นักลงทุนเกาะติด SCBX เมื่อดีล “บิทคับ” ระส่ำ

นักลงทุนเกาะติด  SCBX  เมื่อดีล “บิทคับ” ระส่ำ

เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ของไทย จากปรากฏการณ์ “ยานแม่ SCBX “ เพื่อแยกธุรกิจธนาคาร และตั้งเป็นโฮลดิ้งเพื่อแสวงหาน่านน้ำใหม่ที่มีทั้งโอกาส และความเสี่ยงแต่คุ้มค่าในการเข้าไปลงทุน ทำให้เกิดดีลใหญ่ เข้าซื้อ Bitkub Online หรือบิทคับ

        ปลายปี 2564 ทาง SCB  ประกาศเข้าซื้อ “บิทคับ” ด้วยมูลค่า 17,650 ล้านบาท ซึ่งมีการทำการตรวจสอบกิจการภายใน 3 เดือน หรือดีลดิลิเจนท์ โดยมองไปถึงการเข้าสู่เทคคอมพานีเต็มตัว และผลักดันให้ธุรกิจธนาคารเป็น digital banking และขึ้นแท่นผู้นำ

        ส่งผลทำให้เกิดแรงกระเพื่อมธุรกิจธนาคาร และยังข้ามไปยังธุรกิจแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีไปด้วย เพราะเป็นการเข้าซื้อหุ้นในธุรกิจที่กำลังเป็นที่สนใจ    มีการเติบโตหรือเรียกได้ว่าเป็น “ยูนิคอร์น” ของสตาร์ทอัพ

    ด้วยตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดของบิทคับมากถึง 98%  จากจำนวนผู้เล่น 8 รายที่ได้รับใบอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. และยังมีจำนวนบัญชีหรือลูกค้าที่เข้ามาเปิดบัญชีถึง 3 ล้านบัญชี และหากรวมจำนวนบัญชีที่ยื่นขอแต่ยังไม่ผ่าน KYC มากถึง 5 ล้านบัญชี

ดังนั้นดีลดังกล่าวจึงทำให้นักลงทุนเกิดความสนใจ และสะท้อนมายังราคาหุ้นอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งทาง SCB มีช่วงที่ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเดือนเม.ย. ซึ่งมาจากประชุมผู้ถือหุ้น อนุมัติการ SWAP หุ้น จาก SCB เป็น SCBX และจะนำหุ้น SCB ออกจาก SET และเปลี่ยนเป็น SCBX แทน ในเดือนเม.ย.2565 จากเดิมเกิดขึ้นในเดือนก.พ.

         ทั้งนี้การ SWAP หุ้นถือว่ามีความจูงใจทั้งธุรกิจใหม่ และการจ่ายปันผลพิเศษให้กับผู้ถือหุ้น SCBX ในวงเงินราว 70,000 ล้านบาท ในราวเดือนมิ.ย.2565 ซึ่ง 70% ของวงเงินจะนำไปใช้ในเรื่องการโอนธุรกิจ และจัดตั้งธุรกิจต่างๆ อีกราว 20-30% จะใช้จ่ายปันผลพิเศษแก่ผู้ถือหุ้น SCBX ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสามารถจ่ายปันผลได้ราว 4 บาท หรือคิดเป็นอัตราเงินปันผลตอบแทนราว 3.2%  

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของ SCBX  มีคลื่นใต้น้ำอยู่ตลอดถึงการล่มดีล “บิทคับ”  ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือในธุรกิจ คริปโทฯ ในไทย  จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศเกณฑ์ห้ามนำเหรียญมาใช้เป็นเสมือนเงินตรา และไม่ให้ Exchange เข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบหลังบ้าน รวมทั้ง Wallet จนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เหรียญ KUB ที่ออกโดย บิทคับ ปรับตัวลดลงจากที่ขึ้นไปทำนิวไฮหรือ Go to the moon

        ตามมาด้วยการปรับตัวลดลงของตลาด คริปโทฯ จนกลายเป็นภาวะหมี เมื่อมีการดึงสภาพคล่องออกจากตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก จนมีการเทขายเหรียญสำคัญทุกเหรียญร่วงลงสู่จุดนิวไลว์   โดยเฉพาะ “บิตคอยน์” ที่ลงไปลึกถึง 17,000 ดอลลาร์ จากปลายปี 2564 อยู่ที่ 50,000 ดอลลาร์  

      ขณะเดียวกัน "บิทคับ" เจอปัจจัยลบเฉพาะตัวจากการลงดาบคาดโทษของก.ล.ต. หลายต่อหลายครั้งและครั้งล่าสุด เดือนมิ.ย.2565 ลงโทษทางแพ่งกรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ซึ่งมีการสั่งปรับ 24.16 ล้านบาท พร้อมห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 6 เดือน และห้ามผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร 12 เดือน 

       หลังพบส่งคำสั่งจับคู่ซื้อขายเหรียญคริปโทฯ จำนวน 4 เหรียญ ได้แก่ Bitcoin (BTC) Bitcoin Cash (BCH) Ethereum (ETH) และ Ripple (XRP) โดยเป็นการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีของตนเองในศูนย์ซื้อขาย Bitkub  การจับคู่ซื้อขายกันเองในแต่ละเหรียญดังกล่าว มีสัดส่วนตั้งแต่ 84 – 99% ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมดของนายอนุรักษ์ และตั้งแต่  57 – 99% ของปริมาณการซื้อขายรวมทั้งตลาด

        จนมาถึงการประกาศอย่างเป็นทางการของ SCBX เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2565  ว่าดีลดิลิเจนท์หรือการตรวจสอบทานเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญทางธุรกิจยังไม่แล้วเสร็จ และอยู่ในกระบวนการหารือกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง  ทำให้จำเป็นต้องขยายระยะเวลาในการเข้าทำธุรกรรมออกไปจากกำหนดเดิมคาดจะแล้วเสร็จไตรมาส 1 ปี 2565

       ปัจจุบันระยะเวลาที่ทำดีลดังกล่าวไม่มีการกำหนดเวลาแล้วเสร็จที่ชัดเจน รวมไปถึงตัวเลขมูลค่า  17,650 ล้านบาท ในภาวะ และสถานการณ์วันนี้อาจจะเป็นราคาที่แพงเกินไปสำคัญการเข้าซื้อธุรกิจดังกล่าว !!

           แม้ว่าวงในธุรกิจแบงก์ต่างมองว่าดีล SCBX ซื้อ Bitkub อย่างไรก็ต้องดำเนินการต่อแต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือ แต้มต่อรองที่ SCBX มีในวันนี้กลับมีน้ำหนักมากขึ้น จนทำให้นักลงทุนเฝ้าดูดีลนี้ว่าเป็นการได้ที่คุ้มเสียแค่ไหน ?

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์