะทำให้ราคาสินค้าอื่น แพงขึ้นตามไปด้วย

โดยในจีนหมูมีราคาแพงขึ้นประมาณร้อยละ 150 ทำให้เนื้อไก่แพงขึ้นร้อยละ 34 และเนื้อวัวแพงขึ้นร้อยละ 21

ซึ่งปัญหาเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นในไทย หากเป็นเช่นนั้นเท่ากับว่าผู้บริโภคชาวไทยต้องแบกรับภาระด้านอาหารประเภทโปรตีนสูงขึ้นกว่าเดิมมาก”

  • บริโภคหมู 24 กิโลกรัมต่อคน/ต่อปี

จากสถิติพบว่าคนจะบริโภคหมูเฉลี่ย 24 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ทำให้เพิ่มภาระในการซื้อหมูสูงขึ้นจาก 200,000 ล้านบาทเป็น 500,000 ล้านบาทต่อปี โดยในไทยจะเพิ่มภาระให้ผู้บริโภคประมาณ 370,000 ล้านบาท

นี่คือภาระของประชาชนท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ รวมถึงปัญหาโควิด - 19 ก็ยังไม่คลี่คลาย

จากคำแนะนำขององค์กรด้านสุขภาพพบว่า โปรตีนที่อยู่ในจานของแต่ละมื้ออาหาร ควรมีสัดส่วน 1 ใน 4 ของแต่ละมื้อ

แต่ราคาเนื้อสัตว์ในปัจจุบันทำให้ค่าใช้จ่ายด้านอาหารต่อวันถูกนำมาใช้จ่ายเพื่อซื้อเนื้อสัตว์เกินครึ่ง ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน โดยเฉพาะคนยากคนจน     

จากการศึกษาข้อมูลของจีนพบว่า เมื่อเกิดการระบาดของโรคตั้งแต่ปลายปี 2560 และหมูได้หายไปจากตลาดชัดขึ้น จนส่งผลให้เกิดการปรับราคาหมูสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 18 เดือน

โดยจีนได้แก้ปัญหาการขาดแคลนหมูด้วยการสั่งนำเข้าเนื้อหมูจากออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ จนสามารถทำให้ตลาดกลับสู่ภาวะสมดุลได้

ส่วนกรณีของไทย วิฑูรย์ ให้ข้อมูลว่า ผลกระทบน่าจะรุนแรงกว่าในจีน เพราะความไม่ชัดเจนในการประกาศเรื่องการระบาดของโรค ตลอดจนการเร่งระดมส่งออกหมูไปจำหน่ายในต่างประเทศมากถึง 2.7 ล้านตัว ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อน จากปกติที่ส่งออกเพียง 500,000 - 700,000 ตัวเท่านั้น

หากไทยต้องการแก้ปัญหานี้ โดยการสั่งนำเข้าหมูจากต่างประเทศ วิฑูรย์ ให้ความเห็นว่าต้องพิจารณาให้รอบคอบ อาจส่งผลเสียต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั้งรายใหญ่และรายย่อยได้

"การห้ามนำเข้าเนื้อหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง ก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องพึงระวัง เพราะหากยกเลิกมาตรฐานด้านความปลอดภัยดังกล่าว กำแพงด้านสุขภาพของผู้บริโภคชาวไทยก็จะถูกทำลายลง

กล่าวได้ว่าปริมาณหมูที่หายไปจากตลาดคือ ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาหมูแพงอย่างมากในปัจจุบัน แต่จะแพงอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่นั้นต้องรอดูข้อมูลอย่างละเอียดอีกครั้ง" 

เปิดเหตุผล “หมูไทยราคาแพง” ติดอันดับต้นๆ ของโลก

  • หมูแพงต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด

 ส่วน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต กล่าวว่า หากดูสัญญาณจากประเทศเพื่อนบ้าน จะพบว่าเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา มีมาตั้งแต่ปี 2562 ในหลายประเทศแถบเอเชีย แต่สำหรับไทยกลับกลายเป็นช่วงเวลาที่สามารถส่งออกหมูไปจำหน่ายในต่างประเทศได้มากขึ้น

เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนหมูจากโรคระบาด โดยมีมูลค่าหมูส่งออกสูงถึง 10,000 ล้านบาทจากปกติจะอยู่ประมาณ 100 ล้านบาท

"ไทยเพิ่งเริ่มพบว่ายอดการส่งออกลดลงในช่วงเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา จนกระทั่งในเดือนธันวาคมปี 2564 ก็เกิดภาวะเอาไม่อยู่

ราคาหมูจึงเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดดังที่เราเห็น เพราะปริมาณหมูในตลาดหายไปประมาณร้อยละ 20 - 30 หรือประมาณ 5 - 6 ล้านตัว 

และหากยังแก้ปัญหาการระบาดไม่ได้ ก็ยังไม่สามารถเติมจำนวนหมูใหม่ลงไปสู่ตลาดได้ เพราะเสี่ยงต่อการติดโรคระบาดในที่สุด 

สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไป คือไม่ได้หายไปเฉพาะหมู แต่สิ่งที่หายไปด้วยคือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายกลางและรายย่อย ที่ต้องแบกรับหนี้สินจากปัญหาดังกล่าวด้วย หากจะกลับมาได้ก็ต้องพึ่งพาระบบการเงินซึ่งใช้เวลาอีกระยะ"

ดังนั้นการแก้ปัญหา ดร.เดชรัต มองว่า ต้องทำควบคู่กันไประหว่างการแก้ปัญหาโรคระบาดเพื่อเริ่มเติมหมูใหม่สู่ระบบ กับการแก้โจทย์ทางการเงินของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู 

"หากหมูกลับมา แต่ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยและรายกลางไม่กลับมา ก็จะทำให้ปริมาณหมูไหลไปสู่กลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ของประเทศเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน

 ราคาหมูที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงกลางธันวาคม เกิดจากการเก็บสต๊อกเนื้อหมูไว้จำนวนหนึ่ง และปล่อยออกมาเมื่อสินค้าขาดตลาด ซึ่งเป็นสาเหตุของราคาหมูที่แพงมากขึ้นในปัจจุบัน "

อย่างไรก็ตาม อาจารย์เดชรัต มองว่า เรื่องที่สำคัญกว่าคือ ภาครัฐควรเร่งออกมาชี้แจงข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งภาคเกษตรกรและผู้บริโภค