“วัชระ”บุกสภาฯออกแถลงการณ์ค้านควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค”

“วัชระ”บุกสภาฯออกแถลงการณ์ค้านควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค”

“วัชระ”บุกสภาฯออกแถลงการณ์ค้านควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” ชี้เป็นการผูกขาดสร้างอิทธิพลเหนือตลาด-ประชาชนรับเคราะห์

 วันนี้ (19 พ.ค.65) เมื่อเวลา 11.30น. ที่อาคารรัฐสภา นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์ แถลงข่าวถึงพฤติการณ์ของ กสทช. ดังนี้
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2543 พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 และ ประกาศ กทช.เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ได้กำหนดมิให้มีการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งหากผู้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคม จะกระทำการส่อไปทางที่อาจจะเกิดการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขัน เช่น กรณีการควบรวมกิจการ จะต้องขออนุญาตจาก กสทช. และ วิธีการ เงื่อนไข หลักเกณฑ์การอนุญาตเป็นไปตาม ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561

2. “ทรู” กับ “ดีแทค” มีบริษัทลูกที่ประกอบกิจการโทรคมนาคมอยู่หลายบริษัท หากมีการควบรวมกิจการสำเร็จแล้วจะมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึงร้อยละ 54 ซึ่งถือว่าจะเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือตลาดเป็นอย่างยิ่ง และจะทำให้เหลือผู้ให้บริการหลักเพียง 2 ราย มีค่าดัชนีการกระจุกตัว (Herfindahl-Hirschman Index : HHI) ซึ่งใช้เป็นหลักการในการพิจารณาสภาพการแข่งขันนั้น เพิ่มขึ้นเป็น 4,776 จุด ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานที่อยู่ที่ 2,500 จุด และเพิ่มขึ้นจากเดิม 1,201 จุด ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ 100 จุด ถือว่าเป็นอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ชี้ให้เห็นว่ารวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้อง ตามประกาศ กสทช.2561 จึงเป็นพฤติการณ์หรือผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันที่จะกระทำไม่ได้
 

 3. ประกาศ กสทช.2561 ข้อ 9 กำหนดไว้ว่า การรายงานตามข้อ 5-8 ให้ถือเป็น ‘การขออนุญาต’ จาก กสทช. โดยเฉพาะตามข้อ 8 ของประกาศ กทช.2549 ซึ่งระหว่างการรายงานการรวมธุรกิจดังกล่าวเป็นเพียงการ “ขออนุญาต” จาก กสทช. แต่ยัง “ไม่ได้รับอนุญาต” จาก กสทช. ซึ่งการดำเนินการตามขั้นตอนรวมทางธุรกิจก่อนได้รับอนุญาตให้ควบรวมบริษัทตามกฎหมายและประกาศของ กสทช. นั้น หากการรวมทางธุรกิจถึงขั้นตอนที่ยากจะสั่งให้กลับคืนดังเดิมหรืออยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันได้ในภายหลังแล้ว ย่อมเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประชาชน และกรณีดังกล่าวจะอนุญาตไม่ได้เลย เนื่องจากจะส่งผลเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมขัดกับกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้อง 

ดังนั้น กสทช.จะต้องนำประกาศ กทช.2549 เกี่ยวกับมาตรการเฉพาะตามหมวด 4 ข้อ 16 ในการป้องกันหรือระงับกระทำการเมื่อปรากฏเหตุแจ้งชัดว่าจะเกิดการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมอย่างแน่นอนมาใช้บังคับทันที โดยต้องสั่งห้ามการดำเนินการแม้อยู่ในขั้นตอนการรวมธุรกิจก่อนได้รับอนุญาต มิใช่อ้างว่าไม่มีอำนาจ 
 

 นอกจากนี้แล้ว กสทช.ยังมีอำนาจในการนำประกาศ กทช.2549 หมวด 3 ว่าด้วยกระบวนการไต่สวน ข้อ.12 มาใช้คือเมื่อปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่าผู้รับใบอนุญาตรายใดกระทำการหรือมีพฤติกรรมอันส่อว่าจะเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคมตามข้อ.3 คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้สำนักงานดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเสนอคณะกรรมการ ซึ่งเรื่องนี้ได้มีผู้ทักท้วงให้ กสทช.ทั้งในชุดก่อนและชุดปัจจุบันได้ทราบมาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นหน้าที่โดยตรงที่ กสทช.จะต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในประกาศ กทช. 2549 ในหมวด 3 นี้ เพื่อป้องกันมิให้มีการละเมิดกฎหมายอันจะส่งผลให้เกิดความเสียหายและยากต่อการแก้ไขในอนาคต หากไม่รีบดำเนินการแล้วย่อมมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทผู้ประสงค์ที่จะควบรวมทางธุรกิจ 

4. บัดนี้ได้เห็นแล้วว่า กสทช.ทั้งชุดเดิมและชุดปัจจุบัน ไม่ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจดังกล่าว จึงได้ไปยื่นหนังสือกล่าวโทษต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมาเพื่อไต่สวนและวินิจฉัยต่อไป 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจบการแถลงข่าวแล้ว นายวัชระยังได้ถือโอกาสนี้นำร่มและถังน้ำไปมอบให้กับนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรใช้ป้องกันร่างกายไม่ให้เปียกน้ำ จากกรณีที่มักจะเกิดเหตุการณ์น้ำรั่วอยู่บ่อยครั้งในอาคารรัฐสภาจากการก่อสร้างอาคารมูลค่า 12,280 ล้านบาทที่ไม่ได้มาตรฐาน