เปิดฉาก APEC ไทยดัน Bangkok Goals หนุนผู้นำเคาะเปิดเจรจา FTA ร่วมกัน

เปิดฉาก APEC ไทยดัน Bangkok Goals หนุนผู้นำเคาะเปิดเจรจา FTA ร่วมกัน

สัปดาห์เอเปค เริ่มแล้ว 14-19 พ.ย.นี้ เปิดฉากเริ่มเจรจา ยกร่างเป้าหมายกรุงเทพฯ Bangkok Goals on BCG พร้อมประชุมรัฐมนตรีเอเปค หนุนการค้าการลงทุน ดันเจรจา FTA เผยซีอีโอระดับโลกตบเท้าร่วม CEO Summit ทั้ง PwC , Google , Johnson & Johnson , ExxonMobil พร้อมซีอีโอไทย “ซีพี-ปตท.”

การประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย.2565 โดยการประชุมครั้งนี้ประเทศไทยจะผลักดัน Bangkok Goals on BCG Economy ซึ่งรัฐบาลต้องการให้เป็นมรดกสำหรับสมาชิกเอเปคหลังจากจบการประชุมไปแล้ว ก่อนจะส่งต่อให้กับสหรัฐเจ้าภาพปีหน้า

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุม ASEAN Global Dialogue ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม ASEAN Summit ที่ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2565 ว่า ประเทศไทยในฐานะประธานเอเปค ไทยได้กำหนดแนวคิดหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” มีแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เป็นพื้นฐาน ส่งเสริมความร่วมมือนำไปสู่การเติบโต เน้นสร้างสมดุล มากกว่าสร้างผลกำไร ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม 

ทั้งนี้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเน้นการสร้าง “ความสมดุลของสรรพสิ่ง” ไทยขับเคลื่อนผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งได้แก่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ลดความสูญเสีย และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ

สำหรับการประชุมที่เกี่ยวข้องกับเวทีผู้นำเอเปคครั้งนี้ เริ่มต้นที่การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคเพื่อยกร่างเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bangkok Goals on BCG Economy ในวันที่ 14 พ.ย.2565 และจากนั้นในวันเดียวกันนายกรัฐมนตรี จะเป็นนิทรรศการ BCG ที่ถือเป็นการคิกออฟวาระดังกล่าว

อีกไฮไลท์จะเป็นการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting : AMM) ในวันที่ 16-17 พ.ย.2565 โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นประธานร่วมกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยเป็นการประชุมในหัวข้อ “การเติบโตอย่างสมดุล ครอบคลุมและยั่งยืน” ซึ่งเน้นหารือ BCG Economy Model 

รวมทั้งจะมีการนำเสนอแผนงานการขับเคลื่อนสู่การจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific : FTAAP)เพื่อให้ที่ประชุมเห็นชอบออกเป็นแถลงการณ์ ซึ่งจะกำหนดเป้าหมายการทำงานของเอเปคในเรื่องดังกล่าว เพื่อเสนอผู้นำเอเปค กำหนดเป้าหมายการทำงานของเอเปค โดยปัจจุบันสมาชิกเอเปคอยู่ระหว่างการจัดทำแผนงาน FTAAP ซึ่งจะเป็นแผนระยะ 4 ปี ระหว่างปี 2566-2569 มุ่งสู่การจัดทำ FTAAP ที่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกทั้งด้านการค้า การลงทุน นวัตกรรม การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็ง สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม

ในขณะที่การจัดงาน APEC CEO Summit 2022 ระหว่างวันที่ 16 -18 พ.ย.2565 เป็นหนึ่งในกิจกรรมคู่ขนานไปกับการเวทีเอเปค จะมีผู้บริหารจากทั่วโลกมาร่วมแสดงความเห็นทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น ประธาน บริษัท PwC  , ประธาน World Economic Forum (WEF) ที่มาพูดในหัวข้อ “THE GLOBAL ECONOMY AND THE FUTURE OF APEC” 
 

ด้านเวทีเปิดเรื่องการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ธุรกิจและสังคม จะมีประธานาธิบดีเปรู ร่วมพูดคุยกับผู้บริหารจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB และผู้บริหารจาก  MUFGA

ขณะที่เวทีด้านการส่งเสริมการเติบโตและพัฒนาร่วมกันในเอเปค จะมีนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ผู้บริหาร Google และนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธาน บริษัท โตชิบา ประเทศไทย จำกัด ร่วมเวที 

ถัดมาที่หัวข้อที่เกี่ยวกับการคิดใหม่ด้านการดูแลสุขภาพหลักการระบาดโควิด จะมีนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และผู้แทนประเทศไทย องค์การอนามัยโลก (WHO) ผู้บริหารบริษัท Johnson & Johnson ซึ่งเวทีนี้มีบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)ร่วมด้วย 

ส่วนหัวข้อ ทิศทางวิกฤติการณ์โลก (NAVIGATING A TURBULENT WORLD)  การสร้างความเท่าเทียมด้านเพศ จะมีผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ และผู้บริหารชาวไทย อย่างนางนวลพรรณ ล่ำซำหรือ CEO บริษัทเมืองไทย ประกันภัย จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้  งาน APEC CEO Summit 2022 ได้ดำเนินการบนธีมการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้เวที DECARBONIZATION STRATEGIES FOR THE REGION มีความน่าสนใจ โดยนายกรัฐมนตรีแคนานา ประธาน ด้านการแก้ปัญหาสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำ จาก ExxonMobil จะร่วมพูดคุยกัน  

ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับอาหาร อย่าง “MEETING THE WORLD’S FOOD SECURITY CHALLENGE” นั้นจะมีตัวแทนจากลุ่ม Greenpeace,มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกลุ่ม ซีพี 

ปิดท้ายด้วย การพูดคุย DIGITALIZATION AND THE NEXT NORMAL โดยมีผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Grab ซีอีโอ จาก Acer และผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย