โลกเร่งแก้วิกฤติความมั่นคงอาหาร ปมราคาแพง-ซัพพลายหาย

โลกเร่งแก้วิกฤติความมั่นคงอาหาร ปมราคาแพง-ซัพพลายหาย

สถานการณ์ราคาอาหารแพง ทำให้การประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) หรือ MC12 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ช่วง 12-15 มิ.ย. 2565 ที่เจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ต้องนำมาหารือเพืื่อเร่งแก้วิกฤติความมั่นคงด้านอาหารที่นับวันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น

เอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการWTO ได้ย้ำว่า ผลประชุมระดับรัฐมนตรีWTO จะต้องสามารถดำเนินการในทางปฎิบัติได้จริง เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้กำลังเผชิญทั้งความขัดแย้งระหว่างประเทศ การแพร่ระบาดโควิด-19 และ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งนำไปสู่ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นรวมไปถึงการขาดแคลนอาหารที่เป็นปัจจัยผลักให้ประชากรโลกเข้าสู่ภาวะความยากจน 

 

โลกเร่งแก้วิกฤติความมั่นคงอาหาร ปมราคาแพง-ซัพพลายหาย

“เครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้คือบทบาททางการค้าต้องเข้ามาทำให้ช่องว่างการเข้าถึงอาหารนี้แคบลง เพราะพบว่ามีการนำเงื่อนไขทางการค้ามาเป็นตัวกีดกันการเข้าถึงอาหาร ทั้งการจำกัดการส่งออกอาหาร เมื่อราคาอาหารภายในประเทศมีราคาแพงซึ่งต้องแก้ไขให้มีการใช้มาตรการต่างๆอย่างโปร่งใส รวมถึงการซื้ออาหารเพื่อส่งมอบให้โครงการอาหารโลก (WFP) ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม”

สำหรับผลการประชุม MC12ควรเป็นข้อตกลงที่สามารถใช้ได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผ่านการปฎิรูปการค้าสินค้าเกษตร ที่ต้องการลดการอุดหนุนการค้า ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดตลาดเพื่อการค้าอาหารและการผลิตอาหาร ซึ่งสมาชิกต่างเรียกร้องให้สร้างระบบการเกษตรที่ยืดหยุ่นและช่วยให้ผู้เล่นในตลาดสามารถรับมือกับวิกฤติในอนาคตได้

      นอกจากนี้ มีข้อเสนอที่ต้องการให้WTOแทรแซงผ่านการประชุม MC12 ว่าด้วยเรื่องแก้ไขวิกฤติความมั่นคงอาหารทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง โดยสามาชิกหลายคนมองว่าผลกระทบในด้านลบจากวิกฤติยูเครนมีผลความมั่นคงด้านอาหารในระดับภูมิภาคและระดับโลก 

ส่วนข้อเสนอเรื่องการสร้างสต็อกอาหารร่วมเพื่อความมั่นคง หรือ  Public stockholding for food security purposes (PSH) ซึ่งต้องเป็นระบบที่โปร่งใสและคล่องตัวนั้น เป็นเรื่องที่ต้องไปหารือในที่ประชุมต่อไป 

ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีการวางแผนเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงอาหาร ทั้งระบบ ผ่านกลไกคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับด้านนโยบายอาหารของประเทศ โดยดำเนินงานผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านต่างๆ 4 ด้าน 

คือ1. ด้านความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่ 2. ด้านคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร 3. ด้านอาหารศึกษา คือการให้ความรู้ในการบริโภคอาหารอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการ และ 4. ด้านการบริหารจัดการ เช่น กฎหมาย โครงสร้างองค์กร และการบริหารงบประมาณ

ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบดูแลด้านการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นต้นทางของระบบการผลิตอาหาร ได้มีการวางแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหาร โดยให้ความสำคัญกับการจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันทั้งระบบ (BIG DATA) ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการวางแผนบริหารจัดการด้านอาหารได้อย่างถูกต้องและทันต่อสถานการณ์เพื่อสามารถบริหารจัดการการกระจายสินค้าอาหารไปสู่มือผู้ที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ฐานข้อมูลหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการสินค้าเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงอาหารทั้งในภาพรวมและระดับพื้นที่ และในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ ก็คือ ปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด (Provincial Crop Calendar)เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลตั้งต้นสำหรับการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลด้านอาหารทั้งระบบ 

ให้เป็นต้นแบบของการจัดระบบการบริหารจัดการข้อมูลด้านอาหารตลอดห่วงโซ่ เช่น การเชื่อมโยงฐานข้อมูลการแปรรูป การตรวจสอบย้อนกลับ คุณภาพและความปลอดภัย การกระจายสินค้า ความต้องการและระบบตลาด เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการได้ทั้งระบบทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤติ

นอกจากนี้ การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ กระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบกรอบการทำงาน ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอาหาร รวมถึงรับผิดชอบการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีความมั่นคงอาหาร จะมีการรับรองปฏิญญาความมั่นคงอาหารAPEC