“ตรุษจีน 2566” ไทยเที่ยวไทย 1.38 ล้านคน ททท.คาดเงินสะพัดกว่า 4.6 พันล้านบาท

“ตรุษจีน 2566” ไทยเที่ยวไทย 1.38 ล้านคน ททท.คาดเงินสะพัดกว่า 4.6 พันล้านบาท

“ททท.” คาดการณ์ช่วงเทศกาล “ตรุษจีน 2566” ตลาดไทยเที่ยวไทยเดินทางกว่า 1.38 ล้านคน-ครั้ง เม็ดเงินสะพัดกว่า 4.6 พันล้านบาท คนไทยเชื้อสายจีนและคนจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจะใช้ช่วงเวลานี้ชดเชยเวลาที่หายไปช่วงวิกฤติโควิด-19

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.ได้ประเมินภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศช่วงเทศกาล ตรุษจีน 2566 คาดว่าบรรยากาศท่องเที่ยว จะมีความคึกคักมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยมีจํานวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 1.38 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยว 4,600 ล้านบาท และมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 59%

เนื่องจากคนไทยเชื้อสายจีนและคนจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจะใช้ช่วงเวลานี้ชดเชยเวลาที่หายไปช่วงวิกฤติโควิด-19 ด้วยการออกมาร่วมกันเฉลิมฉลอง วันขึ้นปีใหม่จีน กับครอบครัว ทั้งในรูปแบบรับประทานอาหารร่วมกัน การออกมา ไหว้พระขอพร เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและความสุขเข้ามาในชีวิตทั้งตัวเองและครอบครัว ตลอดจนเดินทางท่องเที่ยวและพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ

ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคเหนือ คือภูมิภาค 3 อันดับแรกที่สร้างรายได้ ท่องเที่ยวตรุษจีน ซึ่งหากไม่นับรวมกรุงเทพฯ พบว่า อันดับ 1 คือ ภาคตะวันออกเนื่องจากได้รับแรงหนุนจาก 2 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก คือ ชลบุรี และสมุทรปราการซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจํานวนมาก และมีศาลเจ้าที่ได้รับความนิยมหลายแห่ง รวมท้ังหน่วยงานในพื้นที่ยังร่วมกันจัดกิจกรรมตรุษจีนสร้างสีสันบรรยากาศเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการเดินทางท่องเที่ยวทั้งแบบพักค้างและเช้าไปเย็นกลับ ส่งผลให้ภาพรวมของรายได้ภูมิภาคนี้สูงกว่าภาคอื่น

สําหรับภูมิภาคที่มีรายได้เป็นอันดับ 2 คือ ภาคใต้ แม้ว่าจะมีคนไทยเชื้อสายจีนน้อยกว่าคนไทย แต่ความแข็งแรงด้านความเชื่อ ส่งผลให้มีการสืบทอดประเพณีตรุษจีนจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนาน ประกอบกับปีนี้ ททท. จัดกิจกรรมตรุษจีนในพื้นที่ไฮไลท์ คือ หาดใหญ่ (สงขลา) และภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่แม่เหล็ก จึงคาดว่าจะช่วยสร้างเม็ดเงินและการเดินทางท่องเที่ยวให้กับภูมิภาคนี้ มากขึ้น

สําหรับภูมิภาคที่มีรายได้เป็นอันดับ 3 คือ ภาคเหนือ ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งมาจากสภาพอากาศที่กลับมาหนาวเย็นอีกครั้ง จึงเป็นแรงจูงใจให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยว และจากข้อมูล Social Listening ของ กพร. ระหว่างวันที่ 1-15 มกราคม2566 มีการพูดถึงวันตรุษจีนเป็นจํานวนมาก และส่วนใหญ่ให้ความสนใจเดินทางท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวบน ดอยและอุทยานแห่งชาติ อาทิ ดอยอินทนนท์เนื่องจากต้องการออกไปสัมผัสอากาศหนาวเย็นและชมปรากฎการณ์เหมยขาบ บนยอดดอย

สําหรับพื้นที่ที่ ททท. ดําเนินการจัดงานและให้การสนับสนุนเทศกาลตรุษจีนปี 2566 จํานวน 8 พื้นที่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่ ททท. ดําเนินการจัดงานเองจํานวน 2 พื้นที่ ได้แก่พื้นที่กรุงเทพฯ มีการตกแต่งประดับไฟ ภายใต้แนวคิด “สิริมงคล รุ่งเรือง โชคดีปีกระต่าย” ณ บริเวณซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา (วงเวียน โอเดียน) และถนนเยาวราช (ระหว่างวันที่ 14 มกราคม -15 กุมภาพันธ์ 2566) พร้อมกับการเข้าร่วมออกบูธภายใน งานตรุษจีนเยาวราช ประจําปี 2566 (ระหว่างวันที่22-23 มกราคม 2566) และพื้นที่จังหวัดราชบุรี มีการจัดงานเทศกาล ตรุษจีนจังหวัดราชบุรี (ระหว่างวันที่ 19-23 มกราคม 2566)

และพื้นที่ที่ให้การสนับสนุนจํานวน 4 พื้นที่ ได้แก่ ประเพณีตรุษจีนปากน้ำโพจังหวัดนครสวรรค์ (ระหว่างวันที่ 25 มกราคม-5 กุมภาพันธ์ 2566), กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรมจัดงานตรุษจีนสุพรรณบุรี (ระหว่างวันที่ 22-23 มกราคม 2566), HATYAI Chinese New Year 2023 จังหวัดสงขลา (ระหว่างวันที่21-24 มกราคม 2566) และงานตรุษจีน-ย้อนอดีตเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต(ระหว่างวันที่ 27-29 มกราคม 2566)

ทั้งนี้ การจัดงานตรุษจีนในปี 2566 คาดว่าจะได้รับความสนใจจากคนไทยเพิ่มขึ้นเนื่องจากห่างบรรยากาศเทศกาลตรุษจีนมา 2 ปี อีกทั้งมีการขยายวันในการจัดงานในแต่ละพื้นที่ จึงคาดว่าจะมีจํานวนผู้เยี่ยมเยือนคน ไทยเดินทางเข้าพื้นที่จัดงานทั้ง8 พื้นที่ประมาณ 491,510 คน-ครั้ง มีการใช้จ่ายสร้างรายได้หมุนเวียน 1,800 ล้านบาท และมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 60%

กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่จัดงานตรุษจีนที่มีจํานวนและรายได้ผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยสูงเป็นอันดับ 1 มาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 โดยมีจํานวนการเดินทางท่องเที่ยว 197,350 คน-ครั้ง และมีรายได้ประมาณ 870 ล้านบาท เนื่องจากมี“เยาวราช” ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของวัดและศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงอันเป็นศูนย์รวมความเชื่อความศรัทธาที่เหล่า ลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมเดินทางมาไหว้พระเพื่อเสริมสิริมงคล ไหว้พระแก้ปีชงและเป็นแหล่งสินค้าอุปโภคบริโภคของชาวจีนที่ต้องมาซื้อของจับจ่ายสําหรับการไหว้เจ้า รวมทั้งเป็นศูนย์รวมอาหารอร่อยตั้งแต่ระดับภัตตาคารจนถึง Street Food จึงทําให้บรรยากาศการท่องเที่ยวในพื้นที่เยาวราชมีความครึกครื้นและสร้างรายได้ในช่วงตรุษจีนให้กับกรุงเทพฯเติบโตมาโดยตลอดเป็นไปในทิศทางเดียวกับศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่คาดว่าเทศกาลตรุษจีนปี 2566 จะมีจํานวนคนกรุงเทพฯ เข้าร่วมกิจกรรมช่วงตรุษจีนเพิ่มขึ้นราว 1.5% จากปีก่อนโดยเฉพาะการกลับมาทํากิจกรรมท่องเที่ยว ทําบุญ ทานข้าวนอกบ้านมากขึ้น ขณะที่ผลจากราคาสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้นราว 3.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทําให้คนกรุงเทพฯ ระมัดระวังกับการใช้จ่ายอย่างรัดกุมมากขึ้น โดยสํารองเงินซื้อเครื่องเซ่นไหว้เพิ่มขึ้น แต่ปรับลดการแจกอั่งเปาลง

สุพรรณบุรี ภูเก็ต และสงขลา คือพื้นที่ที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูง 3 อันดับแรกโดยสุพรรณบุรีมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 72% เนื่องจากได้รับอานิสงค์จากพื้นที่ท่องเที่ยวระยะใกล้ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยทั้งจากกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงนิยมเดินทางเข้ามาร่วมกิจกรรมประเพณีตรุษจีนพร้อมกับท่องเที่ยวพักผ่อนประกอบกับลูกหลานชาวจีนที่ย้ายไปทํางานในต่างถิ่น จะใช้โอกาสนี้เดินทางกลับภูมิลําเนาบ้านเกิดและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน ขณะที่ภูเก็ต และสงขลาคือพื้นที่แม่เหล็กของคนไทยเชื้อสายจีนทั้งที่เดินทางมาจากพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่ระยะไกลข้ามภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่นิยมเดินทางเข้ามาร่วมงานประเพณีและกราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 65% และ 60% ตามลําดับ

 

ปัจจัยส่งเสริมการเดินทางทอ่งเที่ยวในประเทศช่วงตรุษจีนปี 2566

-สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยทุเลาเบาบางลง

-ประชาชนปรับตัวและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้ดีขึ้น

-มาตรการของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล “ช้อปดีมีคืนปี 2566” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและส่งเสริมให้คนไทยเกิดการใช้จ่ายสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น

-กิจกรรมส่งเสริมการตลาดจาก ททท. และพันธมิตร

 

ปัจจัยอุปสรรคต่อการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศช่วงตรุษจีนปี 2566

-ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศที่เพิ่งจะฟื้นตัว

-สินค้าอุปโภคและบริโภคปรับราคาเพิ่มขึ้น

-ความผันผวนของราคาน้ำมัน