ร่างสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘ฉลุย’ รฟม.เตรียมเสนอ ‘คมนาคม’ ชง ครม.

ร่างสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘ฉลุย’  รฟม.เตรียมเสนอ ‘คมนาคม’ ชง ครม.

จับตา รฟม.เสนอ “คมนาคม” อนุมัติร่างสัญญาลงนาม “บีอีเอ็ม” เดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังอัยการสูงสุดไฟเขียว พร้อมผ่านรายงานบอร์ด รฟม.แล้ววานนี้

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.วานนี้ (26 ม.ค.) ได้รับทราบความคืบหน้าการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งทราบว่าปัจจุบันสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ตรวจสอบร่างสัญญญาร่วมลงทุน และอนุมัติส่งกลับมาที่ รฟม.แล้ว 

ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร รฟม. โดยนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.ที่จะพิจารณานำเสนอร่างสัญญาดังกล่าวไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาหรือไม่ เบื้องต้นหากกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบร่างสัญญา ก็จะมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติและเริ่มขั้นตอนลงนามสัญญาร่วมทุนกับเอกชน

ด้านนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะเข้าดำเนินงานได้ทันที หลังจากลงนามสัญญา และมั่นใจว่าจะเปิดให้บริการส่วนตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-สุวินทวงศ์) ได้ภายใน 3 ปีครึ่ง หรือภายในปี 2568 และส่วนตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) ได้ภายใน 6 ปี หรือภายในปี 2571 ตามแผนงานของ รฟม. ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเด่นของ BEM ที่ทำงานทุกโครงการประสบความสำเร็จ เปิดบริการได้ตามสัญญาเป็นไปตามแผนหรือก่อนแผนเสมอ

สำหรับ BEM เป็นเอกชนที่ยื่นข้อเสนอประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ผ่านเกณฑ์และเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐสุทธิ (NPV) -78,287.95 ล้านบาท โดยมาจากการการหักลบระหว่างส่วนที่เอกชนจะตอบแทนให้รัฐ กับเงินที่เอกชนขอให้รัฐช่วยซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด อีกทั้งข้อเสนอของ BEM ยังดำเนินการตามข้อกำหนดทางวิศวกรรม (specification) งานโยธาและระบบรถไฟฟ้า วิธีการและเทคนิคการก่อร้างโดยเฉพาะการก่อสร้างงานอุโมงค์และสถานีใต้ดิน ซึ่งเป็นงานก่อสร้างใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต้องดูแลความปลอดภัยสูงสุด ระบบรถไฟฟ้าที่จัดซื้อมีประสิทธิภาพสูง อายุการใช้งานนาน มาให้บริการแก่ประชาชน 

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ประเมินวงเงินการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม คาดว่าจะใช้เงินทุนราว 1.2 แสนล้านบาทโดยจะจัดหาเงินทุนจากเงินกู้สถาบัน หรือออกหุ้นกู้ ไม่มีความจำเป็นต้องจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อเพิ่มทุน ขณะที่การประเมินลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น บริษัทฯ ประเมินจากวงเงินลงทุนที่ใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจึงคาดการณ์ว่าจะใช้เวลา 7 ปีถึงจุดคุ้มทุน (Break Even) ใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยการคืนทุนดังกล่าวโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจะต้องมีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 5 แสนคนต่อวัน

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรม แห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)