"อรรถพล" เปิดแผน ปตท. 3P หนุนเป้าหมายไทย Net Zero

"อรรถพล" เปิดแผน ปตท. 3P หนุนเป้าหมายไทย Net Zero

"ปตท." เปิดแผน 3P ขอเป็นหนึ่งองค์กรร่วมนำพาประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero คาดในปีนี้ประกาศเป้า Net Zero ใหม่ ไวกว่าเป้าหมายประเทศ

การก้าวสู่ "Net Zero" ถือเป็นแนวทางหลักที่องค์กรใหญ่ระดับนานาชาติต่างทยอยประกาศเป้าหมาย เพื่อร่วมขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวเพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม

เช่นเดียวกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ล่าสุด นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมเวทีเสวนา "ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม" (Better Thailand Open Dialogue) หัวข้อ "สิ่งแวดล้อมยุคใหม่ เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ" ว่า การเดินหน้าในการลดคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อตอบโจทย์ประชากรทั่วโลกนั้น ปตท. ได้มีการจัดตั้ง G-Net (PTT Group Net Zero Task Force) ขึ้นมาตั้งแต่ที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบาย

สำหรับเป้าหมายของ ปตท. คือ จะทำให้เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ โดยภายในปีนี้ ปตท. จะประกาศเป้าหมายที่ชัดเจนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรลุเป้าหมายในครั้งนี้ ปตท. จึงได้ใช้กลยุทธ์ "3P" สู่ความสำเร็จ ได้แก่

1. Pursuit of Lower Emissions

สิ่งที่จะทำปีแรก คือ ลดการปลดปล่อยคาร์บอน และสร้างธุรกิจที่ช่วยพาไปสู่เป้าหมายโดยเร็ว โดยในขณะนี้ ปตท. เน้นการใช้พลังงานให้คุ้มค่ามากที่สุด รวมถึงใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน (CCS) ที่ปล่อยมาจากหน่วยผลิตกลับมาเก็บไว้ใต้ดิน โดยแหล่งที่ดีที่สุด คือแหล่งก๊าซธรรมชาติและแหล่งน้ำมัน เพื่อไม่ให้ของเสียออกมาทำลายโลก โดยเริ่มดำเนินงานไปแล้วที่แหล่งอาทิตย์ โดยจะเก็บได้ประมาณ 400,000 ตันต่อปี ซึ่งดูแลโดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. 

ทั้งนี้ เมื่อมองไปข้างหน้า ศักยภาพของแหล่งต่างๆ ในประเทศไทยสามารถเก็บได้ถึง 40 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะเป็นโปรเจกต์ที่ ปตท.สผ. ลงมาทำอย่างจริงจัง ส่วนการนำคาร์บอนที่เก็บไว้มาใช้ประโยชน์ (CCUS) ปตท. ยังมีโปรเจกต์ที่กำลังศึกษาอยู่หลายชิ้น โดยโปรเจกต์เหล่านี้จะช่วยเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจและดึงตัวคาร์บอนที่ปล่อยออกมาได้ประมาณ 3 แสนตันต่อปี นอกจากนี้ ยังได้นำพลังงานทดแทน (Renewable Energy) มาใช้ในหน่วยปฏิบัติการของ ปตท. อาทิ การติดตั้งพลังงานโซลาร์ ในสถานที่ตั้งอาคารและหน่วยงานต่างๆ 

\"อรรถพล\" เปิดแผน ปตท. 3P หนุนเป้าหมายไทย Net Zero

ไม่เพียงเท่านี้ นายอรรถพลยังได้เผยอีกว่า ปตท. ได้เริ่มซื้อขาย คาร์บอนเครดิต โดย ปตท. ทดลองเป็นผู้ซื้อก่อน และซื้อคาร์บอนมาชดเชยเรือที่ต้องเติมน้ำมันในรอบการขนส่ง ดังนั้น ดังนั้น การขนส่งน้ำมันในรอบดังกล่าวจึงถือว่าเป็น Green Shipment 

อีกทั้ง ยังได้ทดลองใช้ไฮโดรเจน เพราะเป็นพลังงานที่ไม่มีมลพิษ หากสำเร็จประเทศไทยจะมีสถานีบริการน้ำมันไฮโดรเจนแห่งแรกเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ที่พัทยา รวมถึงนำน้ำมันไฮโดรเจนมาผสมในเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซมลพิษได้ดี

2. Portfolio Transformation

สิ่งที่ ปตท. ตั้งมั่นไว้เสมอมา คือ การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ  และเมื่อสถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงไป ปตท. ก็พร้อมที่จะขยับตัว ปรับพอร์ตธุรกิจ เพื่อลดฟอสซิลลง และจะงดการทำธุรกิจถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2565 นี้ และจไม่ขยายโรงกลั่นน้ำมัน แต่จะพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การผลิตน้ำมันสู่มาตรฐานยูโร

ส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติยังถือเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยมลพิษน้อยที่สุด และเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทน โดย ปตท. ตั้งเป้าหมายที่จะลงทุนในพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยตั้งในปี 2573 จะมีพลังงานทดแทนเข้ามาในพอร์ตกว่า 12,000 เมกะวัตต์

3. Partnership with Nature and Society

ปตท. ไม่สามารถดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จได้ หากขาดความร่วมมือที่ดีจากหลายๆ ภาคส่วน หลายปีที่ผ่านมา ปตท. ได้ปลูกป่า 1 ล้านไร่ ที่สามารถดูดซับคาร์บอนได้ 2.1 ล้านตันต่อปี  และปล่อยออกซิเจนสู่บรรยากาศ 1.7 ล้านตันต่อปี ซึ่งสถิติเหล่านี้ ปตท. ไม่ได้จัดทำขึ้นเอง แต่มหาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้ยืนยันความสำเร็จดังกล่าว

\"อรรถพล\" เปิดแผน ปตท. 3P หนุนเป้าหมายไทย Net Zero

นอกจากนี้ มหาลัยเกษตรศาสตร์ยังได้ประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของป่า 1 ล้านไร่ พบว่ามีมูลค่าอยู่ที่ 280 ล้านบาท ซึ่งประโยชน์ไม่ได้แค่ก่อให้เกิดพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมอาชีพและความเป็นอยู่ของชุมชนโดยรอบอีกด้วย รวมทั้ง ปตท. ยังได้นำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ จังหวัดระยอง และศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง กรุงเทพฯ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการรักษาผืนป่าให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ 

"จากความสำเร็จเหล่านั้น แสดงให้เห็นเลยว่าการปลูกป่าช่วยสร้างประโยชน์มากมาย กลุ่ม ปตท. จึงมีแผนจะปลูกป่าเพิ่มอีก 2 ล้านไร่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถดูดซับคาร์บอนได้ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี" นายอรรถพล กล่าวย้ำ 

ปตท. ถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีความมุ่งมั่นดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมด้วยดีเสมอมา และด้วยเป้าหมายที่ท้าทายครั้งนี้เอง ยิ่งแสดงให้เห็นความตั้งใจจริงและการเสนอแนวทางที่ชัดเจน ที่จะทำให้พวกสามารถก้าวเดินไปสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ ไปจนถึง Net Zero ได้อย่างแน่นอน