จบตำนาน Hypermarket ไทย แล้ว Format อะไรจะมาแทน

จบตำนาน Hypermarket ไทย  แล้ว Format อะไรจะมาแทน

ช่วง 5 ปีนี้สมรภูมิการแข่งขันค้าปลีกไทยไซส์ใหญ่ “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” ออกอาการนิ่ง การค้าออนไลน์เข้ามาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้ออย่างมาก ประชากรไทยกว่า 80% เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ส่งผลต่อพฤติกรรมการจับจ่ายสินค้า “ราคาถูก” จึงไม่ใช่คำตอบในการเลือกซื้อเพียงอย่างเดียว

ไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) คือ ร้านค้าปลีกที่รวมห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าด้วยกัน ซึ่งมักจะเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่มาก โดยมีสินค้าหลากหลายประเภท เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นแหล่งชอปปิงแบบครบวงจร เรียกง่ายๆ ว่ามีทุกอย่างที่ผู้บริโภคต้องการ

โดยแนวคิดร้านค้าปลีกขนาดใหญ่นี้คือการจัดหาสินค้าทั้งหมดที่ผู้บริโภคต้องการในชายคาเดียวกัน/สถานที่เดียวกัน โดยไฮเปอร์มาร์เก็ตแบ่งโซนต่าง ๆ

จริงๆ แล้ว ไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) กับ ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (Supercenter) เป็นร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่รวมเอาหลักการของซูเปอร์มาร์เก็ตและดิสเคาท์สโตร์เข้าด้วยกัน เน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค คุณภาพปานกลาง ราคาประหยัด

เพียงแต่ “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” พัฒนามาจากแนวคิดของประเทศในแถบยุโรป ส่วน “ซูเปอร์เซ็นเตอร์” เป็นตามแนวคิดของประเทศสหรัฐอเมริกา

 

โดยปกติพื้นที่ของไฮเปอร์มาร์เก็ตจะมีขนาดกว่า 10,000 ตารางเมตร ใหญ่กว่า 6 เท่า ของขนาดซูเปอร์มาร์เก็ตและมีสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งสินค้าอื่นๆ จำหน่ายหลากหลายถึง 50,000 ชนิด

สิ่งที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตแตกต่างจากซูเปอร์มาร์เก็ต ก็คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตมีขนาดเล็กกว่ามาก และ มุ่งเน้นที่อาหารสด สัดส่วนหมวดสินค้า ประเภทอาหาร (Grocery + Fresh Food) ต่อ สินค้าทั่วไป (Softline + Hardline) จึงอยู่ราว 80 : 20

ในขณะที่ ไฮเปอร์มาร์ท ขนาดพื้นที่ใหญ่กว่ามาก สินค้ามีความหลากหลายทั้งชนิด ขนาด และราคาถูกกว่าสัดส่วนหมวดสินค้า ประเภทอาหาร (Grocery + Fresh Food) ต่อ สินค้าทั่วไป (Softline + Hardline) อยู่ที่ 55 : 45 ทำให้การบริหารการขายของไฮเปอร์มาร์เก็ตสลับซับซ้อนกว่าธุรกิจค้าปลีกทั่วไป ด้วยความที่ต้องบริหารต้นทุนให้ต่ำ ใช้ค่าใช้จ่ายน้อย โดยให้ลูกค้าบริการตนเอง

ปัจจัยสำคัญในการบริหารร้านค้าแบบ "ไฮเปอร์มาร์เก็ต" เป็นเรื่องการบริหารสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงเพื่อให้รอบการหมุนเวียนสินค้าสูงตาม

ทวนความจำเหตุการณ์สามยุคตลาดไฮเปอร์มาร์ทในเมืองไทย

++ ยุคบุกเบิก ตลาดไฮเปอร์มาร์ท แข่งขันเสรี

สถานการณ์ไฮเปอร์มาร์เก็ต ยุคเริ่มต้น ปี 2536 “กลุ่มเซ็นทรัล” นับเป็นเจ้าแรกที่เข้ามาบุกเบิกธุรกิจค้าปลีกประเภทนี้ที่สาขาแจ้งวัฒนะ ใช้ชื่อว่า “Big C Supercenter” เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต ชั้นบนเป็นดิสเคาท์สโตร์ ต่อมาใน ปี 2537 กลุ่ม CP หรือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เปิด “Lotus Supercenter” ในศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ด้วยพื้นที่กว่า 12,000 ตารางเมตร ในเวลาใกล้กัน คุณอนันต์ อัศวโภคิน Land & House ร่วมทุนกับกลุ่มผู้บริหารโรบินสันเดิมที่มีคุณมานิตย์ อุดมคุณธรรม และคุณปรีชา เวชสุภาพร ก็ได้ก่อตั้ง “Save One Supercenter” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต อย่างไรก็ตาม ภายหลังการควบรวมกิจการระหว่างเซ็นทรัลกับโรบินสัน Save One Supercenter ได้โอนมาให้กับ Big C เป็น Big C สาขารังสิต จนทุกวันนี้

ในปีถัดไป พ.ศ.2538 ห้างคาร์ฟูร์ (Carrefour) จากฝรั่งเศส ร่วมทุนกับเซ็นทรัล ตั้งบริษัท CENCAR บริหารค้าปลีกรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างเต็มตัว โดยสาขาแรกตั้งอยู่บนถนนสุขาภิบาล 3 (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นถนนรามคำแหง)

ขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีกท้องถิ่นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดก็ให้ความสนใจรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตและเริ่มขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง อาทิ Big King กลุ่มเมอรี่คิงส์, Save Co. ของกลุ่มเมเจอร์, เมโทร,T SQUARE กลุ่มตั้งฮั่วเส็ง อมรพันธุ์, เอดิสัน, เอ็กเซล, บิ๊กเบลล์, นิวเวิลด์, อิมพีเรียล และสยามจัสโก้

กล่าวได้ว่า ยุคนี้เป็นยุคบุกเบิกตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างแท้จริง การค้าขายเป็นไปอย่างเสรี โครงสร้างการแข่งขันที่สมบูรณ์ ผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมาก ทั้งทุนขนาดกลางและขนาดใหญ่ หลากหลายรูปแบบ ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 10,000 ตารางเมตร จนถึงขนาดเล็กราว 2,000-3,000 ตารางเมตร มุ่งชูจุดขายเรื่องราคาถูก มีทั้งไฮเปอร์มาร์ท แบบสากลเต็มรูปแบบ จนถึงไฮเปอร์มาร์ท แบบไทยๆ เน้นราคาถูกสุดๆ

เห็นได้ว่าพัฒนาการของไฮเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย ส่วนใหญ่อิงกับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นหลัก โดยลูกค้าเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มแม่บ้านที่มีกำลังซื้อระดับปานกลางจนถึงระดับล่างในการจับจ่ายซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและราคาสมเหตุสมผล ไม่สนใจแบรนด์เนม ซึ่งการที่ ไฮเปอร์มาร์เก็ตมีทั้งส่วนที่เป็นสินค้าบริโภคประจำวัน (Food) และส่วนที่เป็นสินค้าอุปโภคที่จำเป็น (General Merchandise) ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้เบ็ดเสร็จ อีกทั้งยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกมาบริการมากมาย อาทิ ที่จอดรถกว้างขวาง มีธนาคารเปิดให้บริการ มีโรงภาพยนตร์ ทุกอย่างเบ็ดเสร็จในที่เดียว จึงทำให้ค้าปลีกรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นที่นิยมอย่างมาก

++ ยุควิกฤติหลังต้มยำกุ้ง Hypermarket สายพันธุ์แข็งแกร่งอยู่รอด

หลังจากเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจใน ปี 2540 กลุ่มธุรกิจค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตของไทยเริ่มประสบปัญหาหนี้สินต่างประเทศอย่างรุนแรง โดยปัญหาดังกล่าวเกิดจากผู้ประกอบการขนาดกลางขยายกิจการด้านค้าปลีกและการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์เกินตัว 

เมื่อรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ภาระหนี้จึงเพิ่มกว่าเท่าตัว โครงสร้างธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย ทำให้ธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตเปลี่ยนไปเป็นของต่างชาติมากขึ้น หลังจากที่กฎหมาย ปว.281 อนุญาตให้นักลงทุนจากต่างชาติสามารถถือหุ้นในสัดส่วนมากกว่า 50% ทำให้ผู้ลงทุนต่างชาติกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และมีสิทธิ์ในการบริหารงาน นักลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบยุโรป

ปี 2540 ห้างท้องถิ่นอย่าง Save Co. Big King, Imperial, Tang Hua Seng และ ห้างขนาดกลางๆ เลิกกิจการ

ปี 2541 Lotus ขายกิจการให้ Tesco จากอังกฤษ และเปลี่ยนชื่อเป็น Tesco Lotus

ปี 2542 Central ขายหุ้นบริษัท Cen Car คืนให้กับ Carrefour

ปี 2545 Big C ร่วมทุนกับ Casino จากฝรั่งเศส

ปี 2546 Auchon ซึ่งมีอยู่สาขาเดียวที่เชียงใหม่ ขายกิจการให้ Big C

++ ยุค..Hypermarket จาก 3 เหลือแค่ 2

คาร์ฟูร์ (Carrefour) เป็นกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตจากฝรั่งเศส มีสาขาอยู่ทั่วโลก ถ้าคิดจากรายได้แล้ว คาร์ฟูร์จะเป็นกลุ่มค้าปลีกที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เป็นรองแค่เพียงวอลมาร์ต

คาร์ฟูร์ เปิดสาขาแรกเมื่อปี 2538 โดย 15 ปีผ่านไป คาร์ฟูร์ไม่อาจฉีกตัวเองให้โดดเด่นจากคู่แข่งที่แข็งแกร่งได้ คาร์ฟูร์เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มีการขยายสาขาช้าที่สุดในบรรดาผู้เล่นทั้งหมด และมีจำนวนสาขารั้งท้าย ถือเป็นรายที่ 3 ในจำนวนผู้เล่นทั้งหมด โดยมี Tesco Lotus เป็นอันดับหนึ่ง และ Big C เป็นอันดับสอง

ในปี 2553 คาร์ฟูร์ประกาศถอนการลงทุนออกจากประเทศไทยซึ่งเป็นตลาดค้าปลีกที่คาร์ฟูร์เข้ามาลงหลักปักฐานนานถึง 15 ปี แต่มีสาขาเพียง 45 สาขาเท่านั้นโดยขายกิจการไฮเปอร์มาร์เก็ตในไทยทั้งหมดให้แก่ Big C

อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 Casino Group ซึ่งเป็นหุ้นส่วนใหญ่และบริหาร Big C ตัดสินใจออกจากตลาด ประกาศขาย Big C ในประเทศไทย ทางกลุ่ม BJC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจ ปิดดีลเข้าซื้อกิจการ Big C มาจากกลุ่ม Casino Group ได้สำเร็จ ทำให้ไฮเปอร์มาร์เก็ตเหลือเพียงสองเจ้าในตลาดตอนนี้ แบ่งเป็นของกลุ่มทุนไทย (Big C) และกลุ่มทุนต่างชาติ (Tesco Lotus)

ความจริงที่น่าคิด? ทำไมยุคบุกเบิกมีผู้เล่นในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตมากกว่า 10 ราย ผ่านไป 2 ทศวรรษ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างทำให้ทางเลือกในการจับจ่ายซื้อสินค้าของผู้บริโภคลดลง จาก 10 กว่าราย เหลือเพียง 2 ราย เท่านั้น

++ ตำนานตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตกำลังจะจบลง

ตลอด 27 ปีที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตขยายสาขาเข้ามาในบ้านเรา จะใช้กลยุทธ์ด้านราคา เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายของคนไทยให้เข้ามาใช้บริการจนเกิดความเคยชิน มาถึงวันนี้ ประสบการณ์ในการ ช้อป กับไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เคยสร้างความตื่นตาในอดีตก็คือเรื่องของการขายสินค้าราคาถูกแบบ Everyday Low Price กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่มีความแปลกใหม่ไปแล้ว และเมื่อผู้บริโภคเริ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการจับจ่าย การมาที่ไฮเปอร์มาร์ทแล้วช้อปเป็นจำนวนมาก น่าจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการอีกต่อไปแล้ว เพราะมีการสร้างรูปแบบมากมายหลากหลายของร้านค้าปลีกที่ทำให้เข้าถึงการซื้อได้ง่ายขึ้นแบบทุกที่ทุกเวลา ทั้งรูปแบบที่เป็นร้านค้าปลีกขนาดเล็กกระจายเข้าไปในชุมชนต่างๆ

ช่วง 5 ปีนี้สมรภูมิการแข่งขันค้าปลีกไทยไซส์ใหญ่ “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” ออกอาการนิ่ง การค้าออนไลน์ที่มีส่วนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้ออย่างมาก ในวันนี้ ประชากรไทยสัดส่วนกว่า 80% เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ส่งผลต่อพฤติกรรมการจับจ่าย สินค้า “ราคาถูก” จึงไม่ใช่คำตอบในการเลือกซื้อเพียงอย่างเดียว แต่ต้องตอบโจทย์ความสะดวกและประสบการณ์ช้อปปิ้งที่ดี การที่จะมาใช้เวลาอยู่ในไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นเวลานาน อาจไม่ตอบโจทย์ ความถี่ในการมาจึงมีแนวโน้มลดลง

ดังนั้น ผู้ประกอบการไฮเปอร์มาร์เก็ตปัจจุบันจะโฟกัสจำหน่ายสินค้าที่เป็น “จุดแข็ง” ในกลุ่มอาหารสด (Grocery) สินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ส่วนสินค้าทั่วไป แฟชั่น เครื่องครัวเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งไม่ถนัด ก็จะลดพื้นที่ขายที่ลงปล่อยเป็น “ร้านค้าเช่า” หรือ ให้ร้านค้าอื่นมาเช่าแทน สถานการณ์จากการขายสินค้าหลากหลายหมวดหมู่กว่า 5-6 หมื่นรายการ ก็ลดลงเหลือเพียงหมื่นรายการ ไฮเปอร์เก็ตจึงกลายเป็น ซูเปอร์มาร์เก็ต + พื้นที่เช่า เพราะภายใน 5 ปีที่ผ่านมานั้น ผู้ประกอบการในไฮเปอร์มาร์เก็ตสามารถสร้างรายได้ค่าเช่าเติบโตกว่า 12% ต่อปี ในขณะที่รายได้จากยอดขายสินค้าเติบโตเพียง 1-2% ต่อปีเท่านั้น

อีกไม่นาน ไฮเปอร์มาร์ทคงเหลือเป็นเพียงตำนานแค่ให้เราจดจำเท่านั้น ซูเปอร์มาร์เก็ต + พื้นที่เช่า จะกลายเป็นรูปแบบหลักในการขยายสาขา