พาณิชย์ ประเมินรัฐเลิกอุ้มดีเซล ดันเงินเฟ้อพุ่ง

พาณิชย์ ประเมินรัฐเลิกอุ้มดีเซล ดันเงินเฟ้อพุ่ง

สนค.คาดขึ้นราคาดีเซล-สิ้นสุดลดภาษีสรรพสามิต ดันเงินเฟ้อพุ่งทะยาน ดีเซลขึ้น 1 บาท เงินเฟ้อพุ่ง 0.23% ถ้าดีเซลขึ้น 5 บาท เงินเฟ้อเพิ่ม 0.67% เตรียมลดค่าครองชีพแล้ว เริ่มพ.ค.นี้เตรียมจัดมหกรรมธงฟ้าราคาประหยัด 4 มุมเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล แบบขั้นบันไดตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.65 และการสิ้นสุดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล วันที่ 20 พ.ค.65 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้วิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อของไทยเป็น 5 กรณี โดยหากราคาดีเซลปรับขึ้นลิตรละ 1 บาท มาอยู่ที่ลิตรละ 32.16 บาทในเดือนพ.ค.65 จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.23% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถ้าดีเซลเพิ่มขึ้นลิตรละ 2 บาทมาอยู่ที่ 33.16 บาท เงินเฟ้อจะสูงขึ้น 0.34% ถ้าดีเซลเพิ่มขึ้นลิตรละ 3 บาทมาอยู่ที่ 34.16 บาท เงินเฟ้อจะสูงขึ้น 0.45% ถ้าดีเซลเพิ่มขึ้นลิตรละ 4 บาทมาอยู่ที่ 35.16 บาท เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 0.56% และถ้าเพิ่มขึ้นลิตรละ 5 บาทมาอยู่ที่ 36.16 บาท เงินเฟ้อจะสูงขึ้น 0.67%  

ทั้งนี้ การขึ้นราคาดีเซล จะส่งผลกระทบทางอ้อมให้ต้นทุนการผลิต หรือวัตถุดิบสินค้าและบริการ ที่นำมาคำนวณเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ค่าโดยสารสาธารณะ ค่ากระแสไฟฟ้า รวมถึงยังทำให้ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคสูงขึ้นตามต้นทุน แต่ สนค.มองว่า ผลกระทบทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ จะน้อยกว่าผลกระทบจากทางตรง เพราะกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ มีมาตรการการดูแลค่าครองชีพประชาชนอยู่แล้ว  

 โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้จัดทำ โครงการ Mobile พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ และสินค้าเกษตรที่ราคาถูกว่าท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น ไข่ไก่ น้ำตาลทราย ข้าวสาร น้ำมันปาล์ม บะหมี่กึ่งสำาเร็จรูป แชมพู สบู่ เป็นต้น และล่าสุดเดือนพ.ค.นี้ ได้เพิ่มจำนวนรถเคลื่อนที่ (รถพุ่มพวง) เป็น 50 คันจากเดิม 25 คัน ตะเวนขายตามชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล และเพิ่มจุดจำหน่ายที่อยู่ในชุมชนต่างๆ เป็น 100 จุดจากเดิม 75 จุด อีกทั้งยังเตรียมจัดงานมหกรรมธงฟ้าราคาประหยัด 4 มุมเมือง เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชน  

นอกจากนี้ ยังคงใช้ นโยบายขอความร่วมมือผู้ผลิตสินค้า 18 กลุ่มที่จำเป็นต่อการครองชีพ ได้แก่ อาหารสด, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, อาหารกระป๋อง, ข้าวสารบรรจุถุง, ซอสปรุงรส, น้ำมันพืช, น้ำอัดลม, นมและผลิตภัณฑ์,เครื่องใช้ไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์ซักล้าง , ปุ๋ยเคมี, ยาฆ่าแมลง, อาหารสัตว์, ผลิตภัณฑ์จากเหล็ก, ปูนซีเมนต์, กระดาษ ยาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ และบริการผ่านห้างค้าปลีกค้าส่ง แต่หากผู้ประกอบการจะขอปรับขึ้นราคาขาย จะพิจารณาให้เป็นรายๆ และจะขอความร่วมมือให้ปรับขึ้นราคาน้อยที่สุด เพื่อให้ผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

 พร้อมกันนั้น  กระทรวงพาณิชย์ ได้กำกับดูแลราคาสินค้าให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม โดยการกำกับราคาจากโรงงานและราคาขายปลีกให้เกิดความสมดุลให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ และไม่ให้เป็นภาระกับผู้บริโภคมากจนเกินไป รวมถึงเฝ้าระวัง กำกับดูแลสินค้าและบริการ ให้มีปริมาณเพียงพอ พร้อมทั้งขอให้ผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง และจัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจ เพื่อติดตามราคาจำหน่ายปลีกให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค