“อาหารสัตว์แพง” ไทยเสี่ยง เข้าเงื่อนไขไร้ “ฟู้ดซิเคียวริตี้”

“อาหารสัตว์แพง” ไทยเสี่ยง เข้าเงื่อนไขไร้ “ฟู้ดซิเคียวริตี้”

อาหาร 1 ใน 4 ปัจจัยยังชีพที่สำคัญ กำลังเผชิญกับปัญหาราคา และปริมาณซัพพลายในตลาดลดลง ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร (food security)

 ธนาคารโลก,กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ,โครงการอาหารโลก (ดับเบิลยูเอฟพี) และองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ได้ตระหนักถึงปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหาร จึงออกแถลงการณ์เมื่อ 13 เม.ย.2565 ที่ผ่านมา เรียกร้องให้นานาชาติสร้างความร่วมมือเพื่อร่วมกันดูแลความมั่นคงทางอาหาร 

ข้อเรียกร้องดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อส่งต่ออาหาร และสนับสนุนทางการเงินต่อครัวเรือนหรือประเทศที่เผชิญกับปัญหาการกีดกันทางการค้า และการเข้าถึงอาหาร ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่เป้าหมายหลักว่าด้วยการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และโภชนาการที่ดีทั่วโลก 

“อาหารสัตว์แพง” ไทยเสี่ยง เข้าเงื่อนไขไร้ “ฟู้ดซิเคียวริตี้”

      แถลงการณ์ระบุว่า จากสถานการณ์โลกที่กำลังถูกท้าทายจากวิกฤติซ้ำวิกฤติทั้ง สงครามยูเครนซึ่งซ้ำเติมปัญหาโควิด-19 ที่เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว รวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ ครัวเรือนนับล้านทั่วโลกกำลังเข้าสู่ความยากจนซึ่งเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงทั้งต่อประเทศยากจนที่สุด และประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของโลก

"เวิลด์แบงก์ประเมินว่าทุกๆ 1% ของราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น จะทำให้คน 10 ล้านคนเผชิญ ความยากจนอย่างถึงที่สุดไปทั่วโลก

ซึ่งราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และนำไปสู่ราคาปุ๋ยเคมีที่เพิ่มขึ้น"

สำหรับปัญหาราคาปุ๋ยเคมีที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ผลผลิตด้านอาหารในหลายประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญเพราะประเทศผู้ผลิต และส่งออกสินค้าอาหารก็คือ ผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีรายใหญ่นั่นเอง

จากท่าทีองค์การระหว่างประเทศที่เริ่มเห็นสัญญาณการผลิตอาหารโลกที่มีแนวโน้มลดลงอันเนื่องมาจากปัญหาราคาพลังงาน ปุ๋ยเคมี และราคาสินค้าเกษตรต่างๆ ที่สูงขึ้น ไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตอาหารสำคัญของโลก กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเข้าเงื่อนไขความมั่นคงด้านอาหารเช่นกัน 

พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกรายการ ล่าสุดทางสมาคมได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ วันนี้(19 ม.ค. 2565) เสนอให้ยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% ยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วน และเปิดให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO, AFTA ยกเลิกโควตา ภาษี และค่าธรรมเนียม ในปริมาณขาดแคลน ในปี 2565 แต่ไม่ได้รับพิจารณา

 โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบาย และบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3.8 แสนตัน ซึ่งไม่เป็นธรรม และน้อยกว่าความต้องการใช้ที่ประมาณ 1.1 ล้านตัน อีกทั้งยังเหลือระยะเวลาการนำเข้าอีก 2 เดือนเท่านั้น

"ทางสมาคมได้ชี้แจงความจำเป็น และเหตุผลที่ต้องนำเข้าไปหมดแล้ว แต่ไม่ได้รับการพิจารณา แม้แต่การยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วน ที่ได้รับความเห็นชอบเบื้องต้นไปแล้ว แต่ยังไม่เป็นในทางปฏิบัติ ดังนั้น ทางสมาคมจึงไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการพิจารณาของกระทรวงพาณิชย์อีกแล้ว จะเรียกว่าถอดใจ หรือหมดใจแล้วก็ได้ "

หลังจากนี้ ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงสัตว์ ทุกรายต้องปรับตัวกันเอง ผู้บริโภคต้องยอมรับในราคาอาหารที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น โดยจากระยะเวลาที่สมาคมฯ แจ้งสถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์มาตั้งแต่ปลายปี 2564 ต้นปี2565 ก่อนสงครามรัสเซีย – ยูเครน จนถึงปัจจุบันต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับเพิ่มขึ้น 30% แล้ว ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากกิโลกรัมละ 10 บาท เพิ่มเป็น 13 บาท และไม่มีสินค้าด้วย

ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์มีหนังสือเชิญ ให้ร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายอาหาร ครั้งที่ 1/2565 (ครั้งที่ 80) และประชุม นบขพ.ครั้งที่ 2/2565 ที่มี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เมื่อในวันที่ 18 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา สมาคมฯ ก็ขอไม่เข้าร่วมการประชุมแต่ได้เตรียมข้อเสนอผ่อนคลายมาตรการรัฐเพื่อลดต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ไว้

สำหรับต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ในปี 2564 ปรับตัวสูงขึ้น 20- 25% และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าปศุสัตว์โดยตรง เนื่องจากอาหารสัตว์เป็นต้นทุน 60-70% ของการเลี้ยงสัตว์

ท่ามกลางปัจจัยท้าทายต่างๆ ต่อสถานะประเทศผู้ผลิต และส่งออก “อาหาร” ของไทยกำลังจะเป็นบทพิสูจน์ไปถึงผู้บริหารประเทศ ว่า ภายใต้สถานการณ์นี้หากไทยจัดการให้การผลิตสินค้าเกษตรเดินหน้าต่อไปได้ ประโยชน์ที่ได้รับคือ มีรายได้เข้าประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจอ่อนแรงนี้ แต่หากบริหารจัดการไม่ดี ไทยก็จะเข้าเงื่อนไขความสามารถการผลิตอาหารลดลงตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างไร้การจัดการนั่นเอง 

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์