รฟท.ให้ 'เซ็นทรัล หัวหิน' ต่อสัญญาก่อนเฟ้นรายใหม่ปี 66

รฟท.ให้ 'เซ็นทรัล หัวหิน' ต่อสัญญาก่อนเฟ้นรายใหม่ปี 66

โรงแรมรถไฟหัวหิน หรือ โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ รีสอร์ท แอนด์ วิลล่า หัวหิน บนเนื้อที่ 71.65 ไร่ เป็นอีกสัญลักษณ์ที่มีมายาวนานคู่ 'หัวหิน' แต่การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นเมื่อสัญญาระหว่างเอกชนผู้ดำเนินธุรกิจ กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำลังจะหมดลง

 

เอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ได้อนุมัติต่อสัญญาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์จำนวน 2 พื้นที่ ได้แก่ 1.สัญญาเช่าที่ดิน อาคาร และทรัพย์สินของโรงแรมรถไฟหัวหิน ที่สถานีหัวหิน กับบริษัท เซ็นทรัลหัวหินบีชรีสอร์ท จำกัด และ 2.สัญญาเช่าราย บริษัท ยูไนเต็ด โกลเบิล เอเยนซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่สถานีธนบุรี

สำหรับสัญญาเช่าโรงแรมรถไฟหัวหิน หรือปัจจุบัน คือ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ รีสอร์ท แอนด์ วิลล่า หัวหิน เป็นการต่อสัญญาเช่าในระยะ 1 ปี เนื่องจากก่อนหน้านี้บอร์ด ร.ฟ.ท.ได้อนุมัติต่อสัญญาไปแล้ว และมีกำหนดจะหมดอายุสัญญาในวันที่ 15 พ.ค.2565 ซึ่งปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีนโยบายให้ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท (SRTA) ดำเนินการศึกษารูปแบบพัฒนาที่ดินแปลงนี้ โดยจะเปิดประมูลใหม่ให้เอกชนร่วมยื่นข้อเสนอ

แต่ปัจจุบันการศึกษาดังกล่าวยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากต้องใช้เวลารวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ตอบแทนทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้นหากเปรียบเทียบการต่อสัญญาเช่ากับเอกชนรายเดิม กับการเปิดประมูลชั่วคราวในระยะเวลาสั้น 1 ปี พบว่าการต่อสัญญาเช่ากับรายเดิมมีความคุ้มค่ามากกว่า เพราะเอกชนสามารถบริหารจัดการต่อได้ทันที ประกอบกับ ร.ฟ.ท.ไม่ต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาสถานที่ ค่าน้ำค่าไฟ ตลอดจนค่าภาษีที่ดิน ในช่วงเวลาของการศึกษาจัดหาเอกชนร่วมลงทุนด้วย

ทั้งนี้ การต่อสัญญาเช่าดังกล่าว บอร์ด ร.ฟ.ท.อนุมัติให้ทำสัญญาเช่ากับ บริษัท เซ็นทรัลหัวหินบีชรีสอร์ท จำกัด เป็นระยะเวลา 1 ปี ระหว่าง เริ่ม 16 พ.ค.2565 - 15 พ.ค.2566 โดยระหว่างนี้เร่งรัดให้ SRTA ศึกษารูปแบบการพัฒนาที่ดินให้แล้วเสร็จ เพื่อเตรียมเปิดประมูลจัดหาเอกชนร่วมลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวภายหลังหมดสัญญาเช่า ในช่วงปี 2566

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีการกำหนดมาตรฐานลดค่าเช่าสำหรับกลุ่มธุรกิจโรงแรมในอัตรา 50% ซึ่งเป็นค่าเช่าต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 โดยปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลเสียค่าเช่าที่ดินโรงแรมรถไฟหัวหิน เฉลี่ยเดือนละ 9 ล้านบาท แต่หากเทียบกับการไม่ต่อสัญญาเช่า จะส่งผลให้ ร.ฟ.ท.ต้องแบกรับต้นทุนบริหารจัดการอาคารและสิ่งปลูกสร้างนี้จำนวนมาก และใน

ขั้นตอนของการศึกษารายละเอียดเปิดประมูลต้องใช้เวลา 6 เดือน – 1 ปี หากไม่ต่อสัญญาอาจทำให้ ร.ฟ.ท.เสียโอกาสในการหารายได้

นอกจากนี้ บอร์ด ร.ฟ.ท.ยังอนุมัติต่อสัญญาเช่าสถานีธนบุรี กับคู่สัญญารายเดิม เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่แปลงนี้ยังมีสีผังเมืองเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งกำหนดให้พัฒนาเฉพาะโครงการของภาครัฐ จึงยังไม่สามารถนำมาเปิดประมูลเชิงพาณิชย์ได้ ประกอบกับกระทรวงคมนาคมมี

นโยบายให้ ร.ฟ.ท.พัฒนาที่ดินนี้ให้สนับสนุนชุมชนโดยรอบ บอร์ด ร.ฟ.ท.จึงอนุมัติต่อสัญญากับรายเดิมแบบเพื่อรองรับตลาดการค้า สนับสนุนชุมชนและการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ การต่อสัญญาดังกล่าวมีเงื่อนไขให้ผู้รับสิทธิเช่า คือ บริษัท ยูไนเต็ด โกลเบิล เอเยนซี (ประเทศไทย) จำกัด ต้องลงทุนปรับปรุงพัฒนาตลาดแห่งนี้ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ประเมินวงเงิน 32 ล้านาบาท รวมทั้งต้องก่อสร้างอาคารที่จอดรถ โดยมีมูลค่าตามผลการศึกษาประเมินไว้ที่ 60 ล้านบาท และต้องเน้นย้ำเรื่องความสะอาด ตลอดระยะเวลาสัญญา 10 ปี เริ่มตั้งแต่ 20 ก.ค.2565 – 19 ก.ค.2575 โดยการต่อสัญญาตลาดสถานีธนบุรีนี้ ร.ฟ.ท.ประเมินว่าจะได้รับผลตอบแทนรวม 139 ล้านบาท โดยอัตราค่าเช่าปรับเพิ่ม 10% ทุก 3 ปี

 ขณะเดียวกัน ระหว่างนี้ ร.ฟ.ท.จะเร่งดำเนินการยื่นขอปรับผังสีย่านตลาดให้เป็นสีน้ำตาลหรือสีแดง ในช่วง 7 ปีนี้ให้แล้วเสร็จ เพื่อเตรียมแผนให้ SRTA นำพื้นที่ดังกล่าวไปพัฒนาในอนาคตเพื่อหารายได้เชิงพาณิชย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.มีผลการศึกษาพัฒนาพื้นที่บริเวณบ้านพักพนักงานย่านสถานีธนบุรีในโครงการผสมผสาน (มิกซ์ยูส) ที่มีทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า ศูนย์พักฟื้นและฟื้นฟูสุขภาพ รวมไปถึงบ้านพักสำหรับพนักงานการรถไฟ

การรถไฟฯเป็นหน่วยงานรัฐที่มีสินทรัพย์ที่มากที่สุดและดีที่สุดหลายแห่ง การบริหารจัดการเพื่อสร้างประโยชน์สูงสมกับมูลค่าสินทรัพย์เป็นอีกความท้าทายที่ หน่วยงานเจ้าของสมบัติชาติเหล่านี้ต้องจัดสรรแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อผลประโยชน์ที่ตกแก่ประเทศชาติด้วย