ส่องปรากฎการณ์ปี 2565 ปัจจัยรุมเร้า ธุรกิจปรับ-เปลี่ยน สู้เศรษฐกิจฟื้นช้า!

ส่องปรากฎการณ์ปี 2565 ปัจจัยรุมเร้า ธุรกิจปรับ-เปลี่ยน สู้เศรษฐกิจฟื้นช้า!

ปรากฎการณ์แห่งปี 2565 นับเป็น “ปีแห่งการฟื้นฟูและซ่อมสร้าง” คือ นิยามภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยปี 2565 หลังเผชิญมหาวิกฤติโควิด-19 มานานกว่า 2 ปี เปิดฉากต้นปีได้ไม่สวยนัก เพราะเจอสถานการณ์ระบาดของสายพันธุ์ “โอมิครอน” สกัดเข้าเสียก่อน

ขณะรัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเกือบ 18% ของจีดีพี ปี 2562 ซึ่งเป็นปีทองที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสร้างรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวม 3 ล้านล้านบาท

กระทั่งโควิด-19 คลี่คลาย รัฐบาลทยอยผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จนถึงดีเดย์ยกเลิกการลงทะเบียนผ่านระบบ “ไทยแลนด์พาส” มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นสัญลักษณ์ของ “การเปิดประเทศเต็มรูปแบบ” ก่อนที่จะประกาศให้โควิด-19 เป็น “โรคติดต่อเฝ้าระวัง” มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกมาตรการขยายเวลาพำนักในประเทศไทยสำหรับชาวต่างชาติ 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ขอวีซ่าหน้าด่าน (Visa on Arrival : VoA) ผู้ถือหนังสือเดินทางของประเทศที่ทำความตกลงกับรัฐบาลไทย กรณีการยกเว้นวีซ่า (ฟรีวีซ่า)

และผู้ที่ได้ฟรีวีซ่า ประเภท ผ.30 (เป็นมาตรการที่ไทยให้ฝ่ายเดียว) ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565-31 มี.ค.2566

ภาครัฐและภาคเอกชนต่างเร่งเครื่องทำตลาดดึง “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” เข้ามาจับจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอย่างเต็มที่ในช่วงครึ่งปีหลัง ท่ามกลางปัจจัยลบ “เศรษฐกิจโลก” รุมเร้า ทั้งกดดันทั้งซ้ำเติมการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยของฝั่งตะวันตก วิกฤติเงินเฟ้อ วิกฤติค่าครองชีพ ราคาพลังงาน-น้ำมันปรับสูงขึ้นซึ่งเป็นผลจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในช่วงการฟื้นตัว โดยเฉพาะในภาคธุรกิจโรงแรม

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า คาดการณ์ว่าตลอดปี 2565 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 11.5 ล้านคน สร้างรายได้จากตลาดต่างประเทศ 6-7 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับรายได้จากตลาดในประเทศ คาดไม่น้อยกว่า 8 แสนล้านบาท จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 250-260 ล้านคน-ครั้ง ทำให้ปี 2565 มีรายได้รวมการท่องเที่ยวประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัว 50% เมื่อเทียบกับรายได้รวมปี 2562

++ สูตรสำเร็จธุรกิจผนึกพันธมิตร ลุย M&A

ในวันที่โลกธุรกิจแข่งขันด้วย “ความเร็ว” หรือ Speed ทำให้การลงทุนเอง สร้างโรงงาน ไม่ใช่ทางเลือกเดียวอีกต่อไป กลับกัน การใช้ “ทางลัด” ในการเข้าลงทุน ซื้อและควบรวมกิจการ(M&A) เทกโอเวอร์ ไปจนถึง “ร่วมทุน” กับพันธมิตร มีให้เห็นในแวดวงการค้าการลงทุนกันอย่างคึกคัก

สำหรับวงการธุรกิจการตลาด “ที่สุดแห่งดีล” เกิดขึ้นในปี 2565 มีดังนี้

“บุญรอดเทรดดิ้ง” ผนึกกับ “ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก” หรือ โออาร์ รุกคืบจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อผลิตและจำหน่าย“เครื่องดื่มสำเร็จรูปพร้อมดื่ม”หรือ RTD

หลัง 2 ยักษ์ใหญ่ ร่วมมือกัน แม้จะไม่เจาะจงสินค้าที่จะผลิตสู่ตลาด แต่เมื่อเจอแม่ทัพคนสำคัญอย่าง “ภูริต ภิรมย์ภักดี” ซีอีโอแกะกล่องของ “บุญรอดบริวเวอรี่” และยังเป็นผู้นำของบุญรอดเทรดดิ้ง ย้ำชัดว่าจะร่วมมือครั้งนี้เพื่อรุกตลาดเครื่องดื่มกาแฟและชา ซึ่งเป็นจุดแข็งของทั้ง 2 ฝ่าย ปตท.มีธุรกิจกาแฟนอกบ้านเบอร์ 1 คาเฟ่ อเมซอน และบุญรอดฯ มีธุรกิจ“ชา” ครบวงจรจึงต่อจิ๊กซอว์โตได้

อีกดีลคือ “อาร์เอส กรุ๊ป” ของเฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ เดินหน้าซื้อกิจกรทั้งหมดของ “ยูนิลีเวอร์ ไลฟ์” หรือ ULife ธุรกิจขายตรงของยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภคระดับโลกอย่าง “ยูนิลีเวอร์”

ดีลดังกล่าวปิดตัวเลขที่ 880 ล้านบาท ถือเป็นการรุกคืบของอาร์เอส ในการต่อยอดโมเดลธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ และการปูทางลัดสู่ธุรกิจขายตรง หลังจากเคยพยายามปลุกปั้นแล้ว แต่หนทางความสำเร็จยังอีกยาวไกล

ขณะที่การได้ “ยูไลฟ์” มาครอบครอง ไม่เพียงแค่สินค้าแบรนด์ดังในพอร์ตโฟลิโอ แต่บริษัทยังได้ “ทีมงาน” ที่คร่ำหวอดในกิจการขายตรงมูลค่า 70,000 ล้านบาท รวมถึง“ฐานสมาชิก”ราว 150,000 ราย มาอยู่ในมือ สามารถสร้างการเติบโตต่อได้ทันที โดยไม่ต้องลองผิดลองถูกเหมือนปลุกปั้นด้วยตัวเอง

ทว่า สะเทือนวงการขาอ่อน ยกให้ดีลใหญ่ของบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือJKN ที่ทุ่มเงินราว 800 ล้านบาทซื้อองค์กรนางงามจักรวาล (Miss Universe Organization :MUO)แบบ 100% หลังเจรจาอยู่ 4 เดือน หลังได้มา แม่ทัพใหญ่ “แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” ประกาศปฏิรูปจักรวาลทันที นอกจากการมุ่งสร้างประวัติศาสตร์ใหม่บนโลกการประกวดนางงาม “เจเคเอ็น” ยังมองโอกาสต่อยอดธุรกิจในเครือ สร้างการเติบโตด้วย ซึ่งสังเวียนนี้ต้องติดตามกันยาวๆ ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร

++ ได้เวลาสังคายนากติกาเจ้าปัญหา

อีกทอล์คออฟเดอะทาวน์เมื่อเร็วๆ นี้มาพร้อมคำถาม ถึงเวลาสังคายนากติกาเจ้าปัญหา? ปมหาเงินซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด “ฟุตบอลโลก 2022” เมื่อกฏมัสต์ แฮฟ ทำให้เอกชน ไม่อยากควักเงินไปซื้อรายการกีฬาใหญ่มาถ่ายทอดสด เพราะคนไม่ลงขันแพลตฟอร์มอื่น มีสิทธิ์ได้ดูเนื้อหาด้วย เพื่อเท่าเทียม ทั่วถึงเมื่อเป็นเช่นนั้น ทำให้ฟุตบอลโลก 2022 คนไทยเกือบไม่ได้ดู เพราะหาเงินไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดไม่ได้ สุดท้าย กสทช.ต้องดึงเงิน กองทุน กทปส.มาตั้งต้น แล้วให้เอกชนมาลงขันรวมได้ “พันล้านบาท” ไปจ่ายฟีฟ่า และนำกีฬาใหญ่มาให้ประชาชนได้ดูซึ่งเอกชนมองกรณีนี้คือบทเรียนความล้มเหลว และขอให้ กสทช. สังคายนากติกาที่ล้าหลัง ไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยียุคปัจจุบันเสียที ซึ่งต้องรอดูต่อจะเป็นอย่างไร และ 4 ปีข้างหน้า ปัญหาซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2026 จะมีอะไรวุ่นๆ อีกหรือไม่

อีกหนึ่งปรากฎการณ์ปี 2565 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC 2022 คือปรากฏการณ์ใหญ่รอบ 20 ปี ที่ประเทศไทยได้จัดงานต้อนรับผู้นำโลก ผ่านเวที APEC 2022 ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.ที่ผ่านมา

ไม่กล่าวถึงไม่ได้สำหรับภาคธุรกิจ มีการตื่นตัว เคลื่อนทัพสู่ความยั่งยืนการค้ายุคใหม่ ไม่ได้มีแค่มาตรการกีดกันทางภาษีเหมือนในอดีต แต่ถ้าธุรกิจสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน โลก นานาประเทศอาจไม่ต้องการค้าขายด้วยปี 2565 จึงเห็นเอกชนยักษ์ใหญ่ลุกมาทำธุรกิจผนวกกับแผนพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้มข้นหากไม่ทำ ผู้บริโภคอาจไม่สนับสนุนซื้อสินค้าและบริการทิศทางดังกล่าวไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการ “ต้องทำ” ไม่เช่นนั้นอาจมีแรงต้าน แทนสนับสนุน 

ปี 2565 จึงเห็นเอกชนยักษ์ใหญ่ลุกมาทำธุรกิจผนวกกับแผนพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้มข้นหากไม่ทำ ผู้บริโภคอาจไม่สนับสนุนซื้อสินค้าและบริการทิศทางดังกล่าวไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการ “ต้องทำ” ไม่เช่นนั้นอาจมีแรงต้าน แทนสนับสนุน

++ สินค้าขึ้นราคาแห่งปี

ต้องยกให้เป็นปรากฏการณ์สำคัญอีกครั้งของวงการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “หมื่นล้านบาท” ในปี 2565 ผู้ประกอบการอ้อนรัฐแล้วอ้อนอีก เพื่อขอ “ปรับราคา”​ บะหมี่ฯ จาก 6 บาท เป็น 8 บาทต่อซอง ซึ่งถือเป็นสินค้าหลักที่ครองสัดส่วนใหญ่ของตลาด

ทว่า ความที่ “บะหมี่ฯ” เป็นสินค้าการเมือง ที่รัฐไฟเขียวให้ขึ้นราคา ย่อมโดนประชาชนก่นด่า ยิ่งกว่านั้น ถูกนำมาเป็น “ดัชนีชี้วัด” ภาวะเศรษฐกิจเติบโต-ถดถอยด้วย หากเคาะให้เอกชนขึ้นราคา ย่อมโดนเล่นงานจากหลายด้าน

ทั้งนี้ ภาวะสงครามความขัดแย้งระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบหลายตัวพุ่งแรง อย่างแป้งสาลี รวมๆ ทำให้ผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่บะหมี่ฯ 5 ราย ลงความเห็นว่าต้นทุนสูงในรอบ 50 ปี จึงรวมตัวกันครั้งประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ทำธุรกิจมา ที่ 5 บิ๊กบะหมี่ฯ ทั้ง “มาม่า-ไวไว-ยำยำ-ซื่อสัตย์-นิชชิน” มาอยู่ร่วมเฟรมเดียวกันแบบไม่เห็นมาก่อน ที่สุดแล้ว การขอขึ้นราคาบะหมี่ฯจาก ซองละ 6 บาท เป็น 8 บาท รัฐเคาะให้จริงคือ “ซองละ 7 บาท” เท่านั้น แต่นี่นับเป็นการขึ้นราคาบะหมี่ฯ ในรอบ 15 ปี 

++ กรณีศึกษา “ลาซาด้า” (LAZADA) กับแคมเปญ 5.5 

กลายเป็นบทเรียนราคาแพง ของนักการตลาด “เลือกข้าง” แบ่งขั้วการเมือง เพราะไม่เพียงการใช้อินฟลูเอ็นเซอร์มาทำการตลาด สร้างคอนเทนต์ที่กระทบความรู้สึกผู้บริโภคฝั่งใดฝั่งหนึ่ง รวมถึงสะท้อนการ “Bully” ตลอดจน Body shaming ผู้พิการ จนแบรนด์โดนกระหน่ำรอบทิศ ทั้งผู้บริโภคและสมาคมต่างๆ ออกโรงเตือนถึงการทำตลาดอย่างมี “จริยธรรม-จรรยาบรรณ” งานนี้ “ลาซาด้า” ต้องแก้วิกฤติแบรนด์ครั้งสำคัญ

++ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) เขย่าธุรกิจ

หลายบริษัท พยายามนำรถอีวีมาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนธุรกิจ เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางสร้างความยั่งยืนด้วย ไอศกรีม “วอลล์” นำร่องรถบรรทุกอีวี เพื่อขนส่งไอศกรีม ส่วนยักษ์ใหญ่เครื่องดื่ม “ไทยเบฟเวอเรจ” นำร่องใช้รถบรรทุกอีวีที่โรงงาน เพื่อขนส่งสินค้าจากโรงงานไปยังศูนย์กระจายสินค้า และมีสถานีชาร์จรถบรรทุกอีวีเป็นของตนเอง โครงการดังกล่าวเป็นต้นแบบเท่านั้น จะทำเชิงรุกต้องรอให้ค่ายรถยนต์เปิดเกมด้วย

++ ไทยเพิ่งตื่น! ผลักดัน Soft Power 

ปรากฏการณ์กระแสเกาหลีฟีเวอร์ หรือ K-Pop ทรงพลังในตลาดโลก โกยเงินมหาศาลเข้าประเทศ ผลักดันเศรษฐกิจเติบโตมาหลายปี ไทยมีแผน แต่ก็ไม่ขึ้นเวทีชกจริงๆ จังๆ กระทั่งระยะหลัง มียุทธศาสตร์ ออกอาวุธบ้าง แต่ดูเหมือนจะห่างไกลนานาประเทศ

++ กัญชงกัญชา พืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต 

ถือเป็นความร้อนแรงต่อเนื่อง สำหรับความหวังของผู้ประกอบการที่จะมี ผลิตภัณฑ์กัญชากัญชง ตลอดจนกระท่อมออกสู่ตลาด สร้างขุมทรัพย์ทางธุรกิจมูลค่ามหาศาล การปลดล็อกกัญชากัญชง กระท่อมออกจากยาเสพติดประเภท 5 ทำให้หลายบริษัทเตรียมกระบวนท่าทำตลาดเต็มที่ แต่ความล่าช้าของกฏหมาย ทำให้ “แสกน” ผู้เล่นตัวจริง เหลืออยู่ในตลาด จากแรกเริ่มหลายรายคึกคัก แต่ตอนนี้ หลายรายแตะเบรก รอดูความชัดเจน

++ องค์กรใหญ่ ปรับทัพ “ผู้นำ” 

เป็นปกติเมื่อเก่าไป ใหม่ย่อมมาแทนที่ ในโลกธุรกิจการตลาด ปี 2565 หลายบริษัทปรับโครงสร้างการบริหาร เปลี่ยนแม่ทัพจากหลายสาเหตุ เช่น องค์กร 89 ปี “บุญรอดบริวเวอรี่” ที่สูญเสีย “จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี” จากอาการป่วย ทำให้ต้องมี “ผู้นำใหม่” ซึ่งก็คือ “ภูริต ภิรมย์ภักดี” ซีอีโออายุน้อยสุดของตระกูล “ภิรมย์ภักดี” มาขับเคลื่อนองค์กรแสนล้าน ขณะที่ “ไทยเบฟเวอเรจ” เขย่าโครงสร้าง “นิวเจน” ขึ้นทำหน้าที่สำคัญ ส่วนผู้อาวุโส ถอยเป็นกุนซือ วางมือบ้าง และยังมีการปรับ 6 หน่วยงานธุรกิจ เพื่อเตรียมพร้อมบริหารสู่ระดับอาเซียน

“เครือสหพัฒน์” บางธุรกิจสับเปลี่ยนมือโยกแม่ทัพ เมื่อ “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ในฐานะประธานเครือสหพัฒน์ เข้าไปรับตำแหน่ง ประธานกรรมการ บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง ทำหน้าที่กุนซือให้ลูกหลาน ทายาทธุรกิจแทน “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ที่ลาออก

รวมถึงการลาออกจากตำแหน่ง ประธานกรรมการ บมจ. ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ หรือ TFMAMA หรือผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเบอร์ 1 “มาม่า” โดยมี “พิพัฒ พะเนียงเวทย์” รับตำแหน่งดังกล่าวแทน เป็นต้น

++ โมเดลธุรกิจใหม่

น่าสนใจไม่น้อยกับ “ท็อปส์ คลับ”ค้าปลีกโมเดล "เมมเบอร์ชิป สโตร์” ที่เดินตามรอย Costco มาถึงเมืองไทยเรียบร้อยแล้ว รวมถึง วงการทีวีดิจิทัลของไทยกำลังจะมีแพลตฟอร์มวัดเรทติ้งข้ามแพลตฟอร์ม พลิกวงการอีกครั้ง