รถตุ๊กตุ๊ก Soft Power ของไทยและเกาหลี

รถตุ๊กตุ๊ก Soft Power ของไทยและเกาหลี

เปิดมุมมอง รถตุ๊กตุ๊ก Soft Power ของไทยและเกาหลี เชื่อมโยงเพื่อการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น ท่ามกลางวิกฤติน้ำมันโลก

อยากพูดถึง Soft Power กรณีสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย และศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำประเทศไทย จัดงานรับมอบรถสามล้อไทย หรือ รถตุ๊กตุ๊ก จำนวน 1 คัน วานนี้ เพื่อไปจัดแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน (The ASEAN Cultural House -ACH) ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี  ถือเป็นการส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีในการแลกเปลี่ยนซอฟต์พาวเวอร์ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลีผ่านรถตุ๊กตุ๊กสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แสดงความเป็นไทยในการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ

ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ณ เมืองปูซานได้ก่อตั้งในปี 2017 มีบทบาทส่งเสริมประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศต่างๆในอาเซียน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีและประชาคมอาเซียน  โดยภายในศูนย์ฯ ประกอบไปด้วย สถานที่จัดแสดงนิทรรศการ การสัมมนา การแสดงคอนเสิร์ต การฉายภาพยนตร์ และศูนย์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียน ซึ่ง มาริษา เจียรวนนท์ กล่าวถึงการสนับสนุนรถตุ๊กตุ๊ก ซึ่งถือเป็นยานพาหนะที่สื่อเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่เป็นที่รู้จักอย่างมากในสายตาของชาวต่างชาติ การสนับสนุนในครั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถส่งเสริมและผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของทั้งสองประเทศให้เป็นที่รู้จักและรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น

 

สำหรับ รถตุ๊กตุ๊กของไทย ซึ่งปีที่แล้ว รัฐบาลได้ร่างมาตรฐานด้านยานยนต์อัจฉริยะอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถยนต์ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน (EV) ที่สำคัญของโลกตามนโยบายของประเทศ

สถาบันยานยนต์ (สยย.) เป็นคณะผู้จัดทำร่างมาตรฐานรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าได้ใช้มาตรฐาน EU 168/2013 อ้างอิงในการจัดทำเพื่อให้รถตุ๊กตุ๊กตามมาตรฐานมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของสากล และเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมการผลิตรถตุ๊กตุ๊กสันดาปภายใน สู่การผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าตามนโยบายของประเทศ (เดินหน้า ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า สู่มาตรฐาน EV โลก, 2564) 

ขณะเดียวกัน รถตุ๊กตุ๊ก ถูกนำมาเป็นจุดดึงดูดความสนใจในแง่การตลาดของร้านค้าด้วย กรณี "มีเดียม แรร์ ท่าเตียน" นำมาเป็นจุดเด่นของร้านใครผ่านไปผ่านมาต้องสะดุดตาที่นำมาทำเป็นร้านขายเนื้อย่างและอาหารอีสาน (รถตุ๊กตุ๊ก สร้างโอกาสทำกิน ดึงดูดลูกค้า, 2565) 

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปเกือบ 20 ปี รถตุ๊กตุ๊กถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์ไทย อย่าง "องค์บาก" ที่สร้างปรากฎการณ์โลกภาพยนตร์แอ็กชันมาแล้ว

รถตุ๊กตุ๊ก Soft Power ของไทยและเกาหลี

ท่ามกลางวิกฤติน้ำมันแพงนั้น รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า หากถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะกลายเป็นจุดขาย จุดเด่น เสริมสร้างเอกลักษณ์ไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ถูกพลิกฟื้นกลับมาให้ชาวต่างประเทศได้พูดถึงอีกคำรบ ซึ่งจำได้หรือไม่ว่า เมื่อหลายปีก่อน ครูหนุ่มชาวอังกฤษ 2 คน ใช้รถตุ๊กตุ๊ก 3 ล้อ ไปรอบโลกกว่า  39 ประเทศ รวมระยะทางทั้งสิ้น 42,120 กิโลเมตร พวกเขาไม่ใช่นักท่องเที่ยวทั่วไป เพราะการเดินทางเป็นไปเพื่อรณรงค์ให้คนทั่วโลกเห็นคุณค่าของการศึกษา (ตุ๊กตุ๊กพาเที่ยวรอบโลก, 2557) ทำให้รถตุ๊กตุ๊กมีคุณค่าในกิจกรรมเชิงการทำภารกิจเพื่อมวลมนุษยชาติ

ดังนั้น การสร้าง Soft Power ของไทยกรณีรถตุ๊กตุ๊ก นอกเหนือจากแบบรัฐต่อรัฐแล้ว การผลักดันของภาคเอกชนและภาคประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง หากภาคส่วนใดโดยเฉพาะภาคเอกชนลุกขึ้นทำเรื่องนี้จึงน่าสนับสนุนและชื่นชม.