‘ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ‘ เสี่ยงทำเศรษฐกิจทรุดหนัก ต่างชาติย้ายฐานผลิตหนี

‘ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ‘ เสี่ยงทำเศรษฐกิจทรุดหนัก ต่างชาติย้ายฐานผลิตหนี

สภาอุตฯ ชี้ พรรคการเมืองชู “นโยบายขึ้นค่าแรง” เพิ่มความเสี่ยงต่างชาติย้ายฐานการผลิต มองความสามารถในการแข่งขันไทยล้าหลังกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า ภาคธุรกิจไทยมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่พรรคการเมืองได้ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดยนายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมประเทศไทยให้ข้อมูลว่า ปีที่ผ่านมา ไทยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากมีการขึ้นค่าแรงอีกครั้ง อาจเป็นการบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับ “เวียดนาม” ที่กำลังเนื้อหอม-ขึ้นแท่นโรงงานโลก เป็นฐานการผลิตให้กับยานยนต์ ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

ตามรายงานข่าวยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า พรรคการเมืองหลายพรรคเลือกใช้นโยบายประชานิยมเรียกคะแนนเสียงให้ตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ รับประกันเงินเดือนบัณฑิตจบใหม่ พักหนี้เกษตรกร นโยบายลดค่าไฟทันที ฯลฯ ในอดีต ไทยเคยเป็นประเทศ “มหาอำนาจด้านการผลิต” แต่ปัจจุบัน ไทยกำลังตามหลังเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและอินโดนีเซียในการดึงดูดบริษัทต่างๆ ที่กำลังเล็งย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เนื่องจาก ประเด็นเรื่องค่าแรงที่สูงขึ้น รวมถึงแรงงานสูงวัยที่ไม่ตอบโจทย์การผลิตเท่ากับคนหนุ่มสาว

รองประธานสภาอุตสาหกรรมประเทศไทยให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า นโยบายประชานิยมไม่ทำให้เกิดผลดีในระยะยาว เนื่องจาก เศรษฐกิจประเทศไทยยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 อย่างเต็มที่ หากต้องเผชิญกับนโยบายประชานิยม รวมถึงเงินอุดหนุนจากนโยบายพรรคการเมือง ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอัตราเงินเฟ้อ บีบให้ธนาคารต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อไป ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติเร่งย้ายฐานการผลิตออกจากไทย

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งในปีนี้ตามประมาณการแล้วจะเผชิญกับภาวะชะลอตัวทั้งปีนั้น จะยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กระทบภาคส่งออกไทย และท้ายที่สุด ผู้ผลิตจะถูกบีบให้ส่งต่อต้นทุนการผลิตดังกล่าวให้กับผู้บริโภคในรูปแบบของค่าไฟ สร้างแรงกดดันต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนต่อไปในอนาคต

นอกจากค่าไฟและค่าแรงที่สร้างความกังวลให้ภาคธุรกิจแล้ว ภัยแล้งจาก “เอลนีโญ” ที่จะเกิดขึ้นปลายปีนี้ ก็อาจส่งผลสะเทือนต่อราคาอาหารและวัตถุดิบอีกระลอกด้วย

 

อ้างอิง: Bloomberg