ก้าวผ่านวิกฤติด้วยกลยุทธ์ "โมเดลธุรกิจชั่วคราว"

ก้าวผ่านวิกฤติด้วยกลยุทธ์ "โมเดลธุรกิจชั่วคราว"

ในช่วงที่โลกธุรกิจต้องเผชิญกับวิกฤติที่เหนือความคาดการณ์หรือนักธุรกิจส่วนใหญ่ทั้งโลกไม่เคยคาดการณ์มาก่อนว่าโรคระบาดรุนแรงในระดับโลกจะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจใหญ่น้อยถ้วนหน้ากัน

และยังกระทบมาถึงการดำรงชีวิตของคนทั่วไป โดยเฉพาะคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจในทุกระดับ

มีนักวิชาการด้านการด้านบริหารธุรกิจในกลุ่มประเทศยุโรปกลุ่มหนึ่งสังเกตพบว่า ในบรรดาธุรกิจทั้งหลายที่ได้รับผลกระทบจนไม่อาจนำพาธุรกิจให้เดินต่อไปได้จำนวนมาก มีธุรกิจอยู่กลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะที่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้โดยไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติแต่อย่างใด

และส่วนใหญ่ของธุรกิจในกลุ่มนี้ ยังสามารถสร้างยอดขายและผลกำไรได้สูงขึ้นมากกว่าเดิมอีกด้วย

นักวิชาการกลุ่มนี้จึงทำการศึกษาวิจัยเพื่อให้ทราบถึงที่มาที่ไปและวิธีการที่ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้สามารถเดินผ่านวิกฤติที่เป็นปัญหาใหญ่กับธุรกิจทั่วไปโดยไม่มีปัญหากับธุรกิจของตนแต่อย่างใด

เป็นที่มาของการค้นพบว่า กลยุทธ์ "โมเดลธุรกิจชั่วคราว" (Temporary Business Model) เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสามารถก้าวพ้นวิกฤติที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนในระหว่างการดำเนินธุรกิจที่มีผลประกอบการเติบโตได้ตามปกติ และสามารถนำพาธุรกิจให้ฝ่าฟันก้าวพ้นวิกฤติที่รุนแรงในระดับโลกมาได้

ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจในเรื่องของ "โมเดลธุรกิจ" กันก่อนสักเล็กน้อย เนื่องจากคำว่า “โมเดล” ในภาษาอังกฤษ มีความหมายได้อย่างหลากหลาย เช่น อาจหมายความถึง แบบจำลอง ต้นแบบ ตัวแบบ แม่แบบ แบบอย่าง นายแบบนางแบบ ฯลฯ แถมยังอาจหมายความถึง โมเดล หรือ รุ่นต่างๆ ของสินค้าเทคโนโลยี เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เครื่องบิน ฯลฯ เป็นต้น

แต่คำว่า “โมเดลธุรกิจ” จะมีความหมายที่เฉพาะเจาะจงมากกว่า โดยจะหมายถึง แนวความคิดในการบริหารจัดการธุรกิจที่จะอธิบายว่า ธุรกิจจะมีวิธีการดำเนินการอย่างไรในการสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ในตลาด ที่เน้นไปที่ปัจจัยสำคัญเพียง 3 ประการ

คือ

1) แนวคิดในการนำเสนอคุณค่าหรือข้อดีที่เหนือกว่าให้กับตลาดหรือผู้บริโภค (Value Proposition)

2) แนวคิดต่อวิธีการในการสร้างคุณค่าตามข้อ 1) ให้เกิดขึ้นได้จริง (Value Creation)

3) แนวคิดในการเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากการนำเสนอคุณค่าให้กลับคืนเป็นผลกำไรสู่ธุรกิจ (Value Capture)

พูดง่ายๆ ก็คือ จะเสนอขายอะไรที่เหนือกว่า จะผลิตหรือให้บริการอย่างไร และจะมีวิธีจัดเก็บเงินให้ได้อย่างไร

ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 ปัจจัยที่เป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกันมานี้ จะเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสามารถสร้างความโดดเด่นและสร้างรายได้ให้กับธุรกิจได้เหนือกว่าคู่แข่งในตลาด

"โมเดลธุรกิจ" จะมีส่วนสำคัญอย่างมากสำหรับธุรกิจสตาร์อัพที่จะทำให้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากนักลงทุน ส่วนสำหรับธุรกิจที่ดำเนินการอยู่แล้ว จะเป็นสิ่งยืนยันที่ว่า ธุรกิจเหล่านั้นสามารถต่อสู้แข่งขันในตลาดได้อย่างไร

ธุรกิจที่ประสบปัญหาจากวิกฤติที่ไม่ได้เตรียมการรองรับมาก่อน ก็เกิดเนื่องจากปัจจัยทั้ง 3 ของโมเดลธุรกิจที่กำลังดำเนินไปได้ดี ถูกกระทบกระเทือนไปโดยผลจากวิกฤติ จนทำให้ดำเนินต่อเนื่องไปไม่ได้

ส่วนธุรกิจที่มีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยน "โมเดลธุรกิจหลัก" ของตนเอง ไปสู่โหมดของการใช้ "โมเดลธุรกิจชั่วคราว" ในระหว่างสภาวะวิกฤติ โดยยังไม่ทิ้งวิธีการตาม “โมเดลธุรกิจหลัก” ที่จะนำกลับมาใช้ภายหลังวิกฤต หรืออาจนำ “โมเดลธุรกิจชั่วคราว” ที่ใช้ในระหว่างวิกฤติ มาเสริมแรงเข้ากับ “โมเดลธุรกิจหลัก” ให้เกิดขึ้นเป็นการสร้างนวัตกรรมให้กลายเป็น “โมเดลธุรกิจใหม่” ก็เป็นได้ เข้าข่ายการสร้าง “นวัตกรรมโมเดลธุรกิจ”

ผลการวิจัยพบว่า “โมเดลธุรกิจชั่วคราว” ของธุรกิจเอสเอ็มอีในยุโรปที่นำมาใช้สู้วิกฤติโควิด-19 ได้สำเร็จ มีหลายรูปแบบ เช่น ธุรกิจเครื่องดื่มหรือเครื่องสำอางที่ต้องใช้แอลกอฮอล์เป็นวัตถุดิบ ปรับตัวเองมาผลิตแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค ธุรกิจจัดประชุมสัมมนา ปรับตัวเองมาเป็นธุรกิจการจัดประชุมหรือแสดงสินค้าแบบออนไลน์ ธุรกิจร้านอาหาร ปรับตัวเองมาเป็นบริการอาหารแบบส่งถึงบ้าน ธุรกิจที่ปรึกษาธุรกิจ ปรับตัวเองมาเป็นเอเยนต์ขายส่งหรือจัดหาอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคให้กับธุรกิจต่างๆ ที่เคยเป็นลูกค้าเก่า ธุรกิจจัดส่งวัตถุดิบให้กับภัตตาคารหรือโรงแรม ปรับตัวเองมาเป็นธุรกิจขายวัตถุดิบเพื่อการประกอบอาหารทางออนไลน์ ฯลฯ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า “โมเดลธุรกิจชั่วคราว” ที่จะประสบความสำเร็จ จะต้องมีพื้นฐานมาจากประสบการณ์และความชำนาญพิเศษที่เกิดการทำธุรกิจหลักเดิม และสามารถปรับหรือผนวกเข้ากับ “โมเดลธุรกิจหลัก” ได้ต่อไปในอนาคต

ในสภาวะปกติ ธุรกิจอาจนำแนวคิดสร้าง “โมเดลธุรกิจชั่วคราว” มาปรับใช้กับการสร้างนวัตกรรมให้กับธุรกิจเดิม เพื่อเป็นการทดสอบความเป็นไปได้และการยอมรับของตลาดจาก "ความใหม่" ที่ธุรกิจต้องการนำเสนอสู่ตลาดในอนาคต

สำหรับธุรกิจสตาร์อัพที่ "โมเดลธุรกิจ" ได้รับการเห็นชอบและได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนแล้ว แต่ในระหว่างการพัฒนาธุรกิจอาจประสบปัญหาที่คาดไม่ถึงหรือไม่ได้คาดการณ์มาก่อน ก็อาจนำแนวคิด "โมเดลธุรกิจชั่วคราว" มาใช้เพื่อปรับทิศทางธุรกิจใหม่ที่อาจแตกต่างสิ่งที่คิดไว้ ให้ตรงกับทิศทางความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า ปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่ต้องแสดงใน "โมเดลธุรกิจ" อย่างชัดเจนเสมอ ก็คือ จะเสนอขายอะไรที่เหนือกว่า จะผลิตหรือให้บริการอย่างไร และ จะมีวิธีเก็บเงินให้ได้อย่างไร !!??!!