soft power หนุนอุตสาหกรรม "ภาพยนตร์ไทย" รุกด้วยเทศกาลและงานวิจัย

soft power หนุนอุตสาหกรรม "ภาพยนตร์ไทย" รุกด้วยเทศกาลและงานวิจัย

ยังคงติดตามความเคลื่อนไหว "อำนาจอ่อน" soft power เกี่ยวกับแวดวง "ภาพยนตร์ไทย" ซึ่งจะเกิดเป็นอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ต้องมีเรื่องของการ "นำเสนอ" การจัดเทศกาล และศึกษาเรียนรู้พร้อมต่อยอดด้วย "งานวิจัย"

วันก่อน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม หรือ บพค. สังกัดสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมงานเทศกาลหนังเมืองแคน ครั้งที่ 6 KAEN FILM FESTIVAL KHONKAEN UNIVERSITY 2022 ที่จังหวัดขอนแก่น

การประชุม Consortium งานวิจัยขั้นแนวหน้าด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (SHA) และอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการเขียนเค้าโครงงานวิจัย (Research proposal) มุ่งสนับสนุนการพัฒนากำลังคนป้อนสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย พร้อมผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสู่เวทีโลก 

ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ บพค. , จตุรภรณ์ โชคภูเขียว ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์การวิจัยขั้นแนวหน้าด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Frontier SHA/AI) และ รศ.ดร.รินา ภัทรมานนท์ ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์การพัฒนาการวิจัยขั้นแนวหน้าและเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่ออนาคต (Frontier Technology) เป็นวิทยากรร่วมในเวทีการอบรมครั้งนี้
 

 

การอบรมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 20 ท่าน อาทิ คณาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้กำกับภาพยนตร์ อย่าง ธนิตย์ จิตนุกูล และดารานักแสดง อย่าง ไพโรจน์ สังวริบุตร รวมทั้งภาคีเครือข่ายภาคเอกชนในด้านการทำภาพยนตร์จากทางฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว เช่น ลาวนิวเวฟ ลาวอาร์ตมีเดีย เป็นต้น

ดร.วรจิตต์ ในนาม บพค. นำเสนอถึงนโยบายและแนวทางการสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อการพัฒนากำลังคนและงานวิจัยขั้นแนวหน้าด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (SHA) บทบาทของ บพค. เป้าหมายการพัฒนากำลังคน รวมทั้งยุทธศาสตร์ของ (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ปี 2566-2570 และแผนงานปีงบประมาณ 2566–2570 ของ บพค. โดยทาง บพค. เล็งเห็นถึงความสำคัญและให้การสนับสนุนเกี่ยวกับด้านภาพยนตร์ 
 

soft power หนุนอุตสาหกรรม \"ภาพยนตร์ไทย\" รุกด้วยเทศกาลและงานวิจัย

กล่าวคือ ภาพยนตร์ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่สูงนัก เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ โดยได้ให้แนวทางการขับเคลื่อนแบบ Gig Economy ระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากงานแบบครั้งคราว หรืองานที่รับจ้างแล้วจบไป ในประเทศไทย และแนวทางการสร้างงานวิจัย Frontier และการพัฒนากำลังคนของ บพค. SHA-SOFT POWER ที่อยู่ในระดับ International Collab Creative Content โดยมี Brainpower คือ National Platform กำลังคนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจะสามารถผลักดันและพัฒนาไปในระดับ Globalized Creative Content ในอนาคตต่อไปได้ จากนั้น จตุรภรณ์ และ รศ.ดร.รินา ได้จัดกิจกรรมกลุ่มระหว่างผู้เข้าร่วมการอบรม เพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ในการเขียนเค้าโครงงานวิจัย Research proposal เพื่อพัฒนา Consortium ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอนาคตของประเทศไทยต่อไป (อ้างอิง - บพค. , 2565)

สำหรับผู้เขียนเอง เคยไปฟังร่วมงานเสวนารายงานหนึ่ง ภายใต้งานเทศกาลหนังเมืองแคน เมื่อหลายปีก่อน ช่วงยังไม่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของ รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คํา หัวเรือใหญ่แห่งเทศกาลหนังเมืองแคน ได้เดินหน้าประสานหน่วยงานรัฐและเอกชน มาร่วมงานจัดเวทีให้คนในวงการภาพยนตร์ เช่นผู้กำกับฯ ผู้อำนวยการสร้าง มาแลกเปลี่ยนให้นักศึกษาและผู้สนใจได้มาร่วมกันทำชิ้นงานภาพยนตร์สั้นและสานเป็นโปรเจกต์ภาพยนตร์เต็มรูปแบบ โดยหวังว่า "ขอนแก่น" จะเป็นศูนย์กลางที่มีศักยภาพในการพัฒนาภาพยนตร์ไทยอย่างยั่งยืนและเป็น soft power พัฒนาเมืองขอนแก่นทั้งด้านธุรกิจและท่องเที่ยวไปในคราวเดียวกัน

เมื่อมี "เทศกาลภาพยนตร์" แล้ว การต่อยอดด้วย "งานวิจัย" การได้ บพค. เข้ามาร่วมด้วย จึงเกิดพลังมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ เพียงแต่ว่าต้องรอดูว่าจะเกิดและก่อผลงานด้านวิจัยอย่างไรบ้าง ซึ่งโดยส่วนตัวผู้เขียนเองอยากไปร่วมฟังเสวนาและรายงานบรรยากาศงานคงได้อรรถรสยิ่ง แต่อาจเพราะปัจจัยต่าง ๆ อาจไม่เอื้ออำนวยความสะดวก

อย่างที่ทราบว่า ผู้เขียนรายงานความเคลื่อนไหว soft powerภาพยนตร์ไทย มาอย่างต่อเนื่อง เพียรหวังว่าจะเกิดเวที เทศกาลภาพยนตร์ อย่างต่อเนื่อง ในทั่วภูมิภาคของประเทศ เพื่อสร้างพลังสนับสนุนให้เกิดคอนเทนต์อันสร้างสรรค์เกี่ยวเนื่องภาพยนตร์ไทย เกิดการพัฒนาเติบโตเป็น "อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์" เสริมฐานรากเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศให้ยั่งยืน.