กกร. มองเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว โอกาสส่งออกไทยโต

กกร. มองเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว โอกาสส่งออกไทยโต

กกร. มองเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ชี้ความขัดแย้งจีน-ไต้หวัน ส่งผลดีต่อการส่งออกไทย เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ท่องเที่ยวไทยครึ่งปีหลังคึกคัก

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนสิงหาคม 2565 โดยมี นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานร่วมในการประชุม ประกอบด้วย

1. เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวชัดเจนขึ้น เห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 2 โดยเศรษฐกิจของสหรัฐฯหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรก และจีนขยายตัวต่ำกว่าประมาณการค่อนข้างมาก ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกลงสู่ 3.2% ในเดือน ก.ค. จาก 3.6% ในเดือน เม.ย. จากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจนกระทบครัวเรือนและภาคธุรกิจ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารกลาง และผลข้างเคียงต่อห่วงโซ่อุปทานจากมาตรการ Zero COVID ที่เข้มงวดของจีน เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งตัวเลขการส่งออกเดือน มิ.ย. ชี้ให้เห็นว่า การส่งออกไปประเทศเศรษฐกิจหลักเริ่มแผ่วลงบ้างแล้ว

2. เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 5.6% ซึ่งสูงกว่าภาวะปกติที่ 1-3% มาก และคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งการปรับขึ้นราคาสินค้าที่เริ่มกระจายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น นอกจากนั้นหากมีการปรับขึ้นค่าไฟในงวด ก.ย.-ธ.ค. ก็จะเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อให้เร่งตัวขึ้นได้อีก ซึ่งเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะกระทบอำนาจซื้อภาคครัวเรือนและต้นทุนของภาคธุรกิจ

3. การท่องเที่ยว และมาตรการภาครัฐเป็นแรงส่งเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวชัดเจนขึ้น โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหลังยกเลิกมาตรการ Thailand Pass คาดว่ามีโอกาสแตะระดับ 7-8 ล้านคน ประกอบกับยังมีแรงหนุนกำลังซื้อจากมาตรการภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 5 ที่คาดว่าจะกระตุ้นการใช้จ่ายได้ประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท หรือราว 0.2% ของ GDP ซึ่งจะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศและภาวะเงินเฟ้อที่กระทบอำนาจซื้อ 

4. ที่ประชุม กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยยังโตได้ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยที่ประชุม กกร. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ซึ่งจะขยายตัวได้ในกรอบ 2.75% ถึง 3.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกคาดว่ายังขยายตัวได้ในกรอบ 6.0% ถึง 8.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 5.5% ถึง 7.0% 

โดยกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 ของ กกร. โดย GDP เดือน มิ.ย. อยู่ที่ 2.5-4.0 เดือน ก.ค. อยู่ที่ 2.75-3.5 และเดือน ส.ค. อยู่ที่ 2.75-3.5, ส่งออกเดือนมิ.ย. อยู่ที่ 3.0-5.0 เดือน ก.ค. อยู่ที่ 5.0-7.0 และเดือน ส.ค. อยู่ที่ 6.0-8.0 ส่วนเงินเฟ้อ เดือนมิ.ย. อยู่ที่ 3.5-5.5 เดือนก.ค. อยู่ที่ 5.0-7.0 และเดือนส.ค. อยู่ที่ 5.5-7.0
สำหรับประเด็นสำคัญที่หารือในการประชุมกกร. ประกอบด้วย
1.  ด้านการขับเคลื่อนประเทศ ในที่ประชุมกกร.วันนี้ได้รับเกียรติจากหม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และผู้แทนการค้าไทย มาให้ข้อมูลทิศทางการขับเคลื่อนการฟื้นตัวประเทศ เพื่อให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน คือ Better and Green Thailand 2030 ที่ประกอบ ด้วย 5 มาตรการหลัก 

-  ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม EV โดยมีเป้าหมายสร้าง GDP 2.1 แสนล้านบาท 
-  Smart Electronics โดยมีเป้าหมายสร้าง GDP 5 แสนล้านบาท
-  ดึงดูดชาวต่างชาติ ที่มีศักยภาพสูงด้วยให้วีซ่าระยะยาว 10 ปี (LTR) โดยมีเป้าหมายสร้าง GDP 1 ล้านล้านบาท
-   อุตสาหกรรม Digital (Data Center and Cloud Service) โดยมีเป้าหมายสร้าง GDP 1 แสนล้านบาท
-  Soft Power  โดยมีเป้าหมายสร้าง GDP 3 หมื่นล้านบาท

ซี่งมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ เช่น การเปิดใช้วีซ่าระยะยาว 10 ปี (LTR) และการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ หากสามารถผลักดันให้สำเร็จ จะเป็นผลดีกับประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งช่วยสร้าง GDP ได้ถึง 1.7 ล้านล้านล้านบาท และการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 6.25 แสนตำแหน่ง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 13% ภายในปี 2030สอดคล้องกับที่ประชุมกกร. ที่มองว่ามาตรการดังกล่าวเป็นเรื่องจำเป็นในการช่วยขับเคลื่อนประเทศในอนาคตเช่นเดียวกัน จึงเห็นด้วยและพร้อมให้การสนับสนุนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทย เพื่อมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้จุดแข็งของประเทศไทยในเรื่องของพลังงานสะอาดในการดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตมากขึ้น ดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่มีกำลังซื้อคุณภาพให้เข้ามาใช้จ่ายในประเทศ

2. นอกจากนี้ จากการที่ กกร. ได้มีการหารือร่วมกับทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยและนักธุรกิจญี่ปุ่น ในหลายมิติที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนและการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกในการขอ Business Visa สำหรับนักธุรกิจที่จะเข้ามาติดต่อธุรกิจระยะสั้นในไทย เช่น การเข้ามาเจรจาธุรกิจ การเข้ามาทำนิติกรรมสัญญาทางธุรกิจ เป็นต้น ซึ่ง กกร. เห็นด้วยกับแนวทางการปรับปรุงการขอ Business Visa เช่น การนำระบบ E-Visa มาใช้ในการยื่นเอกสาร Business Visa สำหรับนักธุรกิจที่จะเข้ามาติดต่อธุรกิจระยะสั้นในไทย การปรับลดเอกสารในการพิจารณา และลดระยะเวลาในการพิจารณา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติ สอดคล้องกับการที่ไทยมีการยกเลิก Thailand Pass ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา ซึ่งถือเป็นการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทยครั้งใหญ่ กระตุ้นการท่องเที่ยวและเป็นการเปิดประเทศอย่างสมบูรณ์

3.   ด้านแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศภายหลังธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และค่าธรรมเนียม FIDF ที่ประชุมกกร.เห็นว่า มีความสอดคล้องกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจ รวมถึงแนวทางของนโยบายการคลังและความจำเป็นในการรักษาสมดุลด้านนโยบายในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยกำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก

4.  สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 ธนาคารกลางเมียนมา (Central Bank of Myanmar: CBM) ได้ออกคำสั่งให้บริษัทและผู้กู้ยืมเงินรายย่อยระงับการจ่ายหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่   
เจ้าหนี้ต่างประเทศ รวมทั้งครอบคลุมการทำธุรกรรมในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรักษาปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลงต่อเนื่องนั้น กกร. พบว่า การค้าระหว่างไทย – เมียนมา ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2565 ขยายตัวต่อเนื่อง มูลค่าการค้าอยู่ที่ 118,900.61 ล้านบาท โดยคิดเป็นการค้าชายแดนร้อยละ 91.64 ของมูลค่าการค้ารวม เป็นอันดับ 2 ของการค้าชายแดนไทย และหากพิจารณาถึงผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าว จะสามารถแบ่งกลุ่มธุรกิจเป็น 2 ส่วน ดังนี้
1.  ด้านการค้าระหว่างไทย – เมียนมา (Trading Business) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
•  กลุ่มธุรกิจการค้าชายแดน (Border Trade) ยังไม่ได้รับผลกระทบ 
•  การค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีการค้าขายด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ 
2.  ด้านอุตสาหกรรมที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา (Investment) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
•  กลุ่มการลงทุนทางตรง (FDI) หากเป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงินในไทยเป็นเงินบาท จะไม่ได้รับผลกระทบ 
•  กลุ่มการลงทุนภายใน หมายถึง บริษัทที่ลงทุนในเมียนมาอยู่แล้ว และได้นำผลกำไรที่เกิดขึ้นมาลงทุนขยายธุรกิจต่อ กลุ่มนี้จะไม่ได้รับผลกระทบใด

5.  ตามที่มีการประชุม ABAC ครั้งที่ 3 ประเทศเวียดนาม ซึ่งประเทศไทยเป็นประธานการจัดงาน ABAC 2022 นั้น กกร.จะมีกำหนดการแถลงข่าวการเข้าร่วมประชุมดังกล่าวในวันที่ 4 สิงหาคม 2565 เวลา 10.30 น. ณ โรงแรม มณเฑียร สุรวงศ์ กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอสรุปผลการประชุมต่อไป