ถกโรงกลั่นวุ่น "กฤษฎีกา" ติงกฎหมายมีช่องโหว่ห่วงโดนฟ้อง นัดคุยต่อพรุ่งนี้

ถกโรงกลั่นวุ่น "กฤษฎีกา" ติงกฎหมายมีช่องโหว่ห่วงโดนฟ้อง นัดคุยต่อพรุ่งนี้

“พลังงาน” เดินหน้าถก 6 โรงกลั่นอีกรอบพรุ่งนี้ (29 มิ.ย.) ล่าสุด "กฤษฎีกา" ตีความสามารถทำได้ แต่ต้องทำหนังสือลงนามไม่ใช้สัญญาปากเปล่า หวั่นมีปัญหาฟ้องร้องตามมาในอนาคต

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ยังคงเดินหน้าหารือกับ 6 โรงกลั่นอย่างต่อเนื่องเพื่อขอความร่วมมือนำกำไรในช่วงนี้มาเสริมสภาพคล่องให้กับสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ล่าสุดคณะอนุฯ ที่ตั้งขึ้นจะหารือกับตัวแทน 6 โรงกลั่นอีกครั้งวันที่ 29 มิ.ย.2565 ซึ่งล่าสุดทั้งสำนักงานกฤษฎีกา และอัยการสูงสุด ได้ตีความกลับมาในระดับหนึ่งแต่ก็ยังไม่มั่นใจ โดยให้ทำหนังสือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะหากจะหารือด้วยวาจาอาจจะมีปัญหาการฟ้องร้องตามมา

นอกจากนี้ เท่าที่ทราบข้อมูลทางโรงกลั่นเองก็ยังไม่ยอมเปิดข้อมูลที่แท้จริง ซึ่งตลอดเวลาที่หารือเป็นเดือนมีการเลื่อนไปเลื่อนมา และยังไม่ได้ข้อสรุปร่วมกัน ส่วนตัวในฐานะที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานของนโยบายหรือกองทุนน้ำมันมองว่า กระทรวงพลังงาน ควรถึงเวลาแล้วที่จะเลิกอุ้มราคาน้ำมันดีเซลโดยการใช้เงินกองทุนน้ำมันที่เป็นจำนวนเงินที่สูงขนาดนี้ และอาจจะใช้วิธีอื่นร่วมกับค่อยๆ ปรับขึ้นราคา เพราะเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อบ้านราคาดีเซลทะลุไปลิตรละกว่า 40 บาทหมดแล้ว

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าขอกำไรโรงกลั่นสามารถทำได้ เพราะเป็นการขอความร่วมมือด้านการเงินเฉพาะกิจ ไม่ได้เก็บตลอด ถือเป็นช่วงวิกฤติในช่วงนี้เท่านั้น อดีตที่ผ่านมากองทุนน้ำมันดูแลราคาพลังงานเฉพาะช่วงวิกฤติ ซึ่งช่วงที่โรงกลั่นบอกว่าขาดทุนนั้นราคาน้ำมันถือว่าไม่ได้วิกฤติ และกำไรน้อยคือช่วงที่เกิดโควิด-19 เท่านั้น โดยวัตถุประสงค์หลักของกองทุนน้ำมันก็เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันในราคาที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤติ ซึ่งตอนนี้เกิดวิกฤติขึ้นแล้ว แต่เงินของกองทุนน้ำมันไม่พอจึงต้องมาขอเรียกเก็บเงินเฉพาะกิจดังกล่าว

 

 

 

“เข้าใจว่าค่าการกลั่นของแต่ละโรงกลั่นไม่เท่ากัน และไม่มีใครทราบตัวเลขที่แท้จริง ต้องเข้าใจว่านี่เป็นต้นทุน ไม่มีใครรู้ต้นทุนของเขาจริงๆ เพราะเป็นเรื่องทางการค้า โรงกลั่นแต่ละโรงซื้อของก็ได้ราคาไม่เท่ากัน โรงใหญ่สายป่านดีก็อาจซื้อได้ถูกกว่า เป็นต้น เรื่องนี้เป็นเรื่องของกลไกราคาไม่มีใครรู้นอกจากตัวโรงกลั่นเอง เข้าใจว่าค่าการกลั่นที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ทำขึ้นเป็นตัวเลขอ้างอิง ว่าการซื้อน้ำมันน่าจะอยู่ระดันนี้ แต่โรงกลั่นไปซื้อเท่าไรก็เป็นเรื่องของเขา”

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่ากฎหมายที่จะเรียกเก็บเงินจากโรงกลั่น เบื้องต้นจะต้องแยกกฎหมายตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 มาตรา 27 อัตราเงินชดเชยตามมาตรา 29 อัตราเงินคืนจากกองทุนตามมาตรา 31 และอัตราเงินชดเชยคืนกองทุนตามมาตรา 32 โดยอาจกำหนดตามประเภท การใช้ และแหล่งที่มาของน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีฐานเงินเรียกเก็บได้ แต่การเรียกเก็บเงินตรงนี้จะไปขัดกับใครอย่างไรหรือไม่ ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะต้องตีความตรงนี้

อย่างไรก็ตาม ในการขอความร่วมมือก็จะต้องมีกฎหมายออกมารองรับ ซึ่งหากใช้กฎหมายของพ.ร.บ.กองทุนน้ำมัน ก็เพียงแค่ออกประกาศรับรองผ่านคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมัน (กบน.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน โดยไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ที่ต้องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้น หากใช้กฎหมายของกองทุนน้ำมันจะต้องดูให้รอบคอบ เพราะมีความผูกพันทางกฎหมาย ที่ทุกคนต้องเคลียร์

“ถ้ากฎหมายไม่เคลียร์ทุกคนก็ไม่กล้าทำ ภาวนาว่าพรุ่งนี้จะเคลียร์ในเรื่องกฎหมายให้ได้ กองทุนน้ำมันก็ต้องเร่งทำ จากหน้าที่เก็บเงินตอนนี้ช่วยอุ้มราคาพลังงานจนติดลบแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องสื่อสารถึงปัญหา ส่วนภาษีลาภลอย กระทรวงการคลังสามารถทำได้ ที่อาจจะมีเรื่องการลดหย่อนต่างๆ ที่มีรายละเอียด”

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์