กกร. ชี้น้ำท่วมเสียหายหมื่นล้าน ท่องเที่ยวฟื้นดัน GDP ปีหน้าไม่ต่ำกว่า 4%

กกร. ชี้น้ำท่วมเสียหายหมื่นล้าน ท่องเที่ยวฟื้นดัน GDP ปีหน้าไม่ต่ำกว่า 4%

กกร. ประเมิน น้ำท่วมเสียหายหนัก 1 หมื่นล้าน ภาค “เกษตร-อุตสาหกรรม” ยังรับไหวไม่หนักเท่าปี 2554 มั่นใจจีดีพีไทยปีนี้โต 3.0-3.5% ระบุ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นดีนจีดีพีปี 2566 ไม่ต่ำกว่า 4%

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยภายหลังประชุม กกร.ว่า ที่ประชุมมีมติปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565  ขยายตัว 3.0-3.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกคาดว่ายังขยายตัวได้ในกรอบ 7-8 % และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 6.0-6.5%  เพิ่มจากรอบก่อนเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2565 ที่ประชุม กกร. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ซึ่งจะขยายตัวได้ในกรอบ 2.75-3.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกคาดว่ายังขยายตัวได้ในกรอบ 6-8% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 5.5-7.0%

ย่างไรก็ตาม จากการที่ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีกว่าที่คาดไว่ปีก่อน 4 แสนคน ส่วนปีนี้พุ่งถึง 9-10 ล้านคน ปีหน้าคาดว่าจะถึง 20 ล้านคน ซึ่งยังไม่รวมจีน หากเปิดประเทศจะเข้ามาไม่ต่ำกว่า 6 แสนคน ปีหน้าคาดการณ์ว่าจีดีพีมีโอกาสเติบโตถึง 4%ได้ โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนส.ค.อยู่ที่ 1.17 ล้านคน คาดว่าไตรมาสสุดท้าย ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินปัจจัยเศรษฐกิจโลกชะลอตัวชัดเจนมากกว่าที่คาด จากผลกระทบของสงครามและปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ โดยเฉพาะปัญหาจากการโจมตีท่อส่งและการระงับส่งก๊าซของรัสเซียซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อวิกฤตพลังงานและความเสี่ยงการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังเผชิญข้อจำกัดจากปัญหาการขาดแคลนพลังงานและการล็อกดาวน์

ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งเดินหน้าดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด สวนทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะ Fed ที่ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลดลง ซึ่งมีแนวโน้มทำให้ภาพอุปสงค์ของโลกมีการชะลอตัวลง

ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มยืนอยู่ในระดับสูง แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะลดลงอยู่ที่ 90 ดอลลาร์ต่อบาเรล แต่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มยืนอยู่ในระดับสูง เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าปรับตัวสูงขึ้นจากเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับบาทละ 38 ดอลลาร์

“ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังไม่สามารถลดลงได้มากนัก ขณะที่ค่าไฟฟ้ามีการปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย. 2565 รวมถึงการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ล้วนเป็นปัจจัยกดดันต้นทุนของผู้ประกอบการที่จะต้องส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการต่อไป”

ทั้งนี้ กกร. ได้มีการหารือถึงประเด็นเร่งด่วนในการขับเคลื่อน Competitiveness เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาโดดเด่นและแข่งขันหลังจากไทยถูกลดระดับมา 5 อันดับ จาก 28 มาเป็น อันดับที่ 33  ของโลก จะหารือกับภาคเอกชนแต่ละกลุ่มธุรกิจเพื่อระดมสมองรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจในปีหน้า พร้อมกับสร้างแนวทางความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วม ปี 2565 ในช่วงที่ผ่านมา คาดการณ์ความเสียหายรวมทั้งประเทศ ประมาณ 5,000 – 10,000 ล้านบาท ภาคเอกชนมีความห่วงใยในพื้นที่โซนเมืองในหลายจังหวัด ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจกระทบต่อความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของประชาชน ขณะที่ภาคการเกษตรได้ผลกระทบบ้างในพื้นที่เพาะปลูกข้าว แต่ไม่กระทบข้าวนาปี ส่วนภาคอุตสาหกรรมผู้ประกอบการ ยังมีความมั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านอุทกภัยได้จึงยังไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจมากนัก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นที่เอกชนกังวลเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นเรื่องที่ต้องรีบเร่งในการแก้ไขโดยภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกันในการแก้ไขกฎหมาย (กิโยติน) ที่เป็นอุปสรรคและเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ อย่างจริงจังเพราะเรื่องนี้มีความสำคัญมากในสายตาของต่างชาติ และกังวลเรื่องต้นทุนพลังงานค่าไฟฟ้าของเราที่ปรับสูงขึ้นจากกระทบกับความสามารถในการแข่งขันเพราะแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และในเดือนนี้เรายังมีการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำซึ่งกระทบกับต้นทุนของเอกชนด้วย

“สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ ภาคอุตสาหกรรมยังสามารถรับมือสถานการณ์ได้ไม่กระทบรุนแรงเท่ากับปี 2554 จากการที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขนาดนี้เขื่อนหลัก ๆ ยังมีความสามารถที่จะรองรับน้ำได้อีก 20% ของความจุ โดยผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมก็มีประสบการณ์และมีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี สิ่งที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้น้ำรถลงโดยเร็วที่สุดซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำ”

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันภาครัฐจะต้องร่วมทำงานกับเอกชนอย่างใกล้ชิดโดยต้องนำเอากลุ่มต่าง ๆ ที่มีผลกระทบกับความสามารถในการแข่งขันมาพิจารณาและแก้ไขกฎระเบียบที่ส่งผลต่อการลงทุนนอกจากนี้ยังต้องพัฒนาดิจิตอลอีโคโนมี่เพื่อให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น

สำหรับการเป็นเจ้าภาพ APEC ในช่วงปลายปีของประเทศไทย ภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนรัฐบาลในการจัดประชุมให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งในส่วน กกร. ที่รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ABAC 2022 ระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2565 และการประชุม APEC CEO Summit 2022 ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 ณ Athenee Hotel, a Luxury Collection Hotel, Bangkok โดยยืนยันความพร้อมในทุกมิติ และจะมีการประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าให้รับทราบเป็นระยะต่อไป