Digital Twin กับโอกาส ภาคอุตสาหกรรมใน EEC

Digital  Twin กับโอกาส  ภาคอุตสาหกรรมใน EEC

Digital Twin เป็นเทคโนโลยีที่จำลองวัตถุหรือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพในโลกความเป็นจริงให้กลายเป็นวัตถุเสมือนอยู่บนโลกดิจิทัลหรือ Metaverse

วัตถุกายภาพและคู่แฝดดิจิทัลนี้จะสามารถทำงานประสานกันได้ด้วยระบบข้อมูลที่เชื่อมต่อและสื่อสารระหว่างกันแบบ real-time Markets and Markets Research ได้คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของ Digital Twin ทั่วโลกจะเติบโตไปถึง 4.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2026 จากเดิม 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020

ทั้งนี้ ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา องค์กรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลชั้นนำของโลกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น Amazon Web Service, IBM และ Google ต่างได้ทยอยเปิดตัวให้บริการ Digital Twin solutions เพื่อช่วยยกระดับกระบวนการผลิตและบริหารจัดการแก่ลูกค้าภาคอุตสาหกรรม และทำให้เทคโนโลยีดังกล่าวถูกใช้ในวงกว้างมากขึ้น

Digital Twin สามารถช่วยสนับสนุนการทำงานของภาคอุตสาหกรรมที่ใช้สินทรัพย์ทางกายภาพในการผลิตอย่างเข้มข้น (Asset-intensive industries) เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ สามารถใช้ Digital Twin ช่วยวางแผนและลดต้นทุนในกระบวนการผลิต ดังเช่น BMW ที่ประสบความสำเร็จในการลดระยะเวลาและต้นทุนของการผลิตรถยนต์ โดยการใช้แบบจำลอง Digital Twin ของโรงงานผลิตที่พัฒนาร่วมกับ NVIDIA ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Omniverse

ส่วนในอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ สามารถใช้ Digital Twin ช่วยอำนวยความสะดวกในการออกแบบอากาศยาน เช่น บริษัท Airbus ใช้ Digital Twin ช่วยทดสอบประสิทธิภาพและตรวจหาข้อผิดพลาด (error) ของเครื่องบินที่จำลองอยู่ใน Digital Twin ก่อนที่จะผลิตออกมาใช้งานจริง

นอกจากนี้ Digital Twin ยังช่วยลดต้นทุนการซ่อมบำรุงและดูแลรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต รวมถึงช่วยวิเคราะห์ข้อมูลสภาพแวดล้อมภายในอาคารแบบ real-time และนำไปสู่การปรับสภาพแวดล้อมของอาคารตามความต้องการของผู้ใช้และทำให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย Ernst & Young ได้ประมาณการว่า การใช้ Digital Twin จะช่วยลดต้นทุนการดูแลรักษาและบริหารจัดการอาคารได้ 35% และลดการปลดปล่อยคาร์บอนจากอาคารได้ถึง 50%

การใช้งาน Digital Twin ของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยยังมีจำกัด และส่วนใหญ่อยู่ขั้นเริ่มต้นพัฒนาแผนงานเพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้จริงในอนาคต ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC มีโอกาสอย่างมากในการใช้ Digital Twin เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถของกิจการ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ และเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เป็นต้น

ผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC อาจเริ่มเตรียมความพร้อมโดยศึกษาความเป็นไปได้ และประเมินความคุ้มค่าของการปรับใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ Digital Transformation ของกิจการ ซึ่งจำเป็นต้องบูรณาการระบบกับเทคโนโลยีอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทั้ง Internet of Things, Artificial Intelligence หรือ Cloud Computing

รวมถึงวางแผนพัฒนาองค์ความรู้บุคลากรขององค์กรให้พร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีในต่างประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนที่ Digital Twin จะเข้ามาพลิกโฉมภาคการผลิตของเราในวงกว้างในอนาคตอันใกล้

บทความโดย กิตติศักดิ์ กวีกิจมณี ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS