กองทัพคนทุกข์ในยุค Digital วิกฤติเศรษฐกิจไทย ปี 2565 (2)

กองทัพคนทุกข์ในยุค Digital วิกฤติเศรษฐกิจไทย ปี 2565 (2)

วิกฤติเศรษฐกิจไทยปี 2540 ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายรัดเข็ดขัดทางการคลัง แต่ในวิกฤติเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 ซึ่งเป็นเรื่องกองทัพคนทุกข์ของประเทศในยุค Digital

วิกฤติเศรษฐกิจไทยปี 2540 ทำให้รัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ยื่นขอเงินกู้ฉุกเฉิน(Standby Arrangement) จาก IMF ในเดือนสิงหาคม 2540 โดยเงื่อนไขการดำเนินนโยบายของภาครัฐ (Policy Conditionalities) ถูกผูกติดกับเงินกู้ดังกล่าว ที่มุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท ด้วยการตรึงอัตราดอกเบี้ยให้คงอยู่ในระดับสูง เพื่อดึงดูดเงินทุนนำเข้าจากต่างประเทศ สกัดการไหลออกนอกประเทศของเงินทุน และนโยบายรัดเข็ดขัดทางการคลัง

ศาสตราจารย์โจเซฟ สติกลิตซ์ (Josep E.Stieglitz) รองประธานธนาคารโลก มองว่าเงื่อนไขของ IMF ด้วยการรัดเข็มขัดทางการคลัง การขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม และการตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง ยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ เป็นการบั่นทอนความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ทำให้สถาบันการเงินเผชิญปัญหาหนี้สูญและหนี้เสียมากขึ้นจนเป็นที่มาของคำว่า ไม่มีไม่หนี้ ไม่จ่าย

รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการ 14 สิงหาคม 2541 ซึ่งนำมาจากแบบจำลองชิลี ที่มีต้นแบบมาจากแบบจำลองสเป็น หลักการสำคัญของแบบจำลองสเปนก็คือ หลักการ Accordian Principal การจัดตั้ง “โรงพยาบาลธนาคาร (Bank Hospital)” และเทคนิคการตัดเนื้อร้าย (Carve-out Technique) เมื่อชิลีประสบวิกฤติการณ์สถาบันการเงินระหว่างปี 2524-2526 ชิลีได้นำแบบจำลองสเปนไปใช้ในการแก้ปัญหา เรียกว่า “แบบจำลองชิลี” ด้วยการออกพันธบัตรโดยธนาคารกลาง เพื่อซื้อสินทรัพย์เสื่อมคุณภาพ 

โดยที่ธนาคารเจ้าของสินทรัพย์เดิมมีข้อตกลงที่จะซื้อคืนมาตรการ 14 สิงหาคม 2541 มีหลักการที่สำคัญ 3 ประการคือ ประการแรก เปิดโอกาสให้นายทุนต่างด้าวเข้าร่วมทุนสถาบันการเงินไทย ตามโครงการช่วยเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่หนึ่ง โดยให้ผู้ร่วมทุนใหม่ถือหุ้นบุริมสิทธิทีมีสิทธิ์ออกเสียง และปรับเปลี่ยนผู้บริหารสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการได้ หากมีความเสียหายหรือผลขาดทุน ผู้ถือหุ้นเดิมต้องรับภาระก่อน ต่อเมื่อหมดทุนภาระขาดทุนจึงตกแก่ผู้ร่วมทุนใหม่ ผู้ร่วมทุนใหม่ไม่ต้องรับภาระในการตั้งเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่เกิดขึ้นก่อนการร่วมทุนแต่อย่างใด สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการต้องตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ให้ครบถ้วนในทันทีตามเกณฑ์ปี 2543 ของ ธปท. แม้โครงการจะเปิดกว้างทั่งผู้ร่วมทุนชาวไทยและต่างชาติ แต่นายทุนไทยล้วนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ต่างชาติมากกว่า

ประการที่สอง คือการจูงใจในการประนอมหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้ของธุรกิจเอกชน (Corporate Debt Restructuring)โดยรัฐบาลช่วยเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่สองให้สถาบันการเงินที่ประนอมหนี้ก่อนสิ้นเดือนมิถุนายน 2542 ในจำนวน 100% ของการตัดหนี้สูญหรือการตั้งสำรองเพิ่ม ซึ่งนับว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ประการที่สาม คือการจูงใจให้สถาบันการเงินขยายสินเชื่อ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยรัฐบาลช่วยเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่สองให้สถาบันการเงินที่ขยายสินเชื่อในจำนวน 20% ของสินเชื่อที่เพิ่มให้เอกชน ทั้งนี้กองทุนที่ได้เพิ่มขึ้นในส่วนนี้จะต้องไม่เกิน 1%ของสินทรัพย์เสี่ยง แต่สถาบันการเงินส่วนใหญ่ขยาดต่อการขยายสินเชื่อ เพราะกังวลกับ NPL

ในฐานะที่เป็น Financial arm ของรัฐ ธนาคารกรุงไทย จึงมีโครงการอัศวินม้าขาวที่ช่วยเหลือลูกหนี้ประสบปัญหาวิกฤตจากภาวะเศรษฐกิจ และเป็นแกนในการผนวกธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ และธนาคารมหานคร กรณีธนาคารมหานคร ธนาคารกรุงไทยรับโอนทรัพย์สิน หนี้สินและเงินฝาก สาขาและพนักงานทั้งหมด กรณีธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การรับโอนเฉพาะทรัพย์สินส่วนที่ดี เงินฝาก หนี้สินที่เป็นภาระผูกพันล่วงหน้าและหนี้สินอื่น ๆ คงเหลือสินเชื่อด้อยคุณภาพ แปลงสถานะเป็น บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ไม่ได้รับโอนสาขาและพนักงาน

ก่อนผมเกษียณหลายปีมาแล้ว ชวนน้อง ๆ ผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ ไป Dinner ที่รีสอร์ต วังกะจ้าว ริมแม่น้ำเจ้าพระยาของคุณไกร วิมลเฉลา เจ้าของบริษัทสยามราชธานี จำกัด (มหาชน) ที่เชิญผมเป็นประธานบอร์ดจนบัดนี้ เล่าให้น้อง ๆ ฟังว่า คนรุ่นผมทำงานแบงก์ในช่วงสำคัญของประวัติศาสตร์ ต้องเหน็ดเหนื่อย ทั้งงานในหน้าที่ และมีภาระกิจรับใช้ชาติ เป็นความภูมิใจของชีวิต ผมบอกลูกน้องรุ่นหลัง ๆ นักเรียนนอกว่าอย่า Look Down คนเก่าปรับตัวให้เป็นเนื้อเดียวกัน ภาระกิจข้างหน้าอาจหนักหน่วงเกินคาดเดา

ตอนต่อไปผมจะเสนอผลกระทบที่เกิดขึ้น จากมาตรการ 14 สิงหาคม 2541 และวิกฤติเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 ซึ่งเป็นเรื่องกองทัพคนทุกข์ของประเทศ……