เศรษฐกิจจีนทรุดสะเทือนโลก 'แบงก์ชาติ-คลัง-สภาพัฒน์' จับตาผลกระทบไทย

เศรษฐกิจจีนทรุดสะเทือนโลก 'แบงก์ชาติ-คลัง-สภาพัฒน์' จับตาผลกระทบไทย

3 หน่วยงานเศรษฐกิจจับตาเศรษฐกิจจีนชะลอ ธปท.หวั่นกระทบส่งออก-ลงทุนอสังหาฯ ฉุดค่าบาทอ่อน สศค.ชี้ล็อคดาวน์รอบใหม่กดจีดีพีของจีนไม่ถึงเป้า 5.5% ด้าน สศช.ห่วง“ซีโร โควิด”กระทบทั่วโลก ฐานการผลิตอิเล็กฯไทยขาดวัตถุดิบ

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจีนที่เพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.2565 นำสู่การล็อกดาวน์หลายเมืองในจีน เช่น เมืองเซินเจิ้นที่เป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนสินค้าเทคโนโลยี โดยหลายฝ่ายกังวลนโยบาย Zero-COVID ของจีนที่ต้องล็อคดาวน์หลายเมืองจะกระทบเศรษฐกิจจีน และกระทบโกบอลซัพพลายเชน

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจจีนในขณะนี้สถานการณ์น่ากังวลและต้องติดตามใกลิชิด เพราะโควิด-19 ยังระบาดหนัก ขณะที่จีนยังใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ ทำให้จำเป็นต้องล็อกดาวน์ในบางเมือง

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า จีนประกาศตั้งเป้าจีดีพีไว้ที่ 5.5% แต่ตลาดกลับคาดการณ์ว่า จะขยายตัวได้แค่ 4% ต้นๆเท่านั้น ถือว่า จีดีพีลงมาเยอะมาก และตัวเลขจีดีพีที่ 4% ถ้าเทียบกับในยามปกติ ถือว่า ไม่ค่อยดี โดยปกติหากเศรษฐกิจจีนโตได้ตามศักยภาพจะอยู่ที่ประมาณ 5-6% ดังนั้นการโตได้แค่ 4% จะถือว่า โตได้ต่ำกว่าศักยภาพอยู่มาก

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวมองว่า จีนยังมีช่องว่างในการใช้นโยบายการเงินการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อยู่ โดยในส่วนนโยบายการคลังนั้น จีนได้ประกาศจะลุยลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการจับจ่ายใช้สอย อย่างไรก็ดี กรณีที่ตลาดคาดจีดีพีลดลงแรง เพราะเชื่อว่า ถ้าต้องล็อกดาวน์เมืองไปนาน เห็นว่า แม้จีนจะลงทุนก็จะยังคุมเศรษฐกิจไม่อยู่

เศรษฐกิจจีนชะลอกระทบส่งออก

นายดอน กล่าวว่า นโยบายการเงินนั้น ทางการจีนได้ลด Reserve requirement ซึ่งมีไม่กี่ประเทศที่ทำนโยบายสวนทางกับสหรัฐ รวมถึงญี่ปุ่นและไทย ซึ่งทำนโยบายแบบทวนๆน้ำ

“ถ้านโยบายของเขาทำให้เศรษฐกิจอยู่ได้ก็เป็นเรื่องดีกับเรา แต่คิดว่าคงเอาไม่อยู่ ไม่เช่นนั้นตลาดคงไม่มองว่าจีดีพีจะลงมาที่ 4%”

ทั้งนี้ กรณีเศรษฐกิจจีนที่อาจจะปรับลดลงจะมีผลต่อไทยใน 2 มิติ คือ

1.การส่งผลโดยตรงต่อการส่งออกของไทย เพราะตลาดจีนเป็นคู่ค้าโดยตรงอันดับ 2 ของไทย รองจากตลาดสหรัฐ ซึ่งขณะนี้การส่งออกของไทยไปจีนก็ไม่ค่อยดี และเมื่อเราดูสัญญาณการส่งออกจากเกาหลีใต้ไปจีน จะพบว่าเริ่มเห็นอาการชะลอตัวในเดือน เม.ย.แล้ว ซึ่งการส่งออกของเกาหลีใต้นั้น เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดการส่งออกของเอเชีย เพราะเกาหลีใต้เผยแพร่ตัวเลขออกมาเร็ว แต่ต้องตามดูตัวเลขส่งออกของไทยในเดือน เม.ย.นี้ เช่นกัน

2.การที่จีนทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจะส่งผลตรงไปยังค่าเงินหยวน ซึ่งตอนนี้จะเห็นว่าค่าเงินหยวนอ่อนลงทำให้ค่าเงินในภูมิภาคอ่อนตามไปด้วยรวมถึงไทย เพราะถือว่าค่าเงินหยวนเป็นค่าเงินที่นำในภูมิภาคนี้ ก็เป็นตัวกดดันให้เงินบาทเช่นกัน และจะเห็นว่าค่าเงินบาทในขณะนี้ปรับค่าอ่อนลง

คาดค่าเงินอ่อนถึง 36 บาท/ดอลลาร์

อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์จากตลาดเงินว่า ค่าเงินบาทจะอ่อนไปถึง 36 บาทต่อดอลลาร์ แต่เชื่อว่าค่าเงินบาทจะอ่อนไม่นาน เพราะการท่องเที่ยวจะกลับมา โดย ธปท.ประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยวปีนี้ที่ 5 ล้านคน และคิดว่าปลายปีนี้ ค่าเงินบาทอาจจะขยับแข็งค่าขึ้นได้ แต่ระยะสั้นแล้วคงอ่อนค่า

สำหรับเงินบาทที่อ่อนค่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจใน 2 ส่วน คือ 1.อัตราเงินเฟ้อ แต่การส่งผ่านจะไม่เยอะมาก ฉะนั้นการดูแลเงินเฟ้อของธปท.คงไม่เป็นไร 2.ราคาน้ำมันที่จะกระทบมาก โดยเมื่อนำเข้าน้ำมันและแปลงเป็นเงินบาทจะกระทบมาก ซึ่งตอนนี้ราคาน้ำมันเป็นปัญหา เมื่อบาทอ่อนค่าจะยิ่งซ้ำเติมราคาน้ำมันไปอีก

นอกจากนี้ ยังมองว่าเมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวอาจจะกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยไปด้วย เพราะจะทำให้กำลังซื้อจากนักลงทุนจีนและฮ่องกงในไทยลดลง

สศค.ชี้จีดีพีไม่ถึงเป้า5.5%

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงและเป็นวงกว้างของโควิดในประเทศจีนในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้รัฐบาลจีนมีการใช้มาตรการปิดเมืองในหลายพื้นที่เสี่ยง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดตามนโยบาย Zero-COVID ของจีน ซึ่งรวมถึงการปิดเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนค่อนข้างมาก และน่าจะทำให้เศรษฐกิจจีนไม่สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 5.5% ต่อปีในปี 2565

ทั้งนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก โดยผลกระทบหลักจะจำกัดอยู่ในด้านการส่งออกสินค้าไปจีนเป็นหลัก โดยเดือน มี.ค.2565 ไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าไปจีนขยายตัวเพียง 3.2% ต่อปี

สำหรับภาคการท่องเที่ยวไทยในปี 2565 คาดว่าจะไม่ได้พึ่งพานักท่องเที่ยวจีนมากนักไว้อยู่แล้ว และจะอาศัยนักท่องเที่ยวจากยุโรปและอาเซียนเป็นหลักในปีนี้ และยังคาดว่าจะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยจะยิ่งถขยายตัว ได้เพิ่มขึ้นหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น เริ่มในวันที่ 1 พ.ค.2565 นี้

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย จำนวน 6.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นมากจากปี 2564 ที่มีจำนวนเพียง 0.4 ล้านคน 

ดังนั้นในด้านการท่องเที่ยวประเมินว่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนมากนัก เนื่องจากได้คาดการณ์ไว้แล้วว่าจีนจะยังไม่เปิดประเทศมากนักในปีนี้ และหากจีนสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศได้และเริ่มเปิดประเทศในช่วงปลายปี 2565 หรือปี 2566 จะทำให้มีโอกาสที่การท่องเที่ยวของไทยจะเร่งฟื้นตัวได้อีกในปี 2566 ต่อไป

สศช.ชี้กระทบเศรษฐกิจโลก

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจจีนเป็นเรื่องที่รัฐบาลติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับการติดตามเศรษฐกิจประเทศขนาดใหญ่ที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย ซึ่งนอกจากจีนก็มีสหรัฐและเศรษฐกิจของยุโรปที่มีการติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่องโดยมอบหมายให้กับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ติดตามสถานการณ์นี้

ทั้งนี้ สศช.ได้มีการติดตามข้อมูลและสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่อจีนเริ่มมีการล็อกดาวน์ในเมืองต่างๆ และเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวได้เพียง 4.8% น้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดว่าจะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 5% ทั้งนี้จากการติดตามเศรษฐกิจจีนของ สศช.จากข้อมูลที่มีอยู่มี 3 สัญญาณที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงแล้วส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ได้แก่

1.นโยบาย Zero Covid ของจีนที่ยังมีความเข้มข้น มีการล็อกดาวน์เมืองขนาดใหญ่ในมณฑลต่างๆเพื่อควบคุมการระบาดโควิด-19 ซึ่งหากการล็อกดาวน์ขยายตัวออกไปในเมืองที่เป็นเมืองเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมที่สำคัญก็อาจจะส่งผลต่อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนในประเทศไทย เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ก็อาจกระทบกับภาคอุตสาหกรรมในไทยได้

2.ความเข้มงวดในการตรวจรับสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ โดยเฉพาะด่านทางบกที่จะเข้าสู่ประเทศจีน ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลต่อการส่งออกผลไม้และสินค้าเกษตรของไทย เนื่องจากจีนเป็นตลาดสินค้าที่สำคัญในการส่งออกสินค้าเกษตร ซึ่งจะเห็นได้ว่าในกรณีของทุเรียนพอจีนนำเข้าน้อยราคาก็ตกลงทันที 

สำหรับประเด็นนี้ สศช.ได้นำเสนอแนวคิดไปแล้วว่าจะต้องทำในเรื่องของมาตรฐานการส่งออกสินค้าจากต้นทางให้ได้มาตรฐานตามที่จีนจะให้การยอมรับ และในระดับรัฐบาลต้องมีการหารือกันให้ได้รับความชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับจีนในการนำเข้าสินค้าของไทย

ห่วงจีนใช้นโยบายพึ่งตัวเอง

3.จีนมีการดำเนินมาตรการเตรียมความพร้อมในเรื่องต่างๆ เพื่อให้อยู่ในประเทศแบบพึ่งพาภายในได้เป็นระยะเวลายาวนาน โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เช่น การเตรียมความพร้อมในเรื่องการสต็อกอาหารที่มีสต็อกเพียงพอสำหรับระยะเวลาที่มากกว่า 1 ปี และปัจจัยการผลิตต่างๆที่เริ่มมีการห้ามส่งออก เช่น ปุ๋ย 

สำหรับการดำเนินนโยบายนี้คล้ายกับว่าจีนกำลังเตรียมรองรับวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้น หรืออาจมองถึงกรณีร้ายแรงที่จีนจะได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซีย สหรัฐและกลุ่มประเทศในยุโรป ซึ่งหากเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปถึงเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน