‘บัณฑิต นิจถาวร’แนะทางรอดวิกฤติ ‘ทำนโยบายการเงินการคลังต้องไม่ประมาท’

‘บัณฑิต นิจถาวร’แนะทางรอดวิกฤติ ‘ทำนโยบายการเงินการคลังต้องไม่ประมาท’

บัณฑิต นิจถาวร” ชี้ไทยแกร่ง ห่างไกลวิกฤติต้มยำกุ้ง ชี้เศรษฐกิจไทยหลังเจอวิกฤติ 10ปีแรกฟื้นตัวดี แต่ 10หลังถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยขาดการปฏิรูป ส่งผลเศรษฐกิจติดกับดักรายได้ปานกลาง เศรษฐกิจโตช้า แนะทางรอดวิกฤติ “นโยบายการเงินการคลัง นโยบายภาครัฐ”ต้องไม่ประมาท

     ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ถือว่าแข็งแกร่งขึ้นมาก หากเทียบกับ ช่วงที่ต้องเผชิญกับวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อ 25 ปีก่อน ซึ่งจากบทเรียนต้มยำกุ้งที่ผ่านมา สร้างบทเรียนให้กับเศรษฐกิจไทย ทั้งใน “แง่ดี” และ “ไม่ดี” 
    10ปีแรก หลังเจอวิกฤติต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยถือว่าฟื้นตัวได้ดี จากการแก้วิกฤติ โดยการปฏิรูปหลายด้านให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการเงิน ที่มีภาคนโยบายที่เข้มแข็ง เพื่อป้องกันวิกฤติเกิดขึ้นอีก ซึ่งถือว่าประสบความเร็จ ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เคยเจอวิกฤติหลังจากนั้นเลย 

     ท่ามกลางการเกิดวิกฤติโลก เช่นวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือ Subprime Crisis ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับเศรษฐกิจโลก จากการที่เศรษฐกิจไทย มีการเร่งปฏิรูปภาคการเงินที่สำคัญทั้งการ เปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นลอยตัว ใช้นโยบายการเงินแบบ Inflation Targeting

      การดูแลระบบสถาบันการเงินอย่างมีวินัยมากขึ้น ผ่านการใช้มาตรฐานระดับโลกอย่าง Basel III ส่งผลให้สถาบันการเงินในประเทศแข็งแกร่งมากขึ้น

       ขณะที่ การบริหารความเสี่ยงด้านการเงิน ถือว่าทำได้ดี ทั้งการมีทุนสำรองทางการที่มีเพียงพอ การพัฒนาตลาดพันธบัตรขึ้นมา ให้กลายเป็นตลาดกลาง ของตลาดการเงินไทย อีกตลาด เพื่อเป็นตัวเลือกสำคัญให้ภาคธุรกิจ ใช้ในการกู้ยืมโดยตรง เหล่านี้ช่วยให้สามารถกระจายความเสี่ยงออกจากระบบสถาบันการเงินได้
       ขณะที่ภาคธุรกิจ มีการพัฒนาด้านธรรมาภิบาลมากขึ้น ซึ่งต่างกับวิกฤติปี 2540 ที่มาจากการก่อหนี้เกินตัว จากปัญหาธรรมภิบาล ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงที่ดีเหล่านี้ จึงทำให้เศรษฐกิจไทย ในช่วง 10ปีที่ผ่านมาแข็งแรงเข็มแข็งพอ และสามารถทัดทาน่ผลกระทบจากวิกฤติซับไพรม์ได้ดี 
     แต่ขณะเดียวกัน ในช่วง 10ปีหลังจากนั้น เศรษฐกิจไทย ไม่ได้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ หรือนโยบายสำคัญๆ เลย  เช่น ไม่มีการปฏิรูประบบการศึกษา เพิ่มการแข่งขัน หรือการพัฒนาตลาดแรงงาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ หรือที่เกี่ยวกับอินโนเวชั่น ที่เศรษฐกิจไทยไม่ได้ทำมากพอ

     นอกจากนี้ ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย ยังมีปัญหาธรรมภิบาลของภาครัฐ และความไม่มีเสถียรภาพทางเมืองในประเทศ ทำให้การปฏิรูปเพื่อเสริมสร้างความสามารถการแข่งขันในประเทศไม่ได้เกิดขึ้นจริง ส่งผลให้ภาคการส่งออกไทย ไม่ได้รับการพัฒนา หรือมีการส่งออกใหม่ แต่ยังคงยึดติดกับโลกเก่าๆ ทำให้ผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยชะลอตัว 
     อีกทั้งยังมีช่องว่างมาก ทั้งบุคลากร ระหว่างการศึกษา ทักษะระหว่างอุตสาหกรรรมใหม่ที่เป็นที่ต้องการ
    ทำให้เศรษฐกิจไทย ไม่มีโมเมนตัมไปต่อ เหล่านี้กลายเป็นจุดอ่อน หรือโซ่ตรวนทำให้เศรษฐกิจไทย ไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ง่ายขึ้น 
     ซึ่งส่งผลให้ เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยังไม่สามารถออกจาก “กำดักรายได้ปานกลาง”ได้

    เพราะเศรษฐกิจไทยไม่สามารถเพิ่มความสามารถการแข่งขัน และเพิ่มผลิตภาพการผลิตใหม่ๆได้ ส่งผลให้ “เรา”ยังคงต้อง “ติดกับดัก”กับเรื่องเดิมๆ ทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนได้ช้า แม้มีศักยภาพสูง แต่โตต่ำ ยิ่งทำให้ต้นทุนยิ่งสูงขึ้น ไม่สามารถแข่งขันได้ หากเทียบกับ เวียดนามที่กลายเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยเวลานี้ 
     ดังนั้นถามว่า เศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญกับวิกฤติซ้ำ เหมือนต้มยำกุ้งหรือไม่ เชื่อว่า ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายการเงินการคลังเป็นคลัง นโยบายของประเทศเป็นหลัก เพราะหากทำนโยบายให้เศรษฐกิจอ่อนแอ มีหนี้เยอะ เศรษฐกิจไทยก็อาจอ่อนไหวทำให้เสี่ยงเจอกับวิกฤติขึ้นมาใหม่ได้ เพราะวิกฤติส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่มาจากปัญหา “หนี้” เช่นเดียวกับที่สีลังกา หรือลาวกำลังเผชิญ
    อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเป็นห่วง ว่าเศรษฐกิจโลกถดถอย คนเริ่มพูดถึงวิกฤติ หรือวิกฤติต้มยำกุ้ง ต้องบอกว่าวันนี้ เป็นคนละภาพ กับสิ่งที่เจอตอนวิกฤติปี 40  ซึ่งสิ่งที่โลกกำลังเผชิญวันนี้ มาจาก ปัญหาจาก เงินเฟ้อที่เร่งตัว ผลของสงคราม ทำให้เศรษฐกิจต้องถูกกระทบ 
     “วิกฤติต้มยำกุ้ง กับวิกฤติจากภายนอกโลกวันนี้ ทั้งสองวิกฤติต่างกัน วันนี้เราเข้มแข็งหลายด้าน ในเชิงป้องกัน และมีความเข้มแข็งในด้านระบบการเงิน และมีนโยบายการคลังที่มีวินัย มีกรอบการเงินการคลัง เพดานเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เรามากขึ้น” 
     อย่างไรก็ตาม หากดูระบบการเงินไทย ปัจจุบันถือว่าเข้มแข็งมาก ทั้งการบริหารความเสี่ยงของแบงก์ ความเพียงพอของเงินกองทุน ความโปร่งใสของระบบบัญชี ทำให้ภาพต่างชัดเจนกับ 25 ปีก่อน 
     ขณะที่ประเทศที่เป็นจุดอ่อนในหลายประเทศ คือหนี้ต่างประเทศ จากวิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศไทยระมัดระวังในการสร้างหนี้ ภาคเอกชนกู้ยืมต่างประเทศระดับต่ำ ล่าสุดหนี้ประเทศอยู่เพียง 38% ของจีดีพีเท่านั้น ขณะที่ความเพียงพอของเงินสำรองทางการ ล่าสุด อยู่ที่ 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ในปริมาณมาก ที่ทำให้เศรษฐกิจมีกันชนเพียงพอในการรองรับผลกระทบต่างๆได้
       อีกทั้ง หลังเกิดวิกฤติปี 2540 ไทยได้ร่วมมือกับอาเซียน ในการช่วยป้องกันวิกฤติกว่า 10ประเทศอาเซียน +3 สิ่งเหล่านี้ ทำให้ฐานะประเทศมีความแข็งแกร่งมากขึ้น
ดังนั้นมั่นใจพอสมควร ว่าเศรษฐกิจไทย จะสามารถ “ฝ่า”แรงกดดันที่มาจากภายนอกได้

    แต่ที่สำคัญ ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทย “รอดวิกฤติได้” คือการทำนโยบายที่ต้องไม่ประมาท เพราะหากประมาท อาจเกิดช็อคได้ วิกฤติรอบนี้ สิ่งที่ต้องเน้นคือ จำเป็นต้องทำ “นโยบาย”เพื่อสนับสนุนให้เกิดการปรับตัว กับภาวการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้เป็นไปตามกลไกตลอด อย่าเข้าไปแทรกแซง เพราะจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีข้อจำกัดในการปรับตัวมากขึ้น 

    นอกจากนี้ ทางการต้องให้ความสำคัญด้านเงินเฟ้อ เพราะหากเงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจไทยอาจมีข้อจำกัดมากขึ้น ในการฟื้นตัว ดังนั้นทางการจำเป็นต้องให้ความสำคัญสูงสุด เพราะหากเงินเฟ้อยิ่งสูง เศรษฐกิจไทยยิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้น การฟื้นตัวยิ่งทำได้ยาก ต้นทุนยิ่งสูง การแข่งขันทำได้ยาก นักลงทุนภาคธุรกิจไม่สามารถวางแผนในการลงทุนในอนาคตได้ 
ถัดมา ภายใต้วิกฤติที่กำลังจะเกิดขึ้นกับโลก เราต้องประหยัด เศรษฐกิจไทยก็เช่นเดียวกัน ต้องใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ภาครัฐและเอกชนต้องให้ความสำคัญ และภาครัฐต้องเป็นตัวอย่างในการประหยัด เช่นเดียวกับรัฐบาลญี่ปุ่นที่หนุนให้คนประหยัดมากขึ้น ท่ามกลางดอกเบี้ยสูงขึ้น 
    สิ่งที่ต้องระวัง แม้หนี้ต่างประเทศต่ำ แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทย กำลังเผชิญกับ “หนี้ครัวเรือนสูง” ปัญหาการกู้ยืม ที่ต้องดูแลมากขึ้น ต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อทำให้ธุรกิจ และครัวเรือนอยู่ได้ ภายใต้ภาวะดอกเบี้ยแพงขึ้น  รวมถึง การดูแลสภาพคล่อง การดูแลเงินบาทดูแลความผันผวนเงินบาท ฯลฯ 
     “ท่ามกลางความท้าทายที่เราเผชิญในปัจจุบัน ประชาชนบางส่วนไม่สามารถปรับตัวได้ เนื่องจากไม่มีรายได้ อันนี้คือกลุ่มเป้าหมายหลัก ที่ต้องอาศัยนโยบายจากภาคการคลังเข้าไปช่วย ซึ่งภายใต้ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน เราสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เป็นวิกฤติได้ แต่ต้องไม่ประมาท และต้องให้ความสำคัญกับ การปรับตัว การแก้ไขเงินเฟ้อ การประหยัด การดูแลการชำระนี้ ดูแลสภาพคล่อง และช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เราจะเข้มแข็งขึ้น หากเศรษฐกิจไทยมีนโยบายที่ถูกต้อง”