3 ทางออกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม รอศาล-ลุยต่อ-เจรจาลดผลตอบแทน

3 ทางออกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม รอศาล-ลุยต่อ-เจรจาลดผลตอบแทน

“อธิรัฐ” สั่ง รฟม.ดำเนินการตามมติ ครม.หลังถูกแตะเบรกรถไฟฟ้าสายสีส้ม ให้รอผลการพิจารณาศาลปกครอง เปิด 3 แนวทางออกเคลียร์ปมปัญหา มีทั้งรอคำพิพากษาศาล เจรจาเพิ่มผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ หรือล้มประมูลครั้งที่ 2 ยืนยันรัฐบาลรักษาการเห็นชอบได้ เพราะไม่ใช่โครงการใหม่

Key Points

  • ที่ประชุม ครม.วันที่ 14 มี.ค.2566 ให้กระทรวงคมนาคมถอนวาระประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มออก
  • ‘อธิรัฐ รัตนเศรษฐ’ สั่งการให้ รฟม.ดำเนินการตาม ครม.โดยรอการพิจารณาของศาลปกครอง
  • การรอคำพิพากษาของศาลปกครองจะลดคำถามของสังคมเกี่ยวกับการประมูลครั้งนี้
  • มีการประเมิน 3 แนวทาง ที่จะเป็นทางออกให้กับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ซึ่งครอบคลุมงานโยธาฝั่งตะวันตก (บางขุนน์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) รวมทั้งงานเดินรถไฟฟ้าและวางระบบรถไฟฟ้าตลอดทั้งสาย (บางขุนนนท์-มีนบุรี) ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2563 หลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แก้ไขหลักเกณฑ์การประมูลและนำมาสู่การฟ้องศาลปกครอง และมีการยกเลิกการประมูล 

จนกระทั่ง รฟม.เปิดประมูลครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2565 และมีการยื่นฟ้องศาลปกครองในคดีกำหนดหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 ชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งคดียังค้างอยู่ในศาลปกครองกลาง ในขณะที่กระทรวงคมนาคมได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 ให้ความเห็นชอบผลการประมูลแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ถอนเรื่องออกหลังจากมีรัฐมนตรีอย่างน้อย 8 คน คัดค้านการพิจารณาวาระนี้

สำหรับสาเหตุสำคัญของการคัดค้านมีหลายประเด็น เช่น การประมูลครั้งนี้ยังมีคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ยื่นฟ้อง รวมทั้งมีรัฐมนตรีเห็นว่าการประมูลครั้งนี้ยังมีเรื่องร้องเรียนในคณะกรรมการป้องกันและราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ภายหลังจาก ครม.ไม่ได้พิจารณาอนุมัติผลคัดเลือกเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2566 นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เรียกประชุมหัวหน้าหน่วยราชการในสังกัดกระทรวงคมนาคม พร้อมสั่งการให้ติดตามผลการประชุม ครม.นัดที่ผ่านมา และดำเนินการตามมติ ครม.

“รัฐมนตรีฯ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานทำตามมติ ครม.ซึ่งในเรื่องที่เสนอเข้าที่ประชุม ครม.ก็มี 2 เรื่อง คือ โครงการทางด่วนสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี และผลการคัดเลือกเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งหากตีความจากคำสั่งเช่นนี้ ก็หมายถึงว่าให้การทางพิเศษฯ ไปเร่งรัดก่อสร้างโครงการทางด่วน ส่วน รฟม.ก็ต้องรอคำพิพากษาของศาลในคดีเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม เพราะ ครม.มีคำสั่งให้รอคำตัดสินทางคดีถึงที่สุดก่อนจึงจะนำเรื่องนี้กลับมาเสนอ ครม.”แหล่งข่าว กล่าว

3 ทางออกรถไฟฟ้าสายสีส้ม

อย่างไรก็ดี หากประเมินถึงแนวทางดำเนินการของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในขณะนี้ พบว่ามีทางเลือกอยู่ 3 แนวทาง คือ 

1.รอคำตัดสินของศาลปกครองในถึงที่สุด และนำผลการคัดเลือกกลับมาเสนอ ครม. ซึ่งแนวทางนี้สามารถดำเนินการได้ เพราะข้อเสนอของเอกชนที่ยื่นไว้ไม่ได้มีกำหนดระยะเวลายืนราคา ดังนั้นสามารถใช้เวลาในการรอผลทางคดีให้ถึงที่สุด เพื่อดำเนินการเรื่องนี้แบบไม่มีคำถามของสังคม แต่แนวทางนี้ไม่สามารถประเมินได้ว่าต้องใช้เวลานานเพียงใดในการรอคำพิพากษาจากศาลปกครอง

นอกจากนี้ อาจกระทบต่อระยะเวลาการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ขณะนี้ความคืบหน้าการก่อสร้างแล้วเสร็จ 99% แต่เนื่องจากสัญญาเดินรถผูกรวมอยู่กับสัญญาร่วมลงทุนงานก่อสร้างส่วนตะวันตกที่กำลังมีข้อพิพาททางคดีอยู่ จึงทำให้ไม่สามารถเปิดเดินรถส่วนตะวันออกได้ แม้จะก่อสร้างแล้วเสร็จ

เจรจา BEM เพิ่มผลตอบแทนรัฐ

2.เจรจากับผู้ชนะการประมูลเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ตอบแทนรัฐให้มากขึ้น เพื่อตอบคำถามสังคมให้ได้ในกรณีที่มีการเปรียบเทียบข้อเสนอของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BEM และข้อเสนอของ BTSC ในการประมูลครั้งแรกที่มีส่วนต่างกันถึง 68,000 ล้านบาท ซึ่งหากเจรจาเพิ่มผลประโยชน์ตอบแทนรัฐได้มากขึ้นอีก ก็เชื่อว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจะเดินหน้าต่อได้ ไม่เกิดคำถามในสังคม และสามารถเสนอในช่วงรัฐบาลรักษาการได้

3.ยกเลิกการประกวดราคาครั้งนี้ เพราะหากสังคมยังมีคำถามเกี่ยวกับผลการคัดเลือกเอกชนในครั้งที่ 2 ที่ไม่โปร่งใสมาจากการปรับเกณฑ์การคัดเลือก กีดกันเอกชนบางกลุ่มที่เคยเข้าร่วมประมูลได้ แต่ครั้งนี้คุณสมบัติไม่เข้าข่ายร่วมประมูล 

ดังนั้น รฟม.ก็สามารถใช้อำนาจในการเป็นเจ้าของโครงการนี้ ยกเลิกการประกวดราคาและเริ่มต้นกระบวนการประกวดราคาใหม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการลงนามสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูล

รัฐบาลรักษาการเห็นชอบได้

นอกจากนี้ แม้ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจะไม่ทันพิจารณาในรัฐบาลนี้ แต่หากดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว รัฐบาลรักษาการก็สามารถพิจารณาผลการคัดเลือกเอกชนได้ เนื่องจากโครงการนี้ถือเป็นโครงการต่อเนื่องที่ได้รับการมอบหมายจาก ครม.ให้ดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นการเสนอโครงการใหม่ที่จะส่งผลผูกพันต่อรัฐบาลหน้า เป็นเพียงการพิจารณาตามความถูกต้องเพื่อเริ่มกระบวนการร่วมลงทุน

สำหรับแนวทางนี้สอดคล้องกับการยืนยันของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ระบุก่อนหน้านี้ว่ารัฐบาลรักษาการสามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบได้