คลังคงเป้าจีดีพีโต 3.5% จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

กระทรวงการคลังคงเป้าจีดีพีปี 2565 ขยายตัวได้ 3.5% โดยมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว ยังต้องติดตามผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนและนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างใกล้ชิด

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. พรชัย ฐีระเวช ระบุ สศค.คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ 3.5 % โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการผ่อนปรนมาตรการเดินทางระหว่างประเทศ และยกเลิกระบบ Thailand Pass สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ส่งผลให้รายได้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น 

คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวน 8 ล้านคน เพิ่มขึ้นมากจากปี 2564 ที่มีจำนวนเพียง 4 แสนคน ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวที่ 7.7% แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักเข้มงวดมากขึ้น อีกทั้งปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานที่ยืดเยื้อ

สำหรับมาตรการช่วยเหลือประชาชนนั้นขณะนี้คณะอนุกรรมการฯ เฉพาะกิจกำลังหารือร่วมกันว่าควรมีมาตรการใดมาช่วยดูแลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดมีทั้งปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศจากสถานการณ์โควิดที่ค่อยๆ คลี่คลายลง นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเดินทางมายังประเทศไทยสูงกว่าที่คาดตามแนวทางการเปิดประเทศ 

ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งส่งผ่านไปยังต้นทุนของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางหลายประเทศ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ที่มีแนวโน้มเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังอัตราเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นต่อเนื่องและภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัว 

ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต และเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอลงโดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศหลักและประเทศจีน ประกอบกับหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีนยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ก็จะส่งผลกระทบห่วงโซ่อุปทานการผลิต และส่งผลเชื่อมโยงไปยังภาคการผลิตและการค้าทั่วโลก