'บัณฑิต-ศุภวุฒิ' ห่วงเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย ลามเศรษฐกิจไทยปีหน้าทรุด

'บัณฑิต-ศุภวุฒิ' ห่วงเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย ลามเศรษฐกิจไทยปีหน้าทรุด

เศรษฐกิจสหรัฐเตรียมเข้าภาวะ “ถดถอย” สศช.หวั่นกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก แนะเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ยืนบนขาตัวเอง “บัณฑิต” ชี้ สหรัฐ-จีน-ยุโรป อยู่ช่วงขาลง เสนอ 5 แนวทาง รับมือผลกระทบ “ศุภวุฒิ” ห่วงปีหน้าเศรษฐกิจไทยทรุดแนะประคับประคองตัว “พิพัฒน์” ห่วงกระทบส่งออกไทย

    เศรษฐกิจสหรัฐที่มีขนาดใหญ่อันดับ 1 ของโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งสร้างความกังวลให้กับรัฐบาลทั่วโลกในการเตรียมแผนรับมือ โดยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยสหรัฐหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2552 เกิดวิกฤติการเงินโลก (ซับไพร์ม) และล่าสุดปี 2566 ที่หลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถกถอย

       นายบัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล กล่าวว่า โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้นจาก 2 เหตุผล คือ 1.การขึ้นดอกเบี้ยแรงของสหรัฐที่ 0.75% และยังมีโอกาสขึ้นต่อเพื่อให้แรงพอในการคุมเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลทำให้วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นแรงขึ้น 2.จากการใช้จ่ายในประเทศทั้งการใช้จ่ายของภาคการคลังที่ลดลงหลังใช้งบไปมากจากโควิด-19

       ดังนั้น 2 ด้านนี้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสชะลอตัว และมีโอกาสเกิดภาวะถดถอยในระยะถัดไป จากผลของการปรับดอกเบี้ยที่ปรับตัวแรงและเร็ว และปัจจัยน้ำมันที่อยู่เหนือการควบคุมจากปัญหาสงคราม เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะความผันผวนจากความกังวลทั้งหุ้นตก ดอลลาร์แข็งค่า อีกทั้งระยะถัดไป อาจเจอเงินทุนไหลออกจากประเทศเกิดใหม่ รวมถึงไทย จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐที่ห่างกันมากขึ้น

      ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่เศรษฐกิจหรัฐที่มีโอกาสเกิดภาวะถดถอยใน 2 ปีข้างหน้า แต่ 2 ประเทศที่ไทยและทั่วโลกพึ่งพาก็น่าเป็นห่วง ทั้งเศรษฐกิจจีนเพิ่งออกจากโควิดทำให้เศรษฐกิจไม่แข็งแรงเหมือนอดีต ขณะที่ยุโรปน่าห่วงที่อาจเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากผลกระทบราคาน้ำมัน ดังนั้นดูแล้ว 3 ประเทศนี้ถือว่าเป็นขาลง ทำให้เอเชียเราก็คงไม่พ้นวิกฤติรอบนี้ เพราะเศรษฐกิจพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ

แนะ5ทางรอดประเทศไทย

    สำหรับไทยคงหลีกผลกระทบไม่ได้เพราะพึ่งการส่งออก ขณะที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ไม่มาก การใช้จ่ายในประเทศมีข้อจำกัดจากหนี้ครัวเรือนสูง ภาครัฐมีข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นผลกระทบต่อไทยคงหลีกเลี่ยงไม่ได้

    โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาน้ำมันทำให้มีแรงกดดันเงินเฟ้อมากขึ้น อีกทั้งระยะถัดไปไทยอาจเจอแรงกดดันจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยทำให้เกิดเงินทุนไหลออก

     ทั้งนี้อาจเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าได้ แต่มองว่าประเทศไทยมีจุดดี คือ มีความสามารถประคองตัวเองได้ภายใต้ภาระหนี้ต่างประเทศที่ไม่สูง ทุนสำรองระหว่างประเทศมีจำนวนมากทำให้ปกป้องตัวเองจากผลกระทบภายนอกได้

     โดยมี 5 ปัจจัย สำคัญ ที่จะเป็นตัวช่วย และลดผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ได้  

      1.การเร่งแก้ปัญหาเงินเฟ้อ โดยการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดการบิดเบือนการตั้งราคาสินค้า และการคาดการณ์ต่างๆ ให้ลดลง 

      2.ไทยต้องไม่ประมาทในการทำนโยบาย ทั้งนโยบายการเงินการคลัง ต้องทำให้เศรษฐกิจปรับตัว ซึ่งมองว่าอย่าไปพยายามฝืนกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อยู่เหนือการควบคุม โดยเฉพาะด้านราคา เพราะเรามีทรัพยากรที่จำกัดในด้านการคลัง

    “สิ่งที่ทำให้ไทยไปต่อได้ ลดผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก คือต้องทำให้เศรษฐกิจมีพื้นที่ในการปรับตัว ในการรับผลกระทบ อย่าไปสวนกระแสตลาด อย่าไปควบคุมราคา อย่าทำอะไรที่ทำให้เศรษฐกิจมีข้อจำกัดมากขึ้น โดยเฉพาะกลไกด้านราคา อย่าเข้าไปบิดเบือน ในการตั้งราคาหรือแทรกแซง ซึ่งเป็นนโนบายที่ไม่ควรมีตั้งแต่ต้น เพราะไม่งั้นเศรษฐกิจไทยจะลำบาก”

เสนอรัฐใช้งบอย่างระวัง

     3.ภาครัฐต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น หยุดสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น การนำเข้าสิ่งที่ยังไม่จำเป็น ต้องพยายามเปลี่ยนวิธีการใช้จ่าย และหันไปใช้จ่ายในจุดที่ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในประเทศมากขึ้น  

     4.ต้องผ่อนคลายกฏระเบียบของภาครัฐที่ไม่จำเป็น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจสามารถแข่งขัน และปรับตัวได้มากขึ้น 

      5.การทำให้เศรษฐกิจไทยมีสภาพคล่องเพียงที่จะช่วยให้เศรษฐกิจปรับตัว ลดผลกระทบ ลดปัญหาหนี้ในระบบ ทั้งภาคธุรกิจ ครัวเรือนให้ลดลง ขณะเดียวกัน ต้องดูแลเงินบาทให้สามารถปรับตัวตามกลไกตลาด และไม่ผันผวนมากจนเกินไปจนกระทบต่อภาคธุรกิจ

      ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวทัดทานผลกระทบได้ และหวังว่าผลกระทบครั้งนี้ จะเป็นผลกระทบระยะสั้น

ปีหน้าเศรษฐกิจไทยลำบาก

     นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญมองว่าโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยมีมากขึ้นในปีหน้า

      ดังนั้นเศรษฐกิจทั่วโลกจะผันผวนทั้งก่อนและหลังจากผลของเศรษฐกิจถดถอย โดยกระทบไทยแน่นอนเพราะหากเศรษฐกิจสหรัฐตกต่ำจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำด้วย เพราะพึ่งพาเครื่องยนต์เศรษฐกิจจากต่างประเทศ ดังนั้นอาจทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวแต่คงไม่ถดถอย ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวสู่ระดับก่อนโควิด-19

       สำหรับที่ห่วง คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2566 ที่อาจเจอความลำบากมากขึ้น เศรษฐกิจไทยอาจชะลอตัว ดังนั้นการคาดหวังว่าจะเห็นเศรษฐกิจไทยโต 4% เป็นไปได้ยาก ทำได้ครึ่งหนึ่งหรือ 2% ก็ถือว่าท้าทายมากเพราะปีหน้าความเสี่ยงมีมากขึ้น

     “การที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงกระทบไทยแน่นอน เพราะดอกเบี้ยที่สูงมาก มีผลทำให้เงินบาทอ่อนค่า หากเราขึ้นดอกเบี้ยไม่ทัน ยิ่งเจอเศรษฐกิจถดถอย กำลังซื้อทั่วโลกลดลง ยุโรปไม่ได้ดี จีนฟื้นกระท่อนกระแท่น ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ ทั่วโลกจะเจอความผันผวนทั้งก่อนและหลังเจอเศรษฐถดถอย ปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะลำบากกว่าที่คิด”

      ดังนั้นเศรษฐกิจไทยหลีกเลี่ยงที่จะเจอผลกระทบไม่ได้ สิ่งที่ทำได้ คือ ต้องพยายามประคับประคองตัวให้พ้นจากวิกฤตินี้ อย่าให้ตกงาน เพราะจะยิ่งลำบาก

ศก.สหรัฐมีโอกาสถดถอย60%

     นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า โอกาสที่สหรัฐจะเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีนักวิเคราะห์และตลาดคาดว่ามีโอกาสเป็นไปได้ 40-60%

     โดยตลาดคาดการณ์ว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 4% ในเวลาเพียง 1 ปีกว่า ดังนั้นการขยับดอกเบี้ยถือว่าเร็วมาก โดยส่งผลให้ปัจจุบัน เกิดภาวะ Inverted Yield Curve หรือผลตอบแทนระยะยาวลดลงต่ำกว่าระยะสั้น ตลาดหุ้นและ ตลาดคริปโตฯ ลดลง ต้นทุนการผ่อนบ้านเริ่มสูงขึ้นก้าวกระโดด ดีมานด์การกู้บ้านลดลง จากต้นทุนที่สูงขึ้น เหล่านี้สะท้อนว่าตลาดกังวลมากขึ้น

       สำหรับปัจจุบันต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่ง อัตราการว่างงานแทบไม่มีประเด็น แต่สิ่งที่คนห่วง คือการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วและแรงของเฟด เพื่อหยุดเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจและดีมานด์ลดความร้อนแรงลงทำให้ดีมาดน์ร่วง อัตราการว่างงานจะสูงขึ้น เศรษฐกิจจะค่อยๆขยายตัวช้าลง

ห่วงกระทบส่งออกไทย

    ด้านผลกระทบต่อไทยมีแน่นอน เพราะเศรษฐกิจสหรัฐถือว่าใหญ่สุดในโลก ที่เป็นตัวฉุดรั้งทำให้ดีมานด์โลกแผ่วไปด้วย โดยเฉพาะกระทบต่อการส่งออก ที่ถือเป็นเครื่องจักรหลักของไทย ให้ลดลงได้ในระยะข้างหน้า

      ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจไทย ถือว่าน่าจะเป็นประเทศเดียวในบรรดาประเทศใหญ่ๆที่เศรษฐกิจยังไม่กลับไปฟื้นตัวเหมือนระดับก่อนโควิด-19 หากเทียบกับทุกประเทศที่ฟื้นตัวไปก่อนระดับโควิดแล้ว ดังนั้นโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะถดถอยถือว่ามีไม่มาก

    “หากดูเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เรายังโตต่ำกว่าปี 2562 แปลว่าเรายังโตต่ำกว่าศักยภาพ ภาคครัวเรือนยังไม่ฟื้น ภายใต้ภาระหนี้ที่สูงขึ้น การชำระหนี้ยังแย่ รายได้เฉลี่ยของคนในประเทศยังน้อยกว่า 2 ปีก่อน”

     อย่างไรก็ตาม โอกาสรอดของเศรษฐกิจไทย เพื่อลดผลกระทบจากภายนอกประเทศ คือ การต้องเร่งเพิ่มความสามารถแข่งขัน โดยการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น

สศช.หวั่นกระทบทั่วโลก

    นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงในสหรัฐ และการที่ธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นเพื่อสู้กับเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจมาก

      และเกิดสิ่งที่เรียกว่าสถานการณ์ที่อัตราผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว (Inverted Yield Curve) ปีนี้แล้วถึง 2 ครั้ง โดยเมื่อติดตามการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจหลังจากที่เกิด Inverted Yield Curve ขึ้นมามีการวิเคราะห์ตรงกันว่าในสหรัฐจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยใน 1-2 ปีข้างหน้าได้

     ทั้งนี้ ตั้งแต่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของสหรัฐในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาสูงขึ้นถึง 8% สูงสุดรอบ 40 ปี ส่งผลให้เฟดเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 2 ปี นับตั้งแต่การปรับลงในเดือน มี.ค.2563 เป็นช่วง 0.25 -0.50 จากเดิมอยู่ในช่วง 0.00 -0.25% และปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายเดือน มิ.ย.ในระดับ 0.75% เพื่อลดแรงกดดันของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

     นอกจากนี้ ยังส่งสัญญาณที่จะเริ่มลดการถือครองพันธบัตร รัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนองในระยะต่อไปด้วย ซึ่งต้องจับตาว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจระยะต่อไป เนื่องจากการปรับดอกเบี้ยขึ้นสูงอาจเป็นข้อจำกัดต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ท่ามกลางแนวโน้มระดับราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

     “เศรษฐกิจของสหรัฐเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หากเกิดปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐก็จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกรวมทั้งเศรษฐกิจไทยได้ด้วยจึงต้องเฝ้าระวังเช่นกัน”

แนะสร้างโมเดลพึ่งตัวเอง

    ทั้งนี้การรับมือในเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ ซึ่งในทางปฏิบัติที่ไทยต้องเตรียมการในรูปแบบเดียวกับการรับมือวิกฤติและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นหลายเรื่องในปัจจุบันและอนาคต   

   โดยการพยายามสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศ ลดการพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกลงในส่วนที่เราสามารถพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศได้

     นอกจากนั้นระยะ 1-2 ปีนี้ ควรเร่งรัดดึงการลงทุนจากภายนอกตามแผนการสร้างซัพพายเชนในประเทศให้แข็งแรงก่อนที่จะเกิดปัญหาวิกฤติภายนอกที่กระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวม

    เช่น เรื่องของการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า การลงทุนสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการส่งเสริมการผลิตปุ๋ยในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าที่จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่จะกระทบต่อการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์จากภายนอกประเทศด้วย

“คลัง”เร่งเกาะติดผลกระทบ

     นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น​ ธนาคารกลางหลายประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มีแนวโน้มในการดำเนินนโยบายที่เข้มงวดมากขึ้น ตามทิศทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่กลับมาขยายตัว และเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวและอยู่ในระดับสูง

    ทั้งนี้ ระยะถัดไปตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ มีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อ เพื่อดูแลสถานการณ์เงินเฟ้อสหรัฐให้ลดลงมาอยู่ในเป้าหมาย 2% ซึ่งเป็นไปได้ว่าธนาคารกลางหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

      สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเป็นการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งพิจารณาตามความเหมาะสมของภาวะเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินและเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยที่ประชุม กนง.วันที่ 8 มิ.ย.2565 มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี

     ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะติดตามและประเมินผลกระทบใกล้ชิด และพร้อมที่เสนอมาตรการทางการคลังและการเงินที่เหมาะสม เพื่อดูแลเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องและทั่วถึงทุกภาคส่วน