ครม.ไฟเขียวเงินกู้ฯ 4 พันล้าน ซื้อฟาวิพิราเวียร์ -โมนูลพิราเวียร์- ATK เพิ่ม

ครม.ไฟเขียวเงินกู้ฯ 4 พันล้าน  ซื้อฟาวิพิราเวียร์ -โมนูลพิราเวียร์- ATK เพิ่ม

ครม.ไฟเขียวใช้เงินกู้ฯ 4 พันล้าน จากวงเงินกู้ฯ 5 แสนล้าน ซื้อยารักษาโควิด-19 ทั้งฟาวิพิราเวียร์ ยาโมนูลพิราเวียร์ และชุดตรวจATK เพิ่มแจกจ่ายประชาชน รองรับสถานการณ์โควิดที่มีแนวโน้มการระบาดเพิ่มขึ้น

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้ เห็นชอบตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เสนอขออนุมัติโครงการใช้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ โมนูลพิราเวียร์ และชุดตรวจ ATK วงเงิน 3,995 ล้านบาท เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น และมีความต้องการใช้ยาชนิดนี้เพิ่มขึ้น

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบโครงการจัดหายารักษาผู้ป่วยโควิด-19  กรอบวงเงิน 3,995.2708 ล้านบาท  ระยะเวลาดำเนินงาน 3 เดือน (ก.ค. -ก.ย. 65)  แบ่งเป็นสำหรับซื้อยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์  (ของใหม่) ได้แก่  Favipiravia/Molnupiravia  เฉลี่ย 27 ล้านเม็ด/เดือน (จำนวน 1,296.00  ล้านบาท) และ  Remdesivir จำนวน 57,000 vial/เดือน (จำนวน 21.96 ล้านบาท)  วงเงินรวม 1,317.96 ล้านบาท  รวมทั้งเป็นการแบ่งค้างชำระ สำหรับ Favipiravia/Molnupiravia  165 ล้านเม็ด (จำนวน 2,653.81 ล้านบาท) และค่าชุดตรวจ ATK จำนวน 1 ล้านชุด  (จำนวน  23.50 ล้านบาท) ของเดือน มี.ค.- มิ.ย. 65 รวมวงเงิน 2,677.31 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้ โครงการจัดหายารักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19  และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับ เตรียมความพร้อมในการรับมือและป้องกันโรคโควิด-19 และดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19  สนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ ในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัยในหน่วยบริการสุขภาพทุกระดับ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การอนุมัติให้ใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ฯในครั้งนี้ใช้จากเงินกู้ที่เหลืออยู่ไม่มากนักและต้องใช้ให้คุ้มค่า 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวต่อว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบแนวทางการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศ โดยเน้นลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิดวงกว้าง  กำชับการจัดงาน กิจกรรม ต้องเป็นไปตามมาตรการ COVID Free Setting  ในการรวมตัวทำกิจกรรมอย่างเคร่งครัด และให้หน่วยงานผู้จัดกิจกรรมติดตามและประเมินมาตรการการป้องกันโควิด-19 หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมต่างๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีเน้นให้หน่วยงานต่างๆ ใช้การประสานความร่วมมือ เพื่อดูแลรองรับสถานการณ์และให้ความสำคัญในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้เศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชนดำเนินต่อไปได้   

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์โควิด-19 พบว่า หลายพื้นที่รวมทั้งกรุงเทพมหานคร มีการจัดงานและกิจกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งในเบื้องต้นวันนี้  ศปค. สธ. จะมีการประชุมหารือร่วมกับกรุงเทพมหานครเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การระบาดที่จะเกิดขึ้น จะขอความร่วมมือในการดำเนินการ 2 ส่วน คือ การลด ละ เลิก กิจกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยง  ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุข ก็พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้ความมั่นใจว่าผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงานให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ภายใต้มาตรการ COVID Free Setting  อย่างรัดกุมและปลอดภัย

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วันนี้ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 1,814 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยในประเทศ 1,813 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 1 ราย ผู้เสียชีวิต 17 ราย ผู้ที่กำลังรักษาตัว 22,735 ราย และมียอดผู้ที่หายป่วยกลับบ้านแล้ว 2,361 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วย ยืนยันสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค. 65 จำนวน 2,338,601 ราย จำนวนผู้ที่หายป่วยสะสมจำนวน 2,337,408 ราย จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 794