กนง.เปิด 3ปัจจัย ปูทางสู่การ “ขึ้นดอกเบี้ย”

กนง.เปิด 3ปัจจัย ปูทางสู่การ “ขึ้นดอกเบี้ย”

กนง.เสียงแตกมติ 4:3 “คง”ดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ส่งสัญญานชัดพร้อม“ขึ้นดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อ” หลังประเมินเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ลั่นหมดความจำเป็นต้องใช้มาตรการการเงินผ่อนคลายช่วย เปิดสมมุติฐานภัยเงินเฟ้อเพิ่มภาระให้ประชาชนมากกว่าขึ้นดอกเบี้ย 7-8 เท่า

      นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ครั้งที่ 3 ของปีนี้ เมื่อวานนี้(8 มิ.ย.)ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50 %ต่อปี

      โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากการเห็นสัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจชัดเจน และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อชัดเจนมากขึ้น ทำให้เพียงพอต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้

      สำหรับเงินเฟ้อ ที่ออกมาเดือนพ.ค. ที่ 7.1 % ถือว่าสูงกว่าที่กนง.คาดการณ์ไว้ และกนง. ประเมินว่า เงินเฟ้อทั่วไปจะสูงกว่ากรอบเป้าหมายตลอดทั้งปีนี้ และมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงค้างนานกว่าที่ประเมินไว้เดิม ซึ่งเชื่อว่าปัจจุบันเงินเฟ้อจะยังไม่ใช่จุดพีค ซึ่งจะเห็นจุดพีคได้ในไตรมาส 3 ปีนี้ แต่คงไม่ขึ้นไปถึงสองหลัก

ขยับกรอบเงินเฟ้อแตะ 6.2%

      ทั้งนี้จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและการส่งผ่านต้นทุนที่มาก ทำให้กนง.มีการปรับกรอบเงินเฟ้อปีนี้เพิ่มเป็น 6.2% จากเดิม 4.9% และปีหน้าเป็น 2.5% จาก 1.7% นอกจากนี้ยังมีการปรับเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น เป็น 2.2% จาก 2.0% ในปีนี้ และปีหน้าที่ 2.0% จาก 1.7% 

กนง.เปิด 3ปัจจัย ปูทางสู่การ “ขึ้นดอกเบี้ย”         นอกจากนี้กนง.ยังมีการปรับสมมุติฐานราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นในปีนี้ และปีหน้าราว 5-15 ดอลลาร์ต่อบาเรล เพื่อให้มั่นใจว่ากนง. มองความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่เข้ามาสู่เงินเฟ้อไปแล้ว เป็นผลทำให้ต้องปรับเงินเฟ้อเร็วขึ้นทั้งปีนี้ปีหน้า

     โดยปีนี้คาดการณ์น้ำมันดูไบมาอยู่ที่ 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จาก 100 ดอลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ปีหน้าเป็น 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จาก 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล                

        อย่างไรก็ตามที่มีเห็นร่วมกันของกนง.รอบนี้ คือการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนขึ้น ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมาก ในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า

ชั่งน้ำหนัก3มิติสู่การขึ้นดอกเบี้ย

    นายปิติ กล่าวว่า การปรับนโยบายการเงินในอนาคต ต้องมีการชั่งน้ำหนักจาก 3 มิติ หลักๆ ได้แก่ 1. การชั่งน้ำหนักระหว่างการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย กับการดูแลเงินเฟ้อ 

     ที่ผ่านมากนง. ให้ความสำคัญในการดูแลด้านการฟื้นตัวเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่เมื่อภาพของการฟื้นตัวเริ่มมีแล้ว และมีความชัดเจนมากขึ้น ก็อาจเห็นการผ่องถ่ายการดำเนินนโยบายการเงิน คงเป็นการถอนคันเร่ง เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจ ร้อนแรงในอนาคต และมาเสริมไฟให้กับเงินเฟ้อที่อาจจะมีในอนาคต เพราะสิ่งที่กนง.ไม่อยากเห็นคือ เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวร้อนแรงเกินไปในปีหน้า และเข้ามาซ้ำเติมปัญหาจากเงินเฟ้อ

     ดังนั้นจุดยืนของการดำเนินนโยบายการเงิน จึงต้องมีการปรับ เพื่อถอนคันเร่ง แต่ไม่ใช่การชะลอเศรษฐกิจ แต่เป็นการถอนคันเร่ง เพื่อไม่ให้ซ้ำเติม และไม่ให้เร่งเศรษฐกิจมากเกินไป หลักๆเพื่อดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้น และฝังเข้าไปในระบบ จนทำให้ต้องดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มข้นขึ้น โดยไม่จำเป็นในระยะยาว

รอเวลาเหมาะสมขึ้นดอกเบี้ย

    2.การดูไทม์มิ่ง หรือระยะเวลาที่เหมาะสม ว่าจะปรับนโยบายการเงินเมื่อไหร่ ซึ่งจากการประชุมครั้งนี้ มีมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น

     ซึ่งคณะกรรมการจะดูความชัดเจน และความต่อเนื่องของการฟื้นตัว การที่จะรอความชัดเจนก็เป็นมุมมองหนึ่งเพื่อให้มั่นใจว่าการขึ้นดอกเบี้ย จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

     “อีกมุม ไม่อยากขึ้นดอกเบี้ยช้าไป เพราะหากขึ้นช้าไป เศรษฐกิจอาจฟื้นเร็ว และไปเสริมไฟให้เงินเฟ้อปีหน้า อาจทำให้ต้องใช้ยาแรงในปีหน้า ซึ่งอาจมีผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยที่ไม่จำเป็น ดังนั้นก็ต้องมีการชั่งน้ำหนัก ในเรื่องของระยะเวลาที่เหมาะสม”

     มิติที่3 ดูจากผลเงินเฟ้อที่มีต่อผู้ประกอบการ ประชาชน เป็นอย่างไร ซึ่งมิติของการขึ้นดอกเบี้ยอาจเป็นการเพิ่มภาระด้านการเงินให้กับบางกลุ่มได้ แม้ปัจจุบันเสถียรภาพการเงินในระบบ สามารถรองรับการขึ้นดอกเบี้ยได้ แต่ก็มีความอ่อนไหวหรือความเปราะบางจากการขึ้นดอกเบี้ยบางกลุ่มได้ โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อยเป็นหลัก

     อย่างไรก็ตามหากเทียบเคียงภาระที่เกิดขึ้นกับครัวเรือน ระหว่างเงินเฟ้อ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ย พบว่า เงินเฟ้อเป็นปัจจัย ที่เพิ่มภาระให้มากกว่าค่อนข้างมาก หากเทียบกับการขึ้นดอกเบี้ย

ผลกระทบเงินเฟ้อมากกว่าขึ้นดอกเบี้ย

    จากการทำประมาณการณ์ บนสมมุติฐานของธปท. พบว่า เงินเฟ้อ ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบัน โดยรวมจะสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนประมาณ 850 บาทต่อเดือน หรือ 3.6% ของรายได้

     แต่หากขึ้นดอกเบี้ย 1 % ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจะอยู่ที่ เพียง 120 บาทต่อเดือน หรือ 0.5 % ของรายได้ ซึ่งต่างกันประมาณ 7-8 เท่า ดังนั้นตัวเลขนี้สำคัญ เพราะสิ่งที่กนง.เป็นห่วงมากที่สุด คือการที่เงินเฟ้อสูงขึ้น และยืนอยู่ในระดับที่สูง ยิ่งอยู่สูงนานเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายนานเท่านั้น

     หากขึ้นดอกเบี้ย แม้จะเพิ่มภาระขึ้นเล็กน้อย แต่ทำให้เงินเฟ้อ ในอนาคตกลับลงมา และทำให้เงินเฟ้อไม่อยู่นาน ก็เป็นสิ่งที่น่าจะคุ้มกับการดูแลภาระของประชาชน

      “ปัจจัยหลักเป็นเรื่องของการถอนคันเร่งเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวมากกว่า ในเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวไปแล้ว นโยบายการเงินที่อยู่นิ่งๆ จะยิ่งจะไปเสริมไฟให้เศรษฐกิจร้อนแรงมากขึ้น มากขึ้นกว่าระดับศักยภาพทำให้การจ้างงานเริ่มมีแรงกดดันไปสู่ราคาเงินเฟ้อ อันนี้เป็นสิ่งที่กนง.ไม่พึ่งประสงค์ จึงเป็นที่ต้องถอนคันเร่งเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจเสริมไฟเงินเฟ้อ”

      หากดูอัตราดอกเบี้ยโลก และดอกเบี้ยไทยในปัจจุบัน ถือว่าต่ำมาก หากเทียบกับอดีต ดังนั้นการที่เห็นต่างประเทศมีการขึ้นดอกเบี้ยขึ้นไป หรือมีการขึ้นดอกเบี้ย ถือว่าเป็นการขึ้นจากระดับต่ำมาก หากเทียบกับอดีต ดังนั้นยุคดอกเบี้ยต่ำมากๆยังไม่หมดไป

ปรับเพิ่มจีดีพีปี65เป็น 3.3%

     อย่างไรก็ตาม ล่าสุดคณะกรรมการกนง.มีการปรับเพิ่มประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็นขยายตัว 3.3% จากเดิมที่คาดการณ์ 3.2% จากเครื่องชี้ด้านการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีกว่าคาดมาก ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมถึงตลาดแรงานที่ปรับตัวดีขึ้น

    ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการเปิดประเทศตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เกิน 1 ล้านคน ดังนั้นคาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด ทำให้กนง.ปรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มเป็น 6 ล้านคน จาก เดิม 5.6 ล้านคน ซึ่งถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป

อาคม”ไม่ฟันธงดอกเบี้ยขาขึ้น

     นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่ามติกนง.ไม่เอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% จะเป็นการส่งสัญญาณในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเร็วขึ้นหรือไม่นั้น นายอาคม กล่าวว่า ยังคิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะยังต้องประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง

     “ยังคิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะต้องประเมินสถานการณ์ตลอดว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ภาคท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้นตามลำดับ ส่งออกยังขยายตัวได้ดี แต่การนำเข้าก็ได้รับผลกระทบจากค่าบาทอ่อน และราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น”

      ส่วนการไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะสามารถคุมเงินเฟ้อได้หรือไม่นั้น นายอาคม กล่าวว่า นอกจากรัฐบาลจะเข้าไปดูแลราคาน้ำมันแล้ว ก็จะเข้าไปดูแลราคาสินค้าให้เข้มงวดขึ้น ขณะที่ภาคเอกชนก็ต้องจัดการบริหารต้นทุน และอาจต้องยอมกำไรน้อยลงในช่วงนี้

      อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้พยายามตรึงราคาน้ำมันให้นานที่สุด ส่วนสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันขณะนี้นั้น ทางกระทรวงพลังงานจะต้องเป็นผู้พิจารณาว่าจะขอความช่วยเหลือใดจากรัฐ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ขอมา

      ส่วนจะต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันหลังสิ้นสุดมาตรการ วันที่ 20 ก.ค. 65 หรือไม่นั้นก็ต้องมาประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมัน และผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอีกครั้ง

 คาดประชุมรอบหน้าขึ้น 0.25%

     นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า กนง.มีการส่งสัญญาณชัดเจน ในด้านความพร้อมของขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า

    ซึ่งถือว่าทำถูกแล้ว เพื่อสร้างความชัดเจนให้กับตลาด ดังนั้นเชื่อว่าโอกาสที่จะเห็นกนง.ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าที่ 0.25% มีสูงมากขึ้น

     “วันนี้ผมยังเชื่อว่าว่าเรายังมีปัจจัยท้าทายอยู่มาก ทั้งผลของการขึ้นดอกเบี้ย หรือการไม่ขึ้นดอกเบี้ย ผลที่จะตามมา ที่เราจะต้องเจอความท้าทายตลอด ทั้งหากขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว แล้วเศรษฐกิจไม่ฟื้นอันนี้ก็ลำบาก และมีปัจจัยกระตุ้นให้กนง. อาจรีบปรับนโยบายเร็วขึ้น เช่นหากเงินเฟ้อเร่งขึ้น Demand pull บาทอ่อนค่าเร็ว”

ทีทีบีคาดสิ้นปีดอกเบี้ยแตะ 1.25%

    นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics)กล่าวว่า การส่งสัญญาณของกนง.รอบนี้ ชัดเจนว่ากนง.พร้อมขึ้นดอกเบี้ย ทั้งจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจฟื้นตัว 

     ดังนั้นโอกาสที่จะเห็นกนง.ขึ้นดอกเบี้ยได้ ในทั้ง 3 รอบประชุม ครั้งละ 0.25% เนื่องจากเชื่อว่าหากขึ้นดอกเบี้ยแล้ว อาจเห็นการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อดูแลเงินเฟ้อแต่ขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้อัตราดอกเบี้ยสิ้นปี อาจไปแตะระดับ 1-1.25% ได้

      “หากขึ้นดอกเบี้ย ก็จะเห็นต่อเนื่อง แต่จะค่อยๆขึ้นไม่ช็อคตลาด และคงไม่ขึ้นหนักถึงครั้งละ 0.50% เพื่อไม่ให้กระชากและกระทบตลาดจนเกินไป

     อย่างไรก็ตามด้านผลกระทบที่มีต่อประชาชนจากการขึ้นดอกเบี้ย หลักๆผลกระทบจะอยู่ที่ดอกเบี้ยลอยตัว เช่นสินเชื่อบ้าน ที่เลยระยะเวลากำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไปแล้ว ที่อาจเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ

      ซึ่งหากประมาณการณ์ต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นครั้งละ 0.25% หากกู้บ้านราคา 1 ล้านบาทระยะเวลาผ่อน 20 ปี ผ่อนต่อเดือน 2 หมื่นบาท การขึ้นดอกเบี้ย 0.25 % จะทำให้ผู้กู้บ้านมีภาระเพิ่มขึ้นทันทีต่อเดือน 1 พันบาท เช่นเดียวกับธุรกิจที่ใช้วงเงิน OD ที่มีการคิดดอกเบี้ยลอยตัว จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยเพิ่มมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

อีไอซีคาดทยอยขึ้นไตรมาส 3

     นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งสัญญาณของ กนง.ครั้งนี้ชัดเจน ทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ

      ซึ่งสะท้อนว่ากนง.ห่วงเงินเฟ้อมากขึ้น ดังนั้นอาจเห็นกนง.ทยอยปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ เพื่อลดปัญหาที่เกิดจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

     สำหรับ EIC ประเมินว่า กนง.จะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ในไตรมาส 3 ปีนี้ อย่างน้อย 1 ครั้งที่ 0.25 % และค่อยๆเพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยรอดูว่าเงินเฟ้อปรับลงหรือไม่ หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ก็อาจเห็นการขึ้นดอกเบี้ยได้ต่อเนื่อง ทำให้ดอกเบี้ยปลายปีน่าจะเห็นระดับ 0.75 % ได้