การรถไฟฯ เร่งศึกษา 3 พื้นที่ลุยตั้งโรงงานมักกะสันแห่งใหม่

การรถไฟฯ เร่งศึกษา 3 พื้นที่ลุยตั้งโรงงานมักกะสันแห่งใหม่

การรถไฟฯ เดินหน้าศึกษา 3 พื้นที่ตั้งโรงงานซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อนแห่งใหม่ หลังโรงงานมักกะสันจ่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท. ได้เปิดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากประชาชน (Market Sounding) ครั้งที่ 3 ในโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมงานซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน ออกแบบรายละเอียด โรงงานมักกะสันแห่งใหม่ เพื่อทดแทนพื้นที่เดิมที่จะมีการพัฒนาให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์และศูนย์กลางการคมนาคมขนาดใหญ่ของประเทศ

โดย ร.ฟ.ท.ได้ดำเนินการว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา กิจการค้าร่วม KUSIP ซึ่งประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บริษัท ยูทิลิตี้ ดีไซน์ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ซี คอนซัลท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด  บริษัท อินฟรา กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท โปรคอนเซ็ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ขึ้นมาทำหน้าที่ศึกษา โครงการศึกษาความเหมาะสมงานซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน ออกแบบรายละเอียด โรงงานมักกะสันแห่งใหม่ พร้อมจัดทำแผนการรื้อย้ายและจัดทำเอกสารประกวดราคา เพื่อประเมินความเหมาะสมในขั้นตอนการคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพ สำหรับพัฒนางานซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อนของ โรงงานมักกะสันแห่งใหม่ในอนาคต พร้อมกับได้มีการเปิดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของโครงการฯ ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบอย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ เบื้องต้น ร.ฟ.ท. ได้ศึกษาสถานที่ก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ จำนวน 3 แห่ง ซึ่งได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นขั้นต้นในการคัดเลือกพื้นที่ไปแล้ว ประกอบด้วย พื้นที่โรงงานมักกะสันเดิมแต่มีการปรับปรุงให้มีความเหมาะสม พื้นที่บริเวณสถานีสุพรรณบุรี อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ที่มีพื้นที่ประมาณ 240 ไร่ ซึ่งได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 และพื้นที่บริเวณสถานีชุมทางเขาชีจรรย์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มีพื้นที่ประมาณ 454 ไร่

ท้ายนี้ ร.ฟ.ท.คาดหวังว่า การเปิดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากประชาชน (Market Sounding) ครั้งที่ 3 จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ช่วยให้การดำเนินศึกษาความเหมาะสมงานซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน ออกแบบรายละเอียด โรงงานมักกะสันแห่งใหม่ฯ ประสบความสำเร็จ สามารถรองรับการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ปลอดภัย เต็มไปด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง ประหยัดต้นทุนการผลิตบุคลากร  สอดคล้องกับแผนการจัดหารถจักรและล้อเลื่อน รวมถึงเป็นส่วนสำคัญในแผนการเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มรายได้ให้แก่ ร.ฟ.ท.ได้ในอนาคต