'ผู้เสียหายซิปเม็กซ์' เผย บทเรียนครั้งใหญ่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทย

'ผู้เสียหายซิปเม็กซ์' เผย บทเรียนครั้งใหญ่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทย

'ผู้เสียหายซิปเม็กซ์' เผย ต้องการลงทุนเพื่อเก็บออม เพราะผลิตภัณฑ์น่าสนใจ-มี ก.ล.ต.รองรับ สู่บทเรียนครั้งใหญ่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทย หลัง 'ซิปเม็กซ์' ระงับถอนเงิน-ขาดสภาพคล่อง ทำลูกค้า Zipup+ เสียหายเกือบ 2 พันล้าน

นายภัทรเศรษฐ์ พรหมสวัสดิ์ ตัวแทนผู้ได้รับความเสียหายกรณี 'ซิปเม็กซ์' เปิดเผยกับทางกรุงเทพธุรกิจว่า ได้ลงทุนในผลิตภัณฑ์ Zipup+ ทั้งสิ้นจำนวนกว่า 500,000 บาท โดยเริ่มต้นจากการลงทุนก้อนแรกประมาน 40,000-50,000 บาท ในช่วงกลางปี2564 และได้ผลตอบแทนตามที่ซิปเม็กซ์ได้กล่าวไว้ ทำให้ตัดสินใจลงทุนแบบเก็บออม หรือ DCA มีลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีมูลค่ากว่า 500,000 บาท ในขณะนี้ รวมทั้งกระจายความเสี่ยงไปยังกระดานอื่น ๆ 

โดยพื้นฐาน นายภัทรเศรษฐ์ เป็นผู้ที่มีความรู้ในการลงทุนของตลาดคริปโทในระดับหนึ่ง ซึ่งมีความรู้และความเข้าใจในความผันผวนของตลาดนี้ รวมทั้งสามารถยอมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในตลาดได้ และเชื่อว่ากลงทุนคนอื่นๆที่เข้ามาลงทุนในตลาดนี้ ต้องศึกษาข้อมูลมาพอสมควร

นายภัทรเศรษฐ์เริ่มต้นเข้าสู่ตลาดคริปโทด้วยการเทรดบนกระดาน 'บิทคับ' และเข้าไปลิ้มลองกระดานต่างประเทศอย่าง'ไบแนนซ์' และกลับมาใช้บริการ ‘ซิปเม็กซ์’

สำหรับการลงทุนในหลายกระดานเพื่อกระจายความเสี่ยง แต่มีความต้องการหลักในกระดานผลิตภัณฑ์ 'ZipUp' ของซิปเม็กซ์เพื่อเก็บออม แม้ว่าช่วงนี้ ตลาดคริปโทจะปรับตัวลดลง แต่เขามีต้องการลงทุนไว้ในระยะยาวเพื่อรอตลาดขาขึ้นและขายออกเพื่อทำกำไร

\'ผู้เสียหายซิปเม็กซ์\' เผย บทเรียนครั้งใหญ่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทย

"การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วได้กำไร 2-3% ที่ถูกการรับรองด้วยหน่วยงานรัฐ (​คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นการได้รับดอกเบี้ยใกล้เคียงกับธนาคาร แต่เราต้องการที่จะถือสินทรัพย์ดิจิทัล แต่เหตุผลที่เราตัดสินใจลงทุนเพราะไม่เหมือนกับการแชร์ลูกโซ่ที่ได้กำไรมากเกินความเป็นจริง ถึง 10-20%"

โดยผลิตภัณฑ์ซิปเม็กซ์นำจุดขายตรงนี้ เอาชนะคู่แข่งในกระดานเทรดอื่นๆ และเชื้อเชิญให้ลูกค้าเข้าลงทุนด้วยการออมและมีปันผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ร้อยละ 2- 3 เทียบเท่ากับธนาคาร ซึ่งตนมองว่ามีระดับดอกเบี้ยที่ใกล้เคียงกับธนาคารเช่นเดียวกับความปลอดภัย เพราะถูกรับรองโดยก.ล.ต.แล้ว 

รวมทั้งการโฆษณา ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์ตามถนนหนทาง โฆษณาในโซเชียลมีเดีย และการจัดงานอีเว้นท์ ที่ทำให้ลูกค้าหรือผู้ใช้มีประสบการณ์ร่วมกันจนเกิดความเชื่อมั่น

ก่อนหน้าที่จะตัดสินใจเก็บออมเงินใน Zipup+ นั้นไม่ทราบมาก่อนว่าซิปเม็กซ์นำเงินไปลงทุนในกระดานต่างประเทศ และไม่รู้ว่าเขาเอาเงินเราไปลงทุนในบริษัทที่ขาดสภาพคล่องอยู่ในตอนนี้ ถ้ารู้ตั้งแต่เริ่มต้น มีการประกาศว่ามีการนำเงินไปลงทุนในที่ใดบ้างจะสามารถเพิ่มข้อมูลให้ลูกค้าได้ตัดสินใจ ก่อนเข้าไปลงทุน

เนื่องจากบางคนสามารถรับความเสี่ยงได้ แต่เราต้องการนำเงินมาลงทุนเพื่อเก็บออม ซึ่งการนำเงินไปลงทุนเพื่อหาผลกำไรนั้น นักลงทุนก็สามารถทำเองได้ในแพลตฟอร์มต่างประเทศอย่างไบแนนซ์ โดยไม่ต้องมาลงทุนใน Zipup+ เลยก็ได้

ทั้งนี้การยินยอมข้อตกลงใน Zipup+ บนแอปพลิเคชั่น มีความกำกวมของการใช้ภาษา แม้ว่าจะเป็นภาษาไทย แต่เป็นภาษาไทยที่แปลมาจากภาษาอังกฤติที่ภาษาสามารถดิ้นได้ หรือสามารถเข้าใจได้หลายความหมาย และก็มีผู้เสียหายหลายๆคนไม่เข้าใจข้อมูลตรงนี้ รวมทั้งในช่วงวันที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดบางอย่าง หากไม่กดยินยอมก็จะไม่สามารถเข้าใช้งานในแอพพลิเคชั่นได้

\'ผู้เสียหายซิปเม็กซ์\' เผย บทเรียนครั้งใหญ่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทย

แม้ว่านายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานบริหาร ซิปเม็กซ์ประเทศไทย ออกมาไลฟ์ชี้แจงถึง 5 ประเด็นในวันที่ 25 ก.ค.2565 แล้ว และมีการออกมาแสดงออกถึงความโปร่งใสอย่างไม่ขาดสาย

แต่สำหรับนายภัทรเศรษฐ์นั้น ยอมรับว่าการออกมาไลฟ์ครั้งแรกในวันที่ 20 ก.ค.2565 เป็นการแก้ไขสถานการณ์ได้ดีในระดับนึง แต่ยังเป็นการสื่อสารฝ่ายเดียวโดยที่ไม่รับการตอบรับจากลูกค้าและผู้เสียหายที่ต้องการซักถามถึงประเด็นต่างๆ

เช่นเดียวกับการแถลงการณ์ในครั้งล่าสุด ในวันที่ 25 ก.ค.2565 ซึ่งเป็นการตอบคำถามที่ไม่มีอะไรคืบหน้าและไม่แปลกใจ รวมทั้งการอ้างว่าบริษัทกำลังทำ deal diligence ซึ่งเป็นเรื่องที่ใครก็สามารถพูดได้ เนื่องจากมีรายละเอียดอีกมากมายที่ต้องชี้แจง ซึ่งการประกาศทำ MOU เป็นเพียงสิ่งที่บริษัทซิปเม็กซ์ทำได้ในตอนนี้เท่านั้น

ถือว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นเรื่องในหน้าประวัติศาตร์และเป็นบทเรียนสำหรับวงการสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ว่าการที่มีหน่วยงาน ก.ล.ต. รองรับก็ไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันได้

รวมทั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เอ็กเชนจ์ที่มีใบอนุญาติในประเทศไทยภายใต้การดูแลของ ก.ล.ต. และเป็นเอ็กเชนจ์ที่มีความน่าเชื่อถืออย่างมาก ทำให้เรากลับไปถามหาถึงความชัดเจนของข้อกฎหมายของ ก.ล.ต. และช่องว่างของกฎหมายที่ไม่สามารถคุ้มครองนักลงทุนได้อย่างครอบคลุม

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ที่ได้รับความเสียหายจากกรณีซิปเม็กซ์ นัดรวมตัวกันที่ ก.ล.ต.  วันที่ 1 ส.ค. เวลา 09.30น. เพื่อยื่นหนังสือสำคัญ-เรียกร้องให้ก.ล.ต.หาข้อสรุปและทางออกสำหรับผู้ที่ได้รับความเสียหาย