แบงก์ชาติ ชี้ทุนสำรองลดฮวบ เหตุการตีมูลค่าสินทรัพย์ร่วง จากดอลลาร์แข็งค่า

แบงก์ชาติ ชี้ทุนสำรองลดฮวบ เหตุการตีมูลค่าสินทรัพย์ร่วง จากดอลลาร์แข็งค่า

ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้ “นโยบายการเงินให้น้ำหนักเงินเฟ้อเป็นหลัก หลังเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง จึงต้องขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่เนินๆแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ไม่ใช่ขึ้นครั้งเดียวแล้วจบ”

 

         นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนขึ้น คาดว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และปีนี้คาดว่าขยายตัวเกิน 3% โดยอุปสงค์ภายในประเทศกลับมาฟื้นตัว การบริโภคขยายตัวต่อเนื่อง การท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็ว นักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าจะเกิน 6 ล้านคน  

     ส่วนสถานการณ์เงินเฟ้อ มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น จากปัจจุบันที่กว่า 7% และคาดการณ์ว่าจะเห็นจุดพีคในไตรมาส 3 ปีนี้ที่ 7.5% ซึ่งสูงกว่ากรอบนโยบายการเงินของธปท.ที่ 1-3% และเห็นราคาสินค้าที่ปรับขึ้นขยายวงมากขึ้น เป็นตัวส่งให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด ซึ่งอาจกระทบต่อด้านเสถียรภาพด้านราคาตามมา

กนง.ให้น้ำหนักเงินเฟ้อเป็นหลัก

     นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า นโยบายการเงิน ต้องให้น้ำหนักกับเงินเฟ้อมากขึ้น และทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบไม่สะดุด คือการ Smoot take off ดังนั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ต้องมี 2 ส่วนหลัก คือ

      การคุมเงินเฟ้อให้อยู่ระดับต่ำ ไม่ผันผวน แต่หากยิ่งปล่อยให้เงินเฟ้อสูงต่อเนื่องนาน จะคนคิดว่าเงินเฟ้อจะสูงต่อไปเรื่อย ๆ ผู้ประกอบการปรับราคาสินค้า ปรับค่าจ้างขึ้น เหล่านี้จะส่งผลให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด วิธีดูแลไม่ให้คาดการณ์เงินเฟ้อ คือการปรับนโยบายการเงินไปสู่ภาวะปกติ โดยการขึ้นดอกเบี้ย

        อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยต้องขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ทำให้เศรษฐกิจสะดุด คือ ต้องทำแต่เนิ่นๆ หากช้าเกินไป อาจทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด และต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้นเพื่อดูแลภายหลัง ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจและประชาชนมากขึ้น

       “การที่จะให้เงินเฟ้อกลับเข้ามาอยู่ในกรอบ ธนาคารกลางต้อง take action ต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ขึ้นครั้งเดียวแล้วจบ แต่ต้องค่อยๆปรับไปสู่สภาวะปกติ”

        อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยของไทย ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับต่างประเทศ เพราะบริบทเศรษฐกิจการเงินต่างกันกับสหรัฐชัดเจน ที่เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวร้อนแรง เงินเฟ้อสูงขึ้นจากอุปสงค์ จึงต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลให้เศรษฐกิจไม่ร้อนแรงและเกิด soft landing

      ซึ่งแตกต่างกับไทย ที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว การขึ้นดอกเบี้ยจึงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เป็น smooth takeoff

     ส่วนจะมีการประชุมกนง.รอบพิเศษหรือไม่นั้น วันนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังอยู่ในการคาดการณ์ของธปท.  

      กรณีเงินบาทอ่อน เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยไทยสหรัฐ ที่กว้างขึ้นหรือไม่ จนทำให้เกิดเงินทุนไหลออก ส่วนนี้มองว่า การอ่อนค่าของเงินบาท มาจากหลายปัจจัย แต่หากดูหลายประเทศ ที่มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยสูงกว่าสหรัฐ ก็ยังเจอกับเงินทุนไหลออก

     ดังนั้น “ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย”อาจไม่ใช่ตัวที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าเสมอไป

      โดยหากดูเงินทุนเคลื่อนย้ายของไทย เวลานี้ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน พบว่ายังเป็นการไหลเข้าสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่ 3.5 พันล้านดอลลาร์

ทุนสำรองลดมาจากตีมูลค่าสินทรัพย์ 

     ส่วนทุนสำรองธปท.ที่ลดลง มาจากการเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทหรือไม่นั้น ปัจจุบันธปท.มีความจำเป็นในการเข้ามาพยุงเงินบาทมีน้อยลงมาก ไม่เหมือนกับปี 2540 ขณะที่หากดูตัวเลขการเปลี่ยนแปลงทุนสำรอง พบว่ามาจาก 3 เรื่องสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของทุนสำรอง มาจากผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุน ซึ่งหากผลตอบแทนแทนติดลบ ทุนสำรองก็จะลดลงด้วย

      นอกจากนี้ ทุนสำรองที่ลดลง ยังมาจาก การตีมูลค่าสินทรัพย์ที่ลงทุน โดยในช่วงที่ดอลลาร์แข็งค่า สินทรัพย์ในสกุลอื่นๆก็จะอ่อนค่า ทำให้ในแง่มูลค่าอาจลดลง ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญตัวหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของทุนสำรอง เพราะธนาคารกลาง โดยทั่วไปมักถือหลายสกุลเงินในทุนสำรอง ไม่ได้มีเพียงสกุลเงินดอลลาร์เท่านั้น

โอกาสน้อยเกิด“stagfration”

     สุดท้าย คือการดำเนินนโยบายค่าเงินของธปท. เพื่อดูแลเสถียรภาพของเงินบาทไม่ให้ผันผวน ซึ่งหากดูจากทั้ง 3ปัจจัย พบว่าปัจจุบันที่ทำให้ทุนสำรองธปท.ลดลงในช่วงที่ผ่านมา มาจาก การตีมูลค่าสินทรัพย์กลับมาอยู่ในรูปของดอลลาร์เป็นหลัก เพราะดอลลาร์แข็งค่า

     “ทุนสำรองที่ลดลง มาจากหลายปัจจัย และวันนี้ความจำเป็นในการเข้าไปดูแลเงินบาทมีน้อยลง และสถานการณ์วันนี้แตกต่างกับปีก40 สิ้นเชิง ที่ตอนนั้นทุนสำรองเรามีเพียง 9 หมื่นล้านบาท แต่วันนี้ 2.47 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าหนี้ระยะสั้นถึง 2.6เท่า และทุนสำรองเราถือว่าอยู่อันดับท็อปๆของโลก ดังนั้นเสถียรภาพเราไม่น่าห่วง”

      นายเศรษฐพุฒิ ยังกล่าวต่อว่า ส่วนโอกาสที่โลกจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตอนนี้มองว่า โอกาสเกิดไม่สูง เพราะจากการประชุมร่วมกับหลายประเทศที่ผ่านมา พบว่าหลายประเทศห่วงการเติบโตของเศรษฐกิจร้อนแรง และเงินเฟ้อมากกว่า 

    แต่อาจมีความเสี่ยงที่บางประเทศจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ถ้าหมายถึงเศรษฐกิจโลกเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งรวม สหรัฐ ยุโรป จีน 

      “วันนี้ในมุมมองธปท. โอกาสเกิดขึ้นมีไม่มาก เช่นเดียวกันโอกาสเกิด “Stagflation”ของไทยที่โอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะวันนี้เศรษฐกิจไทยเพิ่งฟื้นตัว และโอกาสเห็นเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 1.5% ถือว่ามีน้อยมาก เพราะหากดูเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกที่ผ่านมาเติบโตไปแล้ว 2% ไตรมาส 2 เติบโตดีต่อเรื่องดังนั้นภาวะนี้ไม่น่าเห็น”