เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง : เงินเฟ้อและความท้าทาย | บัณฑิต นิจถาวร
ศุกร์ที่แล้วผมได้ให้ความเห็นเรื่องเศรษฐกิจในรายการตอบโจทย์ของสถานีไทยพีบีเอส สนทนากันเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังและทางเลือกในการฟื้นฟูประเทศ
วันนี้จึงอยากแชร์ความเห็นที่ให้ไปเกี่ยวกับเศรษฐกิจครึ่งปีหลังให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ
มุมมองและความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังขณะนี้ ต้องยอมรับว่ายังไม่ไปในทางเดียวกัน ด้านเศรษฐกิจโลกความเห็นส่วนใหญ่ คือ เศรษฐกิจโลกจะชะลอในช่วงครึ่งปีหลังและมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากผลกระทบของภาวะสงครามและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ เพื่อสู้กับเงินเฟ้อ
ธนาคารกลางสหรัฐคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องจนกว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะผ่อนคลายลง แม้จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอหรือถดถอย แนวนโยบายนี้สะท้อนความมุ่งมั่นของธนาคารกลางสหรัฐที่จะลดอัตราเงินเฟ้อซึ่งจะส่งผลกระทบกว้างขวางต่อเศรษฐกิจโลก ทําให้เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะชะลอ
เศรษฐกิจไทยซึ่งเป็นเศรษฐกิจเปิดคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่มาจากเศรษฐกิจโลกได้ คือถูกกระทบแน่นอนในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะกระทบการส่งออกและท่องเที่ยว ราคานํ้ามันที่แพง และอัตราเงินเฟ้อที่สูงในต่างประเทศที่จะกดดันราคาสินค้าในประเทศให้เพิ่มขึ้น
อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในเศรษฐกิจโลกที่จะทําให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศต้องปรับขึ้นตามกระทบการใช้จ่ายและเพิ่มภาระในการชําระหนี้ การไหลออกของเงินทุนต่างประเทศจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่จะกว้างขึ้นที่จะกระทบสภาพคล่องในประเทศ และการอ่อนค่าของเงินบาท
สิ่งเหล่านี้คือผลกระทบทางลบจะมีต่อเศรษฐกิจเราในช่วงครึ่งปีหลัง
อย่างไรก็ตาม การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ต่อไปได้ในช่วงครึ่งปีหลังแม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอ ขับเคลื่อนโดยการส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภคและการลงทุนในประเทศ
หมายความว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถทัดทานผลกระทบทางลบของเศรษฐกิจโลกได้ และจะสามารถประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นได้ต่อเนื่องช่วงครึ่งปีหลัง
ซึ่งข้อสมมติสำคัญเบื้องหลังผลวิเคราะห์นี้คือ
1.อัตราเงินเฟ้อในประเทศจะปรับขึ้นสูงสุดในไตรมาสสามปีนี้จากนั้นจะลดลง
2.การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง โดยประเมินว่าจํานวนนักท่องเที่ยวปีนี้จะเพิ่มถึงประมาณ 6 ล้านคนจาก 4 แสนคนปีที่แล้ว
คําถามคือ เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งพอที่จะทัดทานผลกระทบทางลบของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังอย่างที่ส่วนใหญ่ประเมินได้หรือไม่ การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้อย่างที่หวังหรือไม่ และอัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงในช่วงครึ่งปีหลังได้หรือไม่ นี่คือความท้าทาย
ในความเห็นของผม การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่ต้องระวังมากสุด เพราะอัตราเงินเฟ้อคราวนี้เป็นผลจากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ปรับสูงขึ้นจากผลของสงคราม แรงกดดันต่อเงินเฟ้อจึงจะไม่ลดลงง่ายๆ และจะยืดเยื้อถ้าสงครามยังมีอยู่ ที่สำคัญการดําเนินมาตรการแก้ไขเงินเฟ้อในบ้านเรา
สำคัญสุดคือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังไม่เกิดขึ้น ทําให้โอกาสที่เงินเฟ้อจะพีคหรือผ่านจุดสูงสุดในไตรมาสสามตามที่วิเคราะห์ยิ่งจะน้อยลง ตรงกันข้าม ถ้าอัตราเงินเฟ้อในประเทศยังเป็นขาขึ้นหรือยืนอยู่ในระดับที่สูงช่วงครึ่งปีหลัง โอกาสที่เศรษฐกิจเราจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องก็จะน้อยลง เพราะเศรษฐกิจจะขยายตัวไม่ได้ถ้าประเทศมีอัตราเงินเฟ้อสูง
ล่าสุดตัวเลขเศรษฐกิจเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นเดือนที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศเราเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 7.1 อัตราการขยายตัวของการใช้จ่ายในประเทศก็เริ่มแผ่วลงถ้าวัดอัตราการเพิ่มเดือนต่อเดือน แม้ตัวเลขเทียบกับปีก่อนหน้าจะแสดงการฟื้นตัวต่อเนื่อง
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อจึงเป็นเรื่องที่นโยบายเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังต้องให้ความสำคัญ และอัตราดอกเบี้ยควรต้องปรับขึ้นเร็วสุดและเพียงพอที่จะลดแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศ แม้ในระยะสั้นจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่จะดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะถ้าเงินเฟ้อไม่ลดเศรษฐกิจก็จะไม่ขยายตัว
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อที่ประเทศมีใน 3 ทาง
1.ลดการใช้จ่ายในประเทศที่ไม่จำเป็น ที่ฟุ่มเฟือย ที่ประชาชนใช้จ่ายอย่างเกินตัว กระตุ้นโดยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก
2.ลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศกับต่างประเทศเพื่อชะลอการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ ลดแรงกดดันต่อสภาพคล่องและค่าเงินบาท เพราะถ้าเงินบาทอ่อนค่ามากก็จะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศปรับสูงขึ้นและต่อเนื่องเช่นกัน
3.ลดแรงจูงใจที่ผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการจะปรับค่าจ้าง ค่าเช่า และราคาสินค้าขึ้นตามเงินเฟ้อ เพราะถ้าเกิดขึ้น อัตราเงินเฟ้อจะยิ่งบานปลายและแก้ยาก การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเหมือนเป็นแนวป้องกันที่สองที่สร้างความมั่นใจกับประชาชนว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงในอนาคตทำให้ผู้ประกอบการไม่ตื่นตระหนกและปรับราคาขึ้น นี่คือเหตุผลทําไมธนาคารกลางสหรัฐจึงปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาก
แนวโน้มเศรษฐกิจเราครึ่งปีหลังจึงขึ้นกับเศรษฐกิจโลกและการแก้ปัญหาเงินเฟ้อเป็นสำคัญ ความท้าทายคือนโยบายจะตระหนักในความสำคัญนี้และทํามาตรการที่ควรทําได้ทันเวลาและทันต่อสถานการณ์หรือไม่ นี่คือความเห็นที่ให้ไป.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]