‘ไทย’ ส่งไม้ต่อประธานเอเปค ‘สหรัฐฯ’ หวังช่วยต่อยอด ‘บีซีจี’

‘ไทย’ ส่งไม้ต่อประธานเอเปค ‘สหรัฐฯ’ หวังช่วยต่อยอด ‘บีซีจี’

ปิดฉากการประชุมผู้นำเอเปค 19 พ.ย. 65 รับรองเอกสาร 2 ฉบับ "ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี ค.ศ.2022 และ เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขีย; BCG (Bangkok Goas)

ปิดฉากการประชุมผู้นำความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค2022) ไปแล้วเมื่อวันที่ 19พ.ย.2565 โดยที่ประชุมผู้นำได้รับรองเอกสาร 2 ฉบับ คือ

1.ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี ค.ศ.2022

2.เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG (Bangkok Goas)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งมอบตำแหน่งประธานเอเปคปี 2566 ให้กับสหรัฐ ในช่วงท้ายของการประชุมผู้นำเอเปคที่ผ่านมาที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2565 โดยพิธีส่งมอบการเป็นประธานครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบชะลอมที่เป็นสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของประเทศไทยให้กับนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ทำหน้าที่แทนผู้นำสหรัฐในการเข้าร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ

“ผมมีความยินดีที่จะส่งมอบตำแหน่งประธานเอเปคให้กับสหรัฐ เราพร้อมที่จะดำเนินความร่วมมือกับพวกเขาอย่างราบรื่นไร้รอยต่อ และมั่นใจว่าประเด็นด้านความยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งระบุในเป้าหมายกรุงเทพฯ ที่เราได้ร่วมกันวางรากฐานไว้เป็นอย่างดี จะได้รับการสานต่อในปีหน้า ภายใต้หัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของสหรัฐอเมริกา เชื่อมั่นว่าภายใต้การนำของสหรัฐ จะดำเนินการให้เอเปคได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างดี" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ในขณะที่นางแฮร์ริส ระบุในแถลงการณ์ที่ออกโดยทำเนียบขาว ว่า สหรัฐได้ยืนยันว่าสหรัฐพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีหน้า โดยจะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของสหรัฐต่ออินโด-แปซิฟิก รวมทั้งในแถลงการณ์ยังระบุว่าการประชุมผู้นำเอเปคที่ซานฟรานซิสโกจะจัดขึ้นในวันที่ 12 พ.ย.2566

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศทำงานต่อเนื่องหลังการประชุมผู้นำเอเปคที่ประเทศ เพื่อส่งไม้ต่อให้กับสหรัฐในการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2566 โดยกระทรวงการต่างประเทศเชื่อมั่นว่าเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคปีต่อไปยังให้น้ำหนักความสำคัญกับการขับเคลื่อน BCG ซึ่งการหารือกับคณะทำงานของสหรัฐที่จะเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2566 พบว่า สหรัฐจะเดินหน้าเรื่องนี้เต็มที่ 

ในขณะที่ปี 2567 ที่เปรูเป็นเจ้าภาพจะผลักดันการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่อยู่ในธุรกิจที่ไม่เป็นทางการ (Informal business) ที่มีสัดส่วนคิดเป็น 70% ของเศรษฐกิจเปรู และการประชุมในปี 2568 ที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ จะมีการรับลูกแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่ประเทศไทยคิกออฟแล้วในปี 2565 และมั่นใจว่าถูกส่งต่อจากเจ้าภาพเอเปคในปีถัดๆ ไป เพื่อผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเกาหลีใต้ที่เป็นผู้นำ Green Economy ในภูมิภาค

สำหรับ Bangkok Goals on BCG Economy ซึ่งรัฐบาลต้องการให้เป็นมรดกสำหรับสมาชิกเอเปคหลังจากจบการประชุมไปแล้ว โดย BCG เป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนา และการเติบโตในระยะยาวที่สมดุลยั่งยืนและครอบคลุมเศรษฐกิจบีซีจี โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ BCG เกี่ยวข้องกับการผลิตที่เน้นการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าที่มาจากทรัพยากร และวัตถุดิบชีวภาพที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดไป เศรษฐกิจหมุนเวียนมุ่งให้เกิดระบบการผลิตและการบริโภคสินค้า และบริการแบบฟื้นสร้างโดยมีการวางแผนตั้งแต่การออกแบบระบบที่ให้ความสำคัญกับการลดขยะและมลพิษในขณะเดียวกันก็พยายามใช้วัตถุดิบซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดสุดท้ายเศรษฐกิจสีเขียวส่งเสริมพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบ และโมเดลเศรษฐกิจที่ยั่งยืนซึ่งสร้างผลกำไรควบคู่ไปกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

 นอกจากนี้ ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี ค.ศ.2022 ได้ครอบคลุมการจัดทำ FTAAP ที่ในปีนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยจัดทำแผนงานต่อเนื่องหลายปีเพื่อขับเคลื่อนวาระ FTAAP ต่อไป ซึ่งจะช่วยสร้างศักยภาพและเตรียมเศรษฐกิจให้พร้อมสำหรับยุคหน้า รวมถึงประเด็นการค้าและการลงทุนยุคใหม่ เช่น ความยั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัล การค้า และสาธารณสุข

สำหรับการขับเคลื่อน FTAAP เป็นวาระที่ได้รับการสนับสนุนจากสภาธุรกิจเอเปค (ABAC) ซึ่งได้มีการหารือกับผู้นำเอเปคเมื่อวันที่ 18 พ.ย.2565 และเป็นหนึ่งในวาระที่ภาคธุรกิจต้องการให้ขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน ซึ่งจะเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ครอบคลุมตลาดที่มีประชากร 2,800 ล้านคน มี GDP คิดเป็นสัดส่วน 59% ของโลก ในขณะที่สัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับสมาชิกเอเปค แบ่งเป็นการค้าในเอเปค 69.8% และการค้านอกเอเปค 30.2%

รวมทั้งแผนงานขับเคลื่อน FTAAP มีระยะเวลา 4 ปี คือ ระหว่างปี 2566-2569 มีเป้าหมายตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ทั้งด้านการค้า การลงทุน นวัตกรรม การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็ง สมดุล ยั่งยืนและครอบคลุม โดยแผนงานดังกล่าวจะเปิดให้รวบรวมประเด็นที่สมาชิกเอเปคสนใจร่วมกัน ทั้งด้านการค้าดั้งเดิม การค้าใหม่ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังเกิดวิกฤติ ผ่านกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูล และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างสมาชิกเอเปค เพื่อเตรียมความพร้อมจัดทำ FTAAP และมุ่งสู่เป้าหมายผลลัพธ์สำคัญของ FTAAP