‘สภาพัฒน์’ จับ 3 สัญญาณ 'จีน' หวั่นกระทบ ‘เศรษฐกิจไทย’ ฟื้นตัวช้า

‘สภาพัฒน์’ จับ 3 สัญญาณ 'จีน' หวั่นกระทบ ‘เศรษฐกิจไทย’ ฟื้นตัวช้า

สศช.ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจจีนใกล้ชิด จับตา3 สัญญาณ กระทบเศรษฐกิจไทย ชี้จีนใช้นโยบาย Zero Covid เข้มข้นการล็อกดาวน์อาจกระทบฐานการผลิตบางสินค้าในไทย ชี้จีนมีสต็อกอาหารสูง เริ่มห้ามส่งออกสินค้าบางอย่าง คาดเตรียมรับมือวิกฤติ - ผลกระทบจากการคว่ำบาตร

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เรื่องเศรษฐกิจจีนเป็นเรื่องที่รัฐบาลติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับการติดตามเศรษฐกิจประเทศขนาดใหญ่ที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย ซึ่งนอกจากจีนก็มีสหรัฐฯ และเศรษฐกิจของยุโรปที่มีการติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่องโดยมอบหมายให้กับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ติดตามสถานการณ์นี้ 

โดยในส่วนของเศรษฐกิจ สศช.ได้มีการติดตามข้อมูลและสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่อจีนเริ่มมีการล็อกดาวน์ในเมืองต่างๆ และเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวได้เพียง 4.8% น้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดว่าจะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 5% ทั้งนี้จากการติดตามเศรษฐกิจจีนของ สศช.จากข้อมูลที่มีอยู่มี 3 สัญญาณที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงแล้วส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ได้แก่ 

1.นโยบาย Zero Covid ของจีนที่ยังมีความเข้มข้น มีการล็อกดาวน์เมืองขนาดใหญ่ในมณฑลต่างๆเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ซึ่งหากการล็อกดาวน์ขยายตัวออกไปในเมืองที่เป็นเมืองเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมที่สำคัญก็อาจจะส่งผลต่อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับซัพพายเชนในประเทศไทย เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ก็อาจกระทบกับภาคอุตสาหกรรมในไทยได้ 

2.ความเข้มงวดในการตรวจรับสินค้าเกษตรจากต่างประเทศโดยเฉพาะด่านทางบก ที่จะเข้าสู่ประเทศจีน ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลต่อการส่งออกผลไม้และสินค้าเกษตรของประเทศไทย เนื่องจากจีนเป็นตลาดสินค้าที่สำคัญในการส่งออกสินค้าเกษตร ซึ่งจะเห็นได้ว่าในกรณีของทุเรียนพอจีนนำเข้าน้อยราคาก็ตกลงทันที ซึ่งเรื่องนี้ สศช.ได้นำเสนอแนวคิดไปแล้วว่าจะต้องทำในเรื่องของมาตรฐานการส่งออกสินค้าจากต้นทางให้ได้มาตรฐานตามที่จีนจะให้การยอมรับ และในระดับรัฐบาลต้องมีการหารือกันให้ได้รับความชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับจีนในการนำเข้าสินค้าของไทย

 

 

3.จีนมีการดำเนินมาตรการเตรียมความพร้อมในเรื่องต่างๆ เพื่อให้อยู่ในประเทศแบบพึ่งพาภายในได้เป็นระยะเวลายาวนาน โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เช่น การเตรียมความพร้อมในเรื่องการสต็อกอาหารที่มีสต็อกเพียงพอสำหรับระยะเวลาที่มากกว่า 1 ปี และปัจจัยการผลิตต่างๆที่เริ่มมีการห้ามส่งออก เช่นปุ๋ย

ซึ่งการดำเนินนโยบายนี้คล้ายกับว่าจีนกำลังเตรียมรองรับวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้น หรืออาจมองถึงกรณีร้ายแรงที่จีนจะได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซีย สหรัฐฯและกลุ่มประเทศในยุโรป ซึ่งหากเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปถึงเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน