บทเรียนเจ๊ง! จากทีวี “วู้ดดี้เวิลด์” ลุยครีเอเตอร์ เสิร์ฟออนไลน์

บทเรียนเจ๊ง! จากทีวี  “วู้ดดี้เวิลด์” ลุยครีเอเตอร์ เสิร์ฟออนไลน์

ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงไปมาก นับวันสื่อใหม่(New Media)บนโลกออนไลน์สารพัดแพลตฟอร์ม เข้ามาแย่งชิงเวลาชีวิตผู้บริโภคมากขึ้น และยังเป็นสื่อทรงพลังสำหรับการทำตลาด เจาะกลุ่มเป้าหมายอย่างมาก

“วู้ดดี้เวิลด์” หนึ่งในผู้สร้างสรรค์รายการ ผลงานมากมายสู่สายตาผู้ชม ซึ่งอดีตหลายรายการเรทติ้งสูง เป็นกระแสอย่างมาก ทว่าเมื่อคนดูทีวี ชมรายการออกอาศสดลดน้อยลง หันไปดูคอนเทนท์บนโลกออนไลน์ บริษัทจึงปรับตัวตามกระแสความเปลี่ยนแปลง

ทว่า บางช่วงเวลาบริษัทยังอ่านเกมการตลาดว่าหากทำรายการป้อนทีวียังมีคนดู จึงซื้อลิขสิทธิ์รายการทอล์กโชว์หรือการสัมภาษณ์ฟอร์แมทระดับโลกอย่าง “The Ellen DeGeneres Show” มาสู่รายการ “วู้ดดี้ โชว์” (WOODY SHOW) ผลปรากฏว่าลูกค้าไม่ตอบรับในการซื้อโฆษณาแต่อย่างใด

“เราเทหมดหน้าตัก ปิดทุกกิจการที่ป้อนทีวี หันมาทำออนไลน์ เพราะหากไม่กระโดดสู่ออนไลน์จะไม่เข้าใจตลาดอย่างแท้จริง ผลิตคอนเทนท์ป้อนออนไลน์หลายปี ยังบ้าจี้กลับไปทำรายการทีวี ซึ่งคิดว่าจะดีหรือน่าจะเวิร์ก จึงซื้อลิขสิทธิ์ The Ellen Show มาทำ แต่แค่ 8 เดือน ถึง 1 ปี เจ๊งไม่เป็นท่า ลูกค้าไม่เข้า เพราะรูปแบบทอล์กโชว์ในทีวี ไม่เกิดแล้ว” วุฒิธร มิลินทจินดา ผู้ปลุกปั้น บริษัท วู้ดดี้ เวิลด์ จำกัด เล่าเรื่องราวผ่านเวที GroupM Focal 2022

ทั้งนี้ การทำรายการทอล์กโชว์ออกอากาศทางทีวียุคปัจจุบัน จะได้ลูกค้า รูปแบบไม่ใช่แค่การดึงคนดัง ที่อยู่ในกระแสมาสัมภาษณ์แบบเดิม แต่เปลี่ยนไปเพื่อโยงเข้าหาการขายสินค้ามากขึ้น เช่น หน้าตาสดใส ใช้สินค้าอะไร แล้วนำเสนอผลิตภัณฑ์แบรนด์ต่างๆโปรโมทผ่านรายการ

เมื่อ “ทีวี” ไม่ใช่พื้นที่ทำเงิน หารายได้โฆษณาจากการนำเสนอคอนเทนท์ การบุกออนไลน์เต็มสูบ คือคำตอบ ซึ่งการนำเสนอเนื้อหา รวมถึงสัมภาษณ์ในยุคปัจจุบันต้อง “สั้น” ขึ้น ทำรายการ 1 นาที หรือ 3 นาทีให้ได้ ยิ่งกว่านั้นบริษัทเคยเจอการพูดคุยสั้นๆ 15 วินาทีมาแล้วด้วย

บทเรียนเจ๊ง! จากทีวี  “วู้ดดี้เวิลด์” ลุยครีเอเตอร์ เสิร์ฟออนไลน์

“พอเปลี่ยนมาสร้างสรรค์คอนเทนท์ออนไลน์ เราต้องเล่าเนื้อหาที่สั้นขึ้น สวัสดีครับท่านผู้ชม จะถูกตัดทิ้ง หรือกลับมาเจอกันใหม่สัปดาห์หน้า ไม่เกิดอีกต่อไป อนาคต 2-3 ปีข้างหน้า การสัมภาษณ์จะสั้นลงมาก”

ปัจจัยดิจิทัล ดิสรัปชั่นอาจเคยเป็นตัวแปรใหญ่กระผู้ประกอบการวงการทีวี แต่อีกตัวเร่ง หนีไม่พ้นวิกฤติโควิด-19 ระบาดในช่วง 2 ปี พลิกพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างมาก และเชื่อว่าอีกไม่นานผู้ชมคงไม่อยู่หน้าจอทีวี แต่จะจ้องจอมือถือ อุปกรณ์สื่อสารอื่นแทน

ในฐานะผู้สร้างหรือ ครีเอเตอร์ ซึ่งสร้างสรรค์คอนเทนท์ จัดกิจกรรมอีเวนท์ และผลิตสินค้า ในการเคลื่อนธุรกิจป้อนโลกออนไลน์ “วุฒิธร” ให้ความสำคัญกับการ “ปรับเปลี่ยน”(Change) ของบุคลากรในองค์กรอย่างมาก ย้ำทุกคนจงเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลง เพราะการหยุดอยู่กับที่อาจสร้างปัญหาตามมา ท่ามกลางโลกที่ผกผันตลอด

ปัจจุบันบุคลากรในองค์กร ไม่เพียงเปลี่ยนรอบทิศ ยังมีความกล้า เพิ่มทักษะการทำงานคนเดียวทำได้ทั้งเขียนบท ตัดต่อวิดีโอ จัดอีเวนท์ พัฒนาสินค้า เป็นต้น

“วู้ดดี้เป็นเหมือนพ่อเล้า ทำหน้าที่เลี้ยงและดูแลเป็ดหลายชีวิต” ซึ่งจริงๆเขายกให้ทีมงานเป็นหงส์มากกว่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นครีเอเตอร์ตอบโจทย์โลกออนไลน์ และผู้บริโภคมีความยิบย่อยมากขึ้น ความต้องการเฉพาะตัว(Niche)กว่าเดิม ไม่เข้าถึงคนหมู่มาก(Mass)แบบในทีวี แต่ วุฒิธร เชื่อว่าการใช้ “กระแส” ทั้งผู้คน ประเด็น เรื่องราวต่างๆ ถือเป็นอาวุธการตลาดสำคัญทำให้แบรนด์ สินค้าและบริการเจาะกลุ่มเป้าหมายได้

บทเรียนเจ๊ง! จากทีวี  “วู้ดดี้เวิลด์” ลุยครีเอเตอร์ เสิร์ฟออนไลน์ ตัวอย่าง การสัมภาษณ์ “แจ็คสัน หวัง”  ในรายการ WOODY FM ได้การตอบรับอย่างดีจากแฟนส่งผลให้ยอดการรับชม(วิว)ผ่านยูทูปทะลุ “ล้าน”

“แบรนด์สามารถคอลแล็บกระแส คนในกระแส คนเป็นที่รู้จัก ถูกพูดถึงในขณะนั้นมาดึงให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายสนใจสินค้า คอนเทนท์ หรือธุรกิจอะไรก็ตามที่นิชมาร์เก็ต ให้แมสได้”

ปัจจุบันภาพรับรู้ วู้ดดี้เวิลด์ ประสบความสำเร็จในการเป็น “ครีเอเตอร์” แต่ “วุฒิธร” บอกว่านั่นเป็นเพียง 10% เท่านั้น เพราะหลายปีในแวดวงสื่อบริษัททำมาหลายอย่างและ “ล้มเหลว” ถึง 90% เช่น การทำละครออกอากาศสดทางเฟซบุ๊กหรือ Live รวมถึงงานมิวสิค เฟสติวัลช่วงปีใหม่ เป็นต้น

“เราออกอากาศเพียง 4 ตอน เจ๊งไม่เป็นท่า เพราะล้ำตลาดเกินไป เคยทำมิวสิค เฟสติวัล เคาท์ดาวน์ยิ่งใหญ่ ซึ่งคิดว่าคนทั้งประเทศต้องมา แต่จัดจริงคนมาน้อยมาก แต่ไม่เคยรู้สึกแย่กับความล้มเหลส เพราะได้เรียนรู้ ทำให้กล้าตัดสินใจทำอะไรใหม่ๆตลอด และกลายเป็นดีเอ็นเอของวู้ดดี้เวิลด์ ที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าล้มทุกวัน..ผม วู้ดดี้ ผมคือครีเอเตอร์ของประเทศไทย”