ออมสินขยายมาตรการแก้หนี้ครูถึงสิ้นปี

ออมสินขยายมาตรการแก้หนี้ครูถึงสิ้นปี

ออมสินประกาศขยายมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครูออกไปถึงสิ้นปี หลังพบว่า ลูกหนี้บางส่วนยังมีปัญหาการชำระผลจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่จะเป็นการขยายให้เฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาเท่านั้น หวั่นเสียวินัยอมชำระหนี้ แนะกลุ่มสหกรณ์ลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยลูกหนี้กลุ่มนี้อีกทาง

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารได้ต่ออายุมาตรการแก้ปัญหาหนี้ในกลุ่มข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาออกไปจนถึงสิ้นปีนี้ จากที่สิ้นสุดโครงการเมื่อสิ้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่พบว่า ยังมีกลุ่มลูกหนี้ดังกล่าวยังประสบปัญหาการชำระหนี้จากค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือโครงการแก้หนี้ครู เมื่อปี 2564 มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 3.5 แสนราย มีวงเงิน 3.5-3.7 แสนล้านบาท เฉลี่ยลูกหนี้ มีหนี้คนละ 1 ล้านบาท

ปัจจุบันเหลือจำนวนลูกหนี้ที่ยังเป็นหนี้คุณภาพไม่ดีประมาณ 4.4% เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยไม่มีมาตรการฟ้องร้อง หรือดำเนินการทางคดี ไม่มีการนำทรัพย์ไปขายทอดตลาด ไม่มีการยึดทรัพย์ และไม่ฟ้องล้มละลาย กับลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย

ทั้งนี้ การขยายมาตรการโครงการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวในครั้งนี้ ไม่ใช่การขยายแบบเหมารวมทั้งโครงการ แต่จะคัดเลือกเฉพาะลูกหนี้ที่กำลังประสบปัญหา ซึ่งต้องเข้ามาคุยกับธนาคาร เพื่อให้เข้ามาสู่กระบวนการปรับโครสร้างหนี้ ซึ่งธนาคารจะช่วยหาทางแก้ไขปัญหาทางการเงิน ส่วนเรื่องดอกเบี้ยที่คงค้างนั้น ธนาคารจะทำการลดให้อยู่แล้ว 

“การขยายโครงการแก้หนี้ หากนานเกินไปอาจทำให้ลูกหนี้เกิดการเสียวินัยทางการเงิน แต่ธนาคารไม่อยากซ้ำเติม จึงขยายไปช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่มีปัญหาจริงๆ ดึงกลับเข้าแก้ไขหนี้อีกครั้ง และถ้าจะให้ช่วยแบบรีไฟแนนซ์ทั้งหมดอีกครั้ง ก็คิดว่าทำไม่ได้ เพราะเมื่อรีไฟแนนซ์ไป สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต่างๆ ก็ตัดเงินไปก่อน ธนาคารก็เสี่ยงพังได้”นายวิทัย กล่าว

สำหรับโครงการแก้ไขหนี้ครูนั้น ถือว่า ไม่ได้มีความเสี่ยงมาก แม้ว่าลูกหนี้กลุ่มนี้อาจจะดูไม่มีเงินใช้หนี้ ในช่วงที่กำลังทำงาน แต่เมื่อถึงวัยเกษียณ จะที่มีเงินเก็บและสวัสดิการค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) บำเหน็จดำรงชีพ บำเหน็จตกทอดกรณีที่เสียชีวิต และบางส่วนอาจมีประกันชีวิต จึงทำให้ไม่ได้เสี่ยงอย่างที่หลายฝ่ายคิด

อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะช่วยได้อีกทางคือ การที่สหกรณ์เข้ามาช่วยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่กลุ่มดังกล่าวลง เพราะบางแห่งยังคิดอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 7-8% ซึ่งถือว่า อยู่ในระดับสูง ซึ่งถ้าจะให้เหมาะสมที่สุด ก็ควรคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ก็พอ

ทั้งนี้ ต้นทุนการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้กลุ่มครูนั้น เมื่อเทียบกับต้นทุนที่ธนาคารต้องสำรองเผื่อกรณีเกิดหนี้เสียแล้ว ถือว่า ธนาคารไม่ได้กำไรจากส่วนนี้ ซึ่งถือว่า เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้อย่างแท้จริง