'บัณฑิต'เตือนรับมือศก.ถดถอย - เงินเฟ้อสูง นโยบายการเงิน - การคลัง ต้องรัดกุม

'บัณฑิต'เตือนรับมือศก.ถดถอย - เงินเฟ้อสูง นโยบายการเงิน - การคลัง ต้องรัดกุม

“บัณฑิต” ชี้ไทยจ่อเจอผลกระทบศก.ชะลอตัว แนะรัฐแก้เงินเฟ้อก่อนลำดับแรก ขึ้นดอกเบี้ยเป็นสิ่งจำเป็น แนะใช้กลไกตลาดมากกว่าแทรกแซงราคา แนะตั้งกองทุนหนุนลงทุนสตาร์ทอัพ "สันติ" แนะรัฐบาลเร่งเดินหน้าอีอีซี - เปิดกว้างดึงสตาร์ทอัพลงทุน

วานนี้ (10 ก.ค.) พรรคสร้างอนาคตไทย จัดงานสัมมนา หัวข้อ “เจาะลึกวิกฤติ ร่วมคิดทางออก (Economic wrap up and recommendation)” เพื่อนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย 

ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคม และธรรมาภิบาล ​กล่าวในเวทีเสวนาฯว่า ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว มีปัญหาระยะสั้นคือเศรษฐกิจชะลอตัว และจะมีการถดถอยในภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่ดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นเร็ว และเงินเฟ้อเพิ่มในอัตราเร่ง ถือเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อนในช่วง 20 -30 ปี ในการออกนโยบายต่างๆอาจผิดพลาดได้ถ้าไม่ดูให้รอบครอบดังนั้นนโยบายการเงิน และการคลังต้องรัดกุม  

ขณะที่ในระยะยาวโลกยิ่งยากมากขึ้นเมื่อมีการแบ่งฝ่าย โลกที่เกิดจะมีต้นทุนเรื่องพลังงานและอาหารสูงจากเงินเฟ้อที่สูงมากขึ้น โดยโอกาสของประเทศไทยอยู่ในเรื่องของอาหารถ้าเราสามารถทำได้คือการส่งออกอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น 

"คำถามคือเราจะอยู่อย่างไรในภาะที่โลกมีภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว มีความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจจะถดถอย และสถานการณ์นี้จะส่งผลกระทบมายังประเทศไทย เราจะเจอลมแรง 4 – 5 อย่างที่กระทบเศรษฐกิจทั้งเรื่องส่งออกและท่องเที่ยว ราคาพลังงาน อาหารที่สูง เงินเฟ้อสูงต้นทุนจะสูง อัตราดอกเบี้ยสูง ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ทำให้เงินไหลออกทำให้ค่าเงินบาทอ่อน ปัญหาที่เกิดจะยืดเยื้อ เพราะมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ต้องดูแลในเรื่องของระยะยาวด้วย"

นายบัณฑิตกล่าวต่อไปว่าในภาวะเช่นนี้ แนวคิดที่จะเข้าไปใช้จ่ายในภาครัฐ ต้องระวัง เพราะภาวะที่ซัพพายขยับตัวยากอัตราเงินเฟ้อสูง และเศรษฐกิจชะลอตัว หากเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำดอกเบี้ยต่ำ เงินเฟ้อจะยิ่งกลายเป็นเร่งตัวขึ้น และจะแก้ไขยากมากขึ้นไปอีก และหากจะเน้นไปที่การขยายตัวของเศรษฐกิจในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยก็ยิ่งทำให้รัฐบาลอาจก่อหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก 

“สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือเราต้องทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวได้ เหมือนตุ๊กตาล้มลุก เราไม่สามารถที่จะไปทัดทานได้หากสินค้าจะขึ้นราคาจากต้นทุนที่เพิ่ม สิ่งที่ทำได้คือป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคาที่สูงกว่าต้นทุน” 

ทั้งนี้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจต้องดำเนินการทาง 3 เรื่อง 1.ต้องแก้ปัญหาเงินเฟ้อก่อน เพราะกระทบทุกคน ต้องใช้กลไกตลาดมากกว่าการควบคุมราคาสินค้า เพราะการควบคุมราคานั้นจะทำได้แค่ระยะสั้นเท่านั้น หากไปควบคุมสินค้าก็จะขาดแคลน และให้สินค้าเพิ่มตามต้นทุนจริง

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องคิดจริงจังคือการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะอัตราดอกเบี้ยแท้จริงของเราติดลบถือว่านโยบายการเงินผ่อนคลายมากเกินไป หมายความว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อ การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลดลง และช่วยลดการอ่อนค่าของเงินบาทได้

“การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยแสดงความมุ่งมั่นของการคุมเงินเฟ้อที่ผู้ผลิตมองอยู่ว่าผู้ที่มีหน้าที่ดูแลเงินเฟ้อมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้ในระยะต่อไป” 

2.ช่วยเสริมสภาพคล่อง ประคองหนี้ และดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลง และเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวได้ช้า สำหรับการหาแหล่งเงินทุนให้เอสเอ็มอี สามารถที่จะตั้งเป็นกองทุนระดมเงินจากประชาชน และเอกชนเพื่อช่วยเหลือในการลงทุน และสร้างโอกาสในการพัฒนาเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ

และ 3.ต้องทำในเรื่องของการประหยัด โดยภาครัฐต้องทำหน้าที่เป็นตัวอย่าง เช่นในญี่ปุ่นรัฐบาลเป็นตัวอย่างของการประหยัดพลังงาน ทำให้ประชาชนเห็นว่าทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน

'บัณฑิต'เตือนรับมือศก.ถดถอย - เงินเฟ้อสูง นโยบายการเงิน - การคลัง ต้องรัดกุม

นายสันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทยกล่าวว่าไทยเผชิญกับโควิด-19 มา 2 ปีเศษ การเกิดของโควิดทำให้เกิดอัตราเร่งในการเปลี่ยนแปลง นโยบายการเงินการคลังแบบเดิม การทำธุรกิจในแบบรูปแบบเก่า (old economy) ไม่สามารถทำได้ต้องมีการปรับตัวกันทุกฝ่าย รวมทั้งนโยบายที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถที่จะแข่งขันในสังคมโลกได้

พรรคสร้างอนาคตไทยมีการออกนโยบาย 5 สร้าง และอย่างหนึ่งคือ การสร้างเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งและทันสมัย การสร้างภาคเศรษฐกิจใหม่โครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคตสร้างสังคมที่เกื้อกูลเป็นธรรมและยั่งยืนสร้างคนและวิทยาการพร้อมเพื่อก้าวสู่สังคมโลกแห่งอนาคต และสร้างการเมืองที่สร้างสรรค์พลังบวก

โดยในเรื่องของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจพรรคก็มองว่าในเรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)ที่ได้ริเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีขับเคลื่อนไว้ โดยพื้นที่อีอีซีนอกจากการดึงดูดเอกชนรายใหญ่เข้ามาลงทุน แก็ควรมีการสนับสนุนในเรื่องของสตาร์ทอัพนั้นไม่จำเป็นต้องจำกัดแค่สหรัฐฯในซิลิกอน วัลเลย์ แต่อิสราเอลก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีสตาร์ทอัพมาก และมีศักยภาพที่จะมาในไทยได้