สสว.เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME เดือนพ.ค. ปรับตัวลดลง เหตุต้นทุนพุ่ง

สสว.เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME เดือนพ.ค. ปรับตัวลดลง เหตุต้นทุนพุ่ง

สสว. เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME เดือน พ.ค. ปรับลดลงอยู่ที่ 49.5 รวมทั้งดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนหน้า ผลจากกำลังซื้อชะลอตัว ต้นทุนธุรกิจท ราคาวัตถุดิบและการขนส่งสูงขึ้นต่อเนื่อง

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนพ.ค. 2565 พบว่าค่าดัชนี SMESI ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 49.5 จากระดับ 50.5 ในเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยสำคัญมาจากกำลังซื้อชะลอตัวลง ราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้องค์ประกอบในการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต การค้า การบริการ ต้นทุน และกำไร ปรับตัวลดลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 51.6 ลดลงจาก 52.1

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายภาคธุรกิจพบว่า ส่วนใหญ่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ทั้งภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคการบริการ มีเพียงภาคการเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็นผลจากเริ่มมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในช่วงการเตรียมฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือปัจจัยการผลิตภาคการเกษตรและปศุสัตว์ อาทิ ปุ๋ย เคมี ยาและอาหารสัตว์ ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนในการดำเนินกิจการได้

สำหรับดัชนี SMESI รายภูมิภาค เดือน พ.ค. 2565 พบว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นภูมิภาคเดียวที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 51.0 จากระดับ 50.5 โดยมีปัจจัยบวกมาจากการผ่อนปรนมาตรการภาครัฐ และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ส่งผลดีต่อธุรกิจโรงแรมและสถานบันเทิง ร้านอาหารกึ่งผับ 

ขณะที่ภูมิภาคอื่นค่าดัชนีลดลง ได้แก่ ภาคเหนืออยู่ที่ 50.7 ภาคกลาง 52.2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 50.2 ภาคใต้ 43.8 และภาคตะวันออก 48.7 

 

“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในเดือน พ.ค. ค่าดัชนีปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวลดลง แต่เนื่องจากค่าดัชนีในปัจจุบันอยู่ในระดับใกล้เคียงค่าฐานและค่าดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับเกินค่าฐาน 50 สะท้อนได้ว่าผู้ประกอบการยังคงมีความเชื่อมันในการดำเนินธุรกิจ ผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดขอโควิด-19 ที่คลี่คลายลง ทำให้ผู้บริโภคลดความกังวล และมีแนวโน้มสัญญาณที่ดีในการออกไปทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกบ้านเพิ่มมากขึ้น”

นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการ SME จำนวน 2,718 ราย จาก 25 สาขาธุรกิจ ในพื้นที่ 6 ภูมิภาค ระหว่างวันที่ 19-27 พ.ค. 2565 เกี่ยวกับปัญหาในการดำเนินงาน และการปรับตัวของผู้ประกอบการในสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ปัญหาหลักของผู้ประกอบการ คือด้านต้นทุน คิดเป็น 41% รองลงมาคือ ด้านกำลังซื้อผู้บริโภค คิดเป็น 39.2% ด้านคู่แข่งขัน13.1% ด้านหนี้สินกิจการ 2.4% และด้านแรงงาน ทั้งค่าแรงที่สูงขึ้นและขาดแรงงานที่มีทักษะ19% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ยังคงต้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการบริหารจัดการด้านต้นทุน เพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภคอันเนื่องมาจากการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับด้านคู่แข่งขัน โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ และการทำการตลาด เช่น การจัดโปรโมชั่น โปรโมทร้านผ่านช่องทางต่าง ๆ 

รวมถึงปัญหาหนี้สินและปัญหาด้านแรงงาน ซึ่งแนวทางที่ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ เช่น การควบคุมราคาสินค้าและวัตถุดิบ ควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง สนับสนุนองค์ความรู้ด้านการวางแผนจัดการต้นทุนธุรกิจ การขยายเวลามาตรการพักชำระหนี้ เป็นต้น