เปิดฉากภารกิจพลิกชีวิต SME พิชิตใจธุรกิจไทย | วาระทีดีอาร์ไอ

เปิดฉากภารกิจพลิกชีวิต SME พิชิตใจธุรกิจไทย | วาระทีดีอาร์ไอ

เชื่อว่าหลายท่านเคยมีประสบการณ์ “อิน” กับซีรีส์หรือภาพยนตร์รักที่กว่าจะ Happy Ending ได้ ต้องปาดเหงื่อลุ้น เอาใจช่วยให้ตัวเอก “เปลี่ยนลุค” หรือ “อัพเวล” เพื่อจะฝ่าฟันอุปสรรคและพิชิตใจตัวเอกอีกตัวจนได้

การออกแบบมาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชนก็คล้ายกับการเขียนบทซีรีส์รักดังกล่าว วันนี้เลยจะขอชวนท่านมาช่วยกันลุ้นและให้ความเห็นว่า

ซีรีส์ตามชื่อบทความเรื่องนี้ที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และทีดีอาร์ไอร่วมกันร่างบทไว้แล้วส่วนหนึ่ง จะทำให้ตัวเอกอย่าง SME สมหวังกับภาคธุรกิจไทยในการขายสินค้า/บริการให้แก่องค์กรธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหน  

ปมของเรื่องคือ SME ไทยถูกใจองค์กรธุรกิจหนึ่งและอยากเข้าไปเป็นคู่ค้าด้วย แต่ยังไม่กล้า ไม่มั่นใจ และยังอาจไม่ดีพอที่จะทำให้องค์กรธุรกิจนั้นตอบตกลงด้วย

หนทางแก้ปมให้ SME มีอยู่ 3 หนทางที่จะช่วยให้สมหวังได้

หนทางแรก คือ การ “เสริมเสน่ห์” พัฒนาขีดความสามารถของ SME ให้มีความพร้อมในการขายสินค้า/บริการ หนทางที่สอง คือ การสร้างเหตุการณ์ให้องค์กรธุรกิจ “ยอมเปิดใจ” มีแรงจูงใจในการซื้อสินค้า/บริการจาก SME

และ หนทางสุดท้าย คือ เพื่อนตัวเอกร่วมกัน “สร้างบรรยากาศชวนฟิน” ระบบนิเวศทางธุรกิจให้ตัวเอกทั้งสองเข้าอกเข้าใจกันแม้ในวันที่ต้องเจออุปสรรค

จากที่ สสว.และทีดีอาร์ไอได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนได้ศึกษาแนวทางปฏิบัติที่ดีของต่างประเทศ ทำให้ได้ 28 “ซีนชวนฝัน” หรือมาตรการสำหรับ 3 หนทางข้างต้น ที่จะทำให้ SME สามารถเข้าถึงและถูกใจภาคธุรกิจไทยได้

อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงและจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากตัวละครหลายฝ่าย ทั้ง 1) ผู้ซื้อ 2) SME 3) ซัพพลายเออร์ของ SME 4) ผู้ให้บริการทางธุรกิจ 5) แหล่งเงินทุน 6) หน่วยงานภาครัฐ และ 7) ลูกค้าที่ซื้อสินค้า/บริการจากองค์กรธุรกิจที่เป็นผู้ซื้อ

เพื่อให้ซีรีส์เรื่องนี้ใช้ทุนในการสร้างพอเหมาะและดำเนินเรื่องกระชับจึงหยิบ 11 มาตรการนำร่องที่ทำได้ทันทีและเห็นผลเร็ว (quick win) อีกทั้งเป็นประโยชน์ในวงกว้าง (high impact) มาเริ่มขับเคลื่อนกันก่อน หากไม่เพียงพอจึงจะทยอยนำมาตรการที่เหลือมาใช้ในซีซั่นถัดๆ ไป (ดูภาพประกอบ)

เปิดฉากภารกิจพลิกชีวิต SME พิชิตใจธุรกิจไทย | วาระทีดีอาร์ไอ

ยก 3 ตัวอย่าง ได้แก่มาตรการแรกใช้หนุนหนทาง “เสริมเสน่ห์” ให้ SME ที่จากเดิมเคยมีภาพว่ามักมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง  สามารถปรับมาเสนอราคาขายทัดเทียมกับคู่แข่งได้ดีขึ้น

ด้วยมาตรการให้ส่วนลดในการใช้บริการทางธุรกิจแก่ SME ผ่านระบบ Business Development Service (BDS) ที่ดำเนินการโดย สสว. เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของ SME ให้มีความพร้อมในการขายสินค้า/บริการ 

มาตรการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมาช่วยลดต้นทุนด้านต่างๆ ในการประกอบธุรกิจของ SME เช่น การตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน การทดสอบทางห้องปฏิบัติการ การจัดทำบัญชี/สอบบัญชี การจ้างที่ปรึกษา ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้ SME  เสนอราคาขายทัดเทียมกับคู่แข่งได้

อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการนี้อาจพบกับความท้าทายอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสรรหา “นักแสดงฝีมือดี” ในแต่ละด้านมารับบทเป็นผู้ให้บริการทางธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของ SME ได้ 

เปิดฉากภารกิจพลิกชีวิต SME พิชิตใจธุรกิจไทย | วาระทีดีอาร์ไอ

ตัวอย่างมาตรการต่อมาเป็นการทำให้ภาคธุรกิจ “ยอมเปิดใจ” สร้างแรงจูงใจให้เกิดการซื้อสินค้า/บริการจาก SME โดยให้องค์กรธุรกิจที่ซื้อสินค้า/บริการจาก SME สามารถสะสมแต้ม เพื่อรับสิทธิประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น

1) รางวัลเป็นสินค้า/บริการจาก SME

2) ส่วนลดค่าสินค้า/บริการจาก SME หรือ

3) ส่วนลดเพิ่มเติมในการใช้บริการทางธุรกิจผ่านระบบ BDS ซึ่งระบบการสะสมแต้มนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครนำมาใช้  

ดังนั้นหากเราจะเป็นผู้บุกเบิก ก็จำเป็นต้องช่วยกันออกแรงคิดหาแนวทางดำเนินการที่เหมาะสมรัดกุม ไม่ว่าจะเป็น ระบบการคิดคำนวณและตรวจสอบแต้มที่ สสว. ซึ่งมีฐานข้อมูลว่าผู้ขายรายใดเป็น SME บ้าง จะต้องเชื่อมโยงกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการจัดซื้อจัดจ้าง

ผู้ให้บริการฯ ซึ่งมีฐานข้อมูลธุรกรรมการซื้อขาย ตลอดจนสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขในการสะสมและการแลกแต้มที่สามารถ “มัดใจ” ผู้ซื้อแต่ละกลุ่มที่มีรูปแบบ ลักษณะ และความต้องการในการจัดซื้อจัดจ้างแตกต่างกันให้ซื้อสินค้า/บริการจาก SME มากขึ้น

ตัวอย่างมาตรการสุดท้ายเป็นการสร้างระบบนิเวศ หรือ “สร้างบรรยากาศ” ที่ช่วยอำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพ และลดภาระที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน ให้กับทั้ง SME และองค์กรธุรกิจที่เป็นผู้ซื้อ

เปิดฉากภารกิจพลิกชีวิต SME พิชิตใจธุรกิจไทย | วาระทีดีอาร์ไอ

โดยการส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มการจัดซื้อจัดจ้างแบบครบวงจร  ซึ่งประกอบด้วยระบบประเมินและคัดเลือกผู้ขายตามหลักเกณฑ์/ความต้องการของผู้ซื้อ ระบบบริหารจัดการคำสั่งซื้อ ระบบเรียกเก็บเงิน ระบบชำระเงิน ไปจนถึงระบบวิเคราะห์ประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้าง  

หากมีครบ จะทำให้ SME รู้ถึงระดับความสามารถของตนเองในการเสนอขายให้องค์กรธุรกิจระดับต่างๆ และช่วยลดต้นทุนและข้อผิดพลาดในการจัดเตรียมเอกสาร การจัดทำใบแจ้งหนี้/ใบกำกับภาษี ไปจนถึงการกระทบยอดบัญชี 

ในอีกด้านหนึ่ง องค์กรธุรกิจที่เป็นผู้ซื้อก็จะสามารถคัดเลือกคู่ค้าที่เหมาะสมตอบโจทย์ความต้องการของตนได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งมีต้นทุนและข้อผิดพลาดลดลงในการบริหารจัดการคำสั่งซื้อและชำระเงินให้กับคู่ค้า

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญของการพัฒนาแพลตฟอร์มแบบครบวงจร อยู่ที่ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างมักเป็นความลับทางการค้า ซึ่งผู้เกี่ยวข้องอาจพบกับความยุ่งยากในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562

นอกจากนี้ การเชื่อมโยงแพลตฟอร์มที่มีอยู่เข้ากับระบบ PromptBiz ของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางในการชำระเงินดิจิทัลระหว่างธุรกิจนับเป็นเรื่องใหม่ที่ผู้ประกอบการต้องศึกษาเพิ่มเติม

คงต้องดูกันว่า เมื่อซีรีส์เรื่องนี้เปิดฉากฉายจริงแล้ว มาตรการที่มีการนำไปปฏิบัติเหล่านี้จะ “ปัง” อย่างที่หวังไว้หรือไม่ แต่ไม่ว่าอย่างไร สสว. และทีดีอาร์ไอจะเตรียมพร้อมเสมอหากต้องมีการปรับแก้บทให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
ท่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม 28 มาตรการสามารถอ่านได้ที่ https://tdri.or.th/2022/08/corporate-procurement/ 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความสร้างโอกาสให้แก่ SME ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชนภายใต้การศึกษา เรื่อง "แนวทางการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน (Corporate Procurement)"  โดย ทีดีอาร์ไอ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
คอลัมน์ วาระทีดีอาร์ไอ
ณัฐวุฒิ ลักษณาปัญญากุล
ยศ วัชระคุปต์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  (TDRI)