รฟม.เปิดชิงรถไฟฟ้าสีส้มวันแรก "บีทีเอส" ซื้อซองเตรียมลงสนาม

รฟม.เปิดชิงรถไฟฟ้าสีส้มวันแรก "บีทีเอส" ซื้อซองเตรียมลงสนาม

รฟม.เปิดขายซองรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 1.4 แสนล้าน วันแรก “บีทีเอส” เข้าซื้อเตรียมชิงโครงการรอบสอง กำหนดยื่นประมูล 27 ก.ค.นี้ ก่อนเปิดซองต่อทันที 1 ส.ค.2565

รายงานข่าวจาก กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ (27 พ.ค.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปิดขายซองเอกสารคัดเลือกเอกชน (RFP) ร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นวันแรก ขณะนี้พบว่ามีเอกชนเข้ามาซื้อซองเอกสารแล้ว อาทิ กลุ่มบีทีเอส โดย รฟม.จะเปิดขายซองจนถึงวันที่ 10 มิ.ย.2565 หลังจากนั้นมีกำหนดรับซองข้อเสนอในวันที่ 27 ก.ค.2565 ก่อนเปิดซองข้อเสนอในวันที่ 1 ส.ค.2565 เพื่อลงนามในสัญญาร่วมลงทุนภายในปลายปีนี้

สำหรับ การเปิดคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้ ถือเป็นการเปิดประมูลครั้งนี้ 2 หลังจากที่ คณะกรรมการ ม.36 ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 จากการปรับเกณฑ์คัดเลือกเอกชน เป็นเหตุให้มีเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะฉบับใหม่

โดย การประกวดราคาในครั้งแรกนั้น มีเอกชนเข้าซื้อซองเอกสารรวมจำนวน 10 ราย ประกอบด้วย

1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

3. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

4. บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

5. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)

6. บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

7. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

8. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

9. ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด

10. บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด

 เอกชนยื่นข้อเสนอจำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ประกอบด้วย

บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS

บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

2.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีวงเงินลงทุนรวม 145,265 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 14,621 ล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 40 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานโยธา 3,223 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานระบบรถไฟฟ้า 369 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 96,012 ล้านบาท และค่างานระบบและขบวนรถ 31,000 ล้านบาท โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร

 

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์